PlantBasedMilk

เปิด 5 แบรนด์หลัก ‘Plant Based Milk’ ชิงมาร์เก็ตแชร์ปีนี้ 1.89 หมื่นล้าน

นมจากพืช’ (Plant based milk) เกิดมาจากการสกัดจากพืช เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโอ๊ต ข้าวโพด อัลมอนด์ หรือสกัดจากธัญพืชต่างๆ ฯลฯ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของคนที่แพ้น้ำตาลแลคโตส (Lactose intolerance) ที่เกิดจากการย่อยน้ำตาลในนมไม่ได้ เป็นอาการทางเดินอาหารหลังจากดื่มนมวัว หรือรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมวัว นอกจากนี้ผู้บริโภคก็เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น รวมถึงผู้ที่รับประทานมังสวิรัติแบบวีแกนก็มีทางเลือกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งนมจากพืชก็มีสารอาหารสำคัญ โดยคุณประโยชน์ก็ขึ้นอยู่กับคุณค่าทางสารอาหารของธัญพืชนั้น ๆ จึงทำให้นมจากพืชได้รับความนิยมมาก

ปัจจุบันสัดส่วนมูลค่าตลาดนมถั่วเหลืองอยู่ที่ 93.40% ส่วนนมจากพืชอื่น ๆ มีสัดส่วน 6.60% ซึ่งการที่นมถั่วเหลืองครองตลาดนมจากพืชเป็นส่วนใหญ่ นั่นเป็นเพราะว่า นมถั่วเหลืองถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคมีความคุ้นเคย และรู้จักมาอย่างยาวนาน ประกอบกับความนิยมบริโภคน้ำเต้าหู้ในทุกโอกาสของวัน ซึ่งน้ำเต้าหู้ก็มีกรรมวิธีผลิตภัณฑ์มาจากถั่วเหลืองเป็นหลัก จึงทำให้สามารถครองตลาดได้มากกว่า

สำหรับตลาดนมจากพืชในปัจจุบันนอกจากจะมีนมถั่วเหลือง นมโอ๊ต นมข้าวโพด นมอัลมอนด์ แล้วนั้น ยังมีการพัฒนาให้มีความซับซ้อนมากขึ้นเพื่อเพิ่มความน่าสนใจ และเพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่มากขึ้นให้กับผู้บริโภค อย่างเช่น นมพิสตาชิโอ มีคุณประโยชน์ช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอล ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ อีกทั้งอุดมไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัว ซึ่งมีประสิทธิภาพในการลดไขมันชนิดเลว ถือเป็นนมจากพืชที่ไม่ใช่ถั่วเหลืองที่ผู้บริโภคให้ความสนใจ

โดยจากกระแสตอบรับ และเทรนด์สุขภาพที่มาแรง รวมถึงผู้บริโภคในปัจจุบันมีการแพ้นมวัวมากขึ้น ส่งผลให้ในปี 2565 มูลค่าตลาดนมจากพืชอยู่ที่ 17,960 ล้านบาท โดยมีการบริโภคกว่า 372 ล้านลิตร ซึ่งจากผลการสำรวจผู้เล่นหลักวงการตลาดนมจากพืชในไทย พบว่า มีอยู่ 4 รายด้วยกัน คือ บริษัท แลคตาซอย จำกัด, บริษัท กรีนสปอต จำกัด, บริษัท แดรี่พลัส จำกัด, บริษัท โทฟุซัง จำกัด

สำหรับบริษัท แลคตาซอย จำกัด เป็นผู้ผลิตแบรนด์นมถั่วเหลืองตรา ‘แลคตาซอย’ ซึ่งการทำการตลาดของแบรนด์ที่ถือเป็นความสำเร็จ สร้าง Brand Awareness ให้แก่แบรนด์ก็คือ การทำโฆษณาแลคตาซอย 5 บาท 125 มิลลิลิตร โดยเป็นการใช้เพลงสื่อสารตลอด 17 ปี ปัจจุบันแลคตาซอยรสชาติออริจินัลกล่องสีฟ้าขนาด 300 มิลลิลิตร ยังถือเป็นเรือธง ซึ่งแลคตาซอย ถือครองส่วนแบ่งตลาดนมจากพืชเป็นอันดับ 1 ที่สัดส่วน 38.9%

บริษัท กรีนสปอต จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายแบรนด์ ‘ไวตามิลค์’ และ ‘วีซอย’ ซึ่งในปี พ.ศ. 2501 บริษัทฯ ได้ผลิตน้ำนมถั่วเหลืองไวตามิลค์บรรจุขวดออกจําหน่ายเป็นรายแรกของประเทศเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการเครื่องดื่มคุณภาพดีราคาประหยัดและสะดวกต่อการบริโภค ส่วนวีซอยบริษัทผลิตออกมาเพื่อเจาะกลุ่มผู้สูงวัย สำหรับไวตามิลค์ ครองส่วนแบ่งตลาด อันดับ 2 อยู่ที่ 25.3% ส่วนวีซอย ครองส่วนแบ่งที่สัดส่วน 3% ติดอันดับ 5 ของผู้เล่นหลักในไทย

บริษัท แดรี่พลัส จำกัด อยู่ในลุ่มบริษัท ดัชมิลล์ ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมที่ผลิตด้วยกรรมวิธียูเอชที โดยมีผลิตภัณฑ์โยเกิร์ตพร้อมดื่มดัชมิลล์ยูเอชที นมถั่วเหลืองดีน่า และเครื่องดื่มมอลต์สกัด รสช็อกโกแลต ดีมอลต์ ซึ่งนมถั่วเหลืองดีน่า มีการพัฒนาสูตร รสชาติใหม่ ๆ โดยมักอิงธัญพืชเป็นหลัก สำหรับสูตรยอดนิยมที่เหล่าผู้สูงวัยมักชื่นชอบก็คือ สูตรที่มีส่วนผสมของงาดำ ทั้งนี้ดีน่าถือครองส่วนแบ่งการตลาดอยู่อันดับที่ 3 มีสัดส่วน 18.5%

บริษัท โทฟุซัง จำกัด ผู้ผลิต และจัดจำหน่ายน้ำนมถั่วเหลืองผสมฟองเต้าหู้ เพื่อสุขภาพ ตราโทฟุซัง ปัจจุบันโทฟุซังมีผลิตภัณฑ์ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ น้ำเต้าหู้พาสเจอร์ไรส์ นมถั่วเหลืองออร์แกนิคพาสเจอร์ไรส์ นมถั่วเหลืองออร์แกนิคพาสเจอร์ไรส์แบบโปรตีนสูง และนมถั่วเหลืองออร์แกนิคยูเอชที สำหรับส่วนแบ่งการตลาดอยู่อันดับที่ 4 มีสัดส่วน 3.1%

แนวโน้มการเติบโตของตลาดนมจากพืชในไทยอีก 5 ปีข้างหน้า (2566-2570)

ปี 2566 คาดมูลค่าตลาดจะอยู่ที่ 18,946 ล้านบาท

ปี 2567 คาดมูลค่าตลาดจะอยู่ที่ 19,926 ล้านบาท

ปี 2568 คาดมูลค่าตลาดจะอยู่ที่ 20,629 ล้านบาท

ปี 2568 คาดมูลค่าตลาดจะอยู่ที่ 21,242 ล้านบาท

ปี 2570 คาดมูลค่าตลาดจะอยู่ที่ 21,852 ล้านบาท

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่ามูลค่าตลาดนมจากพืชมีแนวโน้มขยายตัวอีกมากในอนาคต จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา ซึ่งในตอนนี้เทรนด์สุขภาพกำลังเป็นกระแส และคาดว่าจะยังคงอยู่อีกนาน หลังจากผ่านพ้นช่วงสถานการณ์ COVID-19 มา ซึ่งการขยายตัวของตลาดนับเป็นโอกาสของผู้เล่นรายใหม่ที่มีความสนใจอยากเริ่มดำเนินธุรกิจนี้ด้วยสัดส่วนผู้เล่นที่เป็นแบรนด์อื่น ๆ ที่อาจไม่ได้มีชื่อเสียงมากนักครองส่วนแบ่งถึง 11.2%

.

ที่มา : เว็บไซต์บริษัท, FIC

.

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ

.

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.facebook.com/businessplusonline/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

.

#Businessplus #thebusinessplus #นิตยสารBusinessplus #นมจากพืช #นมถั่วเหลือง #แลคตาซอย #ไวตามิลค์ #วีซอย #นมถั่วเหลืองดีน่า #โทฟุซัง