สินค้าคุณภาพ เส้นทางความสำเร็จ ‘น้ำตาลสุรินทร์’ OR พันธมิตรผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ

แนวโน้มอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลฤดูหีบปี 2565/2566 ถูกคาดการณ์ว่าน่าจะอยู่ในทิศทางที่ดีต่อเนื่องจากปี 2564/2565 โดยหลังจากในปี 2020 อุตสาหกรรมนี้เจอช่วงเวลาที่ยากลำบากจากการที่ราคาน้ำตาลโลกตกต่ำ บวกเข้ากับผลผลิตที่น้อยลงจากสภาพอากาศที่ย่ำแย่ ทำให้ผลผลิตอ้อยในปี 2020 ลดลงมาเหลือเพียง 75 ล้านตัน จาก 130 ล้านตันในปี 2019

 

แต่ในช่วงปี 2021 ที่ผ่านมา จากการที่ประเทศบราซิลเผชิญหน้ากับภัยแล้งทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น เมื่อบวกเข้ากับราคาปุ๋ยและพลังงานที่ยังไม่ได้ปรับขึ้น ทำให้โรงงานผู้ผลิตน้ำตาลและเกษตรกรชาวไร่มีกำไรที่มากขึ้น ขณะที่ผลผลิตรวมในประเทศไทยปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 92 ล้านตันจากสภาพอากาศที่ดีช่วยเสริมทำให้ภาพรวมในปีนี้อยู่ในทิศทางที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทย

แน่นอนว่าผู้ผลิตน้ำตาลในประเทศอย่าง บริษัท น้ำตาลสุรินทร์ จำกัด ก็ได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากสถานการณ์นี้ไปด้วย โดยคุณยงยุทธ เสถียรถิระกุล ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำตาลสุรินทร์ จำกัด เผยว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันมีการประเมินกันว่าผลผลิตในปี 2023 น่าจะอยู่ราว ๆ 110 ล้านตัน และถ้าหากปัจจัยอื่นยังคงสนับสนุนต่อไปแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่อยู่ในจุดที่ดี พร้อมกับระบบประกันราคารับซื้ออ้อยที่ 1,200 บาทต่อตันอ้อย ที่จะเริ่มในฤดูกาลเพาะปลูกปี 2565/66-2567/68 เป็นระยะเวลา 3 ปี

รวมไปถึงการดึงเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริมในการผลิต อย่างการใช้รถตัดอ้อย ซึ่งเมื่อเทียบกับการใช้คนตัดแล้วราคาถือว่าถูกกว่าพอสมควร ทำให้ฤดูกาลที่กำลังจะมาถึงนี้น่าจะเป็นอีกหนึ่งปีที่ทั้งผู้ผลิตน้ำตาลและชาวไร่สามารถมีกำไรที่ดีอีกปีหนึ่ง

 

ส่วนปัจจัยที่น่ากังวลในปีหน้าก็คือเรื่องต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น ซึ่งจะไปผลักดันให้ค่าแรงขั้นต่ำของคนทำงานสูงขึ้น ตรงนี้จะกลายเป็นต้นทุนใหญ่ของผู้ผลิตน้ำตาลอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งคุณยงยุทธก็มองว่า ผู้ผลิตน้ำตาล หรือชาวไร่อ้อยก็หันมาใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้นเพื่อที่จะได้ควบคุมต้นทุนได้ รวมไปถึงการเตรียมแปลงสำหรับปลูกอ้อยก็ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะถ้าหากมีการเตรียมแปลงอ้อยที่ดี รถตัดก็จะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งตรงนี้ก็จะช่วยประหยัดต้นทุนได้อีก

ขณะที่ในเรื่องของการจัดการภายในโรงงานภายใต้สถานการณ์ COVID-19 คุณยงยุทธเผยว่า บริษัทไม่ค่อยได้รับผลกระทบสักเท่าไร เนื่องจากเกษตรกรไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกันเวลาทำงาน ปัจจุบัน บริษัท น้ำตาลสุรินทร์ จำกัด มีโรงงานอยู่ 2 แห่งคือ ที่แรกอยู่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 50,000 ตัน และที่ที่สองคือจังหวัดสุรินทร์ มีกำลังการผลิตแบบเต็มที่อยู่ที่ 27,000 ตัน

 

ด้านจุดเด่นของบริษัทก็คือ การควบคุมคุณภาพที่ดี ตัวอย่างเช่น การแก้ไขปัญหาน้ำตาลแข็งตัว บริษัทมีการลงทุนเพิ่มเติมในเรื่องนี้มากกว่า 200 ล้านบาท ซึ่งคุณยงยุทธบอกว่า “ตอนนั้นคนในบริษัทสงสัยว่าทำไปทำไม ทำแล้วจะได้เงินเพิ่มเหรอ แต่เราบอกว่าไม่ได้เงินเพิ่มหรอก สิ่งที่ได้คือกระแสเงินสดหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้น เพราะเมื่อน้ำตาลเราไปถึงปลายทางแล้วมันไม่แข็งตัวหรือเป็นก้อน คนใช้ติดใจเขาก็นึกถึงเราก่อน อยากจะสั่งของของเราอีก ตรงนี้ทำให้เรามีกระแสเงินสดหมุนเวียนที่สูงขึ้น”

ด้านคุณมั่นคง เสถียรถิระกุล ตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำตาลสุรินทร์ จำกัด ได้เพิ่มเติมว่า เนื่องจากบริษัทถือเป็นผู้เล่นในอุตสาหกรรมหนัก ในช่วงฤดูหีบ จะต้องเดินเครื่องจักรตลอด 24 ชั่วโมงติดต่อกันเป็นเวลาหลายเดือน ซึ่งแน่นอนว่าการหยุดชะงักจะทำให้เกิดการเสียเวลาและมีต้นทุนเพิ่มเติมขึ้นมาในทางธุรกิจ เพราะฉะนั้นการดูแลรักษาเราจำเป็นต้องทำให้ทุกจุดอยู่ในสภาพที่ดีที่สุด

 

โดยหนึ่งในเรื่องที่ต้องใส่ใจมากก็คือ ‘ผลิตภัณฑ์หล่อลื่น’ ที่ใช้กับเครื่องจักร เมื่อก่อนเราจะใช้ของต่างประเทศเป็นหลัก แต่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ทาง บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ ซึ่งเป็นพันธมิตรของเราได้นำผลิตภัณฑ์น้ำมันจาระบีใหม่จาก PTT Lubricants ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะเข้ามาเสนอให้ทาง บริษัท น้ำตาลสุรินทร์ จำกัด ทดลองใช้งาน

“บริษัทรู้สึกตื่นเต้นมากที่มีโอกาสได้ทดลองใช้งานผลิตภัณฑ์จาระบี Moly-plex SMR จาก PTT Lubricants ตัวนี้ รวมไปถึงเราอยากจะมีส่วนช่วยให้ผลิตภัณฑ์ตัวนี้ดียิ่งขึ้นไปอีก เราจึงตัดสินใจทำเป็นโครงการทดลองและพัฒนาร่วมกันขึ้นมา โดยหลังจากใช้งานมาตลอด 2 หีบ (หีบหนึ่งมีระยะเวลาประมาณ 4 เดือนต่อ 1 ปี)

 

ถือว่าผลิตภัณฑ์ตัวนี้ของทางโออาร์ ใช้งานได้ดีมากไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ต้องบอกว่าโดยภาพรวมถือว่าน่าพอใจมาก ขณะเดียวกันทางบริษัทก็ได้เข้าไปมีส่วนช่วยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวนี้ให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ผ่านคำแนะนำหลังจากได้ทดลองใช้ผลิตภัณฑ์” คุณมั่นคงกล่าว