ถอดความสำเร็จ Netflix กับ ‘วันพีช’ ฉบับคนแสดงที่ถูกยกว่าเป็น Live action ที่ดีที่สุดในโลก!

หลังจากที่ซีรีส์ One Piece ของ Netflix ฉบับคนแสดง (Live action) เข้าฉายใน Netflix ไปเมื่อวันที่ 31 ส.ค.2566 ก็เกิดเป็นเทรนด์อันดับ 1 ของ Netflix ไปเกือบ 60 ประเทศทั่วโลก (จากการให้บริการสตรีมมิงในกว่า 190 ประเทศ) หรือคิดเป็น 31% ของสรีมมิงทั่วโลก

ขณะที่คะแนนรีวิวจากนักวิจารย์หนังค่อนข้างสูง จนถือว่าเป็นการลบคำสบประมาทของหนัง หรือซีรีย์ที่ถูกดัดแปลงมาทำเป็นหนังฉบับคนแสดง (Live action ) ที่มักจะโดนวิจารณ์เละ ทั้งฝั่งคนดู และนักวิจารณ์ไปทันที โดยซีรีย์ฉบับคนแสดงนี้ กระแสดีถึงขั้นที่มี Youtuber รีวิวหนังและอนิเมะบางช่องถึงกับออกมาพูดว่า One Piece เป็นซีรีย์การ์ตูนคนแสดงดีที่สุดในโลกเท่าที่เคยดูมา

เพราะก่อนหน้านี้เราจะเห็นว่า Live action ที่เคยมีมาหลายเรื่องทำออกมาได้ไม่สมจริง และเนื้อหาที่ไม่สามารถทำให้คนดูอินได้มากเท่า Animation หรือมังงะ ยกตัวอย่างเช่น Dragon Ball Evolution หรือ Death Note ที่ทำออกมาแล้วได้คะแนนรีวิวไม่ดีนัก ซึ่งหลังจาก One Piece ฉบับคนแสดงได้ประกาศโครงการมาตั้งแต่ปี 2020 ก็มีกระแสไปในทางไม่คาดหวังกับ Live action มากนัก เพราะคาแรกเตอร์ตัวละครที่ออกไปทางแฟนตาซีมากๆ (ตัวเอกมีพลังพิเศษ และคาร์แรกเตอร์สุดประหลาดของแต่ละตัวละคร) ที่อาจทำออกมาไม่สมจริง หรือแม้กระทั่งบทที่มีความลึกด้านอารมณ์ ซึ่งหากทำออกมาเป็นซีรีย์หรือหนัง อาจจะไม่สามารถทำให้การสื่อสารทางอารมณ์นั้นดีเทียบเท่าอนิเมะ หรือมังงะ

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเปิดตัวนักแสดงออกมาในปี 2021 ก็ทำให้เกิดการตั้งตารอ และมีกระแสในทางที่ดีมากขึ้น เพราะตัวละครหลัก 5 คนนั้น ถอดแบบออกมาจากการ์ตูนแบบแทบจะเหมือนต้นฉบับเกือบ 100% เริ่มกันที่

Iñaki Godoy (อินากิ โกดอย) รับบท มังกี้ ดี ลูฟี่ สัญชาติเม็กซิกัน

ONEPIECE

Mackenyu รับบท โรโรโนอา โซโร สัญชาติญี่ปุ่น

ONEPIECE

Emily Rudd รับบท นามิ สัญชาติอเมริกัน

ONEPIECE

Taz Skylar รับบทเป็น ซันจิ สัญชาติอังกฤษ

Jacob Romero Gibson รับบทเป็น อุซป สัญชาติอเมริกัน เกิดที่จาไมกา

ONEPIECE

โดยภายหลังที่ประกาศรายชื่อออกมาก็ทำให้ฐานผู้ติดตามใน Instagram ของนักแสดงหลักเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดย Iñaki Godoy มีผู้ติดตามอยู่ที่ 837k  , Mackenyu อยู่ที่ 3.6M , Emily Rudd ผู้ติดตามอยู่ที่ 1.5M , Taz Skylar อยู่ที่ 435k , Jacob Romero Gibson ผู้ติดตาม 270k

ซึ่งนักแสดงที่คัดเลือกมานั้น มีคาแรกเตอร์ที่ตรงกับ Anime อย่างมาก เป็นเพราะทางอาจารย์ ‘เออิจิโระ โอดะ’ ผู้เขียนการ์ตูนเรื่องนี้เป็นผู้ร่วม Cast นักแสดงเอง และยังนั่งเป็น Executive Producer เองอีกด้วย

ประกอบกับแผนการโปรโมททาง Netflix และนักแสดงก็ทำอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ประกาศแผนจัดทำในปี 2020 ด้วยการสร้าง Content Marketing อย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงนักแสดงหลักก็โปรโมท และสร้างกระแสผ่าน Social Media ส่วนตัวอยู่เสมอ โดยเฉพาะ Iñaki Godoy ,Mackenyu และ Emily Rudd ที่ทั้ง 3 คนเป็นแฟนการ์ตูนอยู่แล้ว จึงอินกับบทบาทอย่างมาก และคอยสร้างกระแสอยู่เสมอตั้งแต่ปี 2021 มาจนถึงวันฉายจริง

นอกจากคาร์แรกเตอร์นักแสดงที่ตรงกับต้นฉบับแล้ว การ์ตูน One Piece มีฐานแฟนคลับจำนวนมากทั่วโลก และขึ้นชื่อว่าเป็นมังงะที่มียอดขายอันดับ 1 ในญี่ปุ่นหลายปีซ้อน อีกทั้งยังเป็นมังงะที่มีฐานแฟนคลับทั่วโลกครบทุกวัย ตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่น ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่อายุ 45 ปีขึ้นไป ส่วนหนึ่งเพราะการ์ตูนเรื่องนี้มีมาอย่างยาวนาน หากนับตั้งแต่วันตีพิมพ์ครั้งแรกตอนนี้ One Piece มีอายุ 26 ปี นับตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม ปี 2540 ซึ่ง One Piece ตีพิมพ์ตอน ‘Romance Dawn รุ่งอรุณแห่งการผจญภัย’ เป็นตอนแรกในนิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ Shonen Jump โดยปัจจุบัน (ปี 2566) ทาง Animation ในญี่ปุ่นอยู่ที่ราวๆ 1,060 ตอน ส่วนไทยอยู่ที่ราวๆ 1,057 ตอน กำกับโดยโคโนสุเกะ อุดะ จากสตูดิโอโทเอแอนิเมชัน

จากการที่ One Piece มีฐานแฟนคลับจำนวนมากอยู่แล้วจึงทำให้ที่ผ่านมา ลิขสิทธิ์ One Piece ถูกนำมา Collaboration ร่วมกับแบรนด์ดังๆ หลายๆเจ้า ทั้งแบรนด์เสื้อผ้าอย่าง Uniqlo หรือ Canival หรือแม้กระทั่งสนีกเกอร์อย่าง Skechers ก็ซื้อลิขสิทธิ์ทำเป็นสินค้าให้แฟนๆ ได้เลือกเก็บกัน โดยส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่ทำออกมาแบบจำนวนจำกัด (Limited) และ Sold Out อย่างรวดเร็ว

นอกจากจุดแข็งอย่าง คาร์แรกเตอร์นักแสดงที่สมบทบาท การโปรโมทของทีมงานนักแสดง และ Netflix อย่างต่อเนื่อง รวมถึงฐานแฟนการ์ตูนที่หนาแน่นแล้ว มีอีกหลายข้อที่ ‘Business+’ วิเคราะห์ความสำเร็จของ One Piece ฉบับคนแสดงจาก Netflix ได้ดังนี้

OnePiece

7 จุดแข็งของ One Piece จาก Netflix ที่ทำให้ประสบความสำเร็จ

1.ลดฉากยืดยาวของ Animation ลง

2.ปรับเนื้อหาให้มีความแตกต่างเล็กน้อยเพื่อให้เหมาะกับเวลาที่กระชับขึ้น แต่ไม่ทิ้งพลอตเนื้อหาเดิม

3.คัดเลือกนักแสดงที่เหมาะกับบท และเป็นแฟน One Piece ทำให้อินกับบทบาท

4.นักเขียนการ์ตูนเป็นผู้ตัดสินใจเลือกตัวละครเอง และนั่งเป็น Executive Producer

5.คาแรกเตอร์ตัวละครสมจริง แต่เคารพต้นฉบับเดิม

6.นักแสดงสร้าง Engaged กับแฟนๆ ผ่าน Social Media ส่วนตัวอยู่เสมอตั้งแต่ประกาศผลแคสในปี 2021

7.ใช้ทุนสร้างมหาศาล

ข้อที่น่าสนใจที่สุดในมุมธุรกิจ คือ การทุ่มทุนสร้างของ Netflix ที่เรียกได้ว่า เทหน้าตัดกันเลยทีเดียว โดยการสร้าง One Piece ฉบับคนแสดงนั้น ใช้งบประมาณสูงมากถึง 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 633 ล้านบาทต่อหนึ่งตอน หากนึกไม่ออกว่ามันสูงขนาดไหน ลองนำมาเปรียบเทียบกับซีรีย์มหากาพย์ที่ขึ้นชื่อว่า ทุนสร้างสูงกว่าหนังอย่าง Game of Thrones ซึ่งมีทุนสร้างอยู่ที่ 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตอน ดังนั้น หากรวมๆ ทุกตอนแล้วงบประมาณของ One Piece ฉบับคนแสดง อาจสูงถึงเกือบๆ 5,000 ล้านบาทเลยทีเดียว (Season 1 มีทั้งหมด 8 Episode) ซึ่งทำให้ One Piece กลายเป็นซีรีส์ที่ใช้งบสร้างสูงที่สุดของ Netflix และด้วยงบสร้างมหาศาลนี้ทำให้ One Piece ฉบับคนแสดง มีความสมจริง ทั้งฉากการต่อสู้ และฉาก Animation อย่างจ้าวทะเล สัตว์ประหลาดที่ดูน่ากลัว และสมจริงเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ ยังเดินเนื้อเรื่องอย่างรวดเร็ว และแก้จุดอ่อนเรื่องความยืดยาว เยิ่นเย้อของฉากต่อสู้ และฉากย้อนอดีตของอนิเมะได้เป็นอย่างดี แต่ยังคงพลอตเดิมเอาไว้ ทำให้ One Piece ฉบับคนแสดงเป็นซีรีย์ที่แม้คนไม่เคยอ่านการ์ตูนหรือดูอนิเมะก็สามารถเข้าใจเนื้อหาทั้งหมดตามการ์ตูนได้

ทีนี้มาดูคะแนนการรีวิวกันบ้าง ในฝั่งของประเทศต้นกำเนิดวันพีชอย่างญี่ปุ่นจากเว็บไซต์ Filmarks (เว็บไซต์ญี่ปุ่นรวบรวมรีวิว) ได้คะแนนอยู่ที่ 3.9/5 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ดี เทียบกับสื่อดัดแปลงจากอนิเมะอื่น ๆ เช่น Dragon Ball Evolution ที่คะแนนต่ำเพียง 1.6/5 ขณะที่คะแนนจากมะเขือเน่า (Rotten Tomatoes) ก็ค่อนข้างสูง โดยฝั่งผู้ชมทั่วไป (Audience Score) 94%และฝั่งนักวิจารณ์ (33 คน) 82% ซึ่งคะแนนที่ออกมาอย่างชัดเจน ประกอบกับเสียงวิจารณ์จากแฟนเพจรีวิวหนังทั่วโลกแล้วนั้น ถือว่า One Piece ฉบับคนแสดงถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากเรื่องหนึ่งสำหรับประเภท Live action

และแน่นอนว่าในโลกธุรกิจแล้ว ยิ่งซีรีย์ One Piece ประสบความสำเร็จมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้ผู้ผลิตอย่าง Netflix สามารถโกยรายได้อย่างมหาศาลเช่นกัน เพราะนอกจากจะทำให้ลูกค้าเดิมของ Netflix เกิด Brand loyalty แล้ว ยังสามารถดึงฐานผู้อ่านการ์ตูนที่ยังไม่เคยสมัคร ID ของ Netflix เข้ามาอีกจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งรายได้หลักๆ ของ Netflix มาจากค่าสมาชิกรายเดือน และรายปี (สมัครโดยตรง) และผ่านตัวแทนจำหน่าย รวมถึงกล่องสัญญาณที่เป็นพันธมิตรนั่นเอง

ซึ่งการสร้างซีรีย์ที่ดีนั้น ดึงดูดผู้สมัคร ID ใหม่ๆ ได้เสมอ ผนวกกับกลยุทธ์ของ Netflix ในช่วงก่อนหน้านี้ที่ได้ออกกฏห้ามแชร์รหัส แต่ะจะคิดเป็นบริการเสริม 99 บาท/คน/เดือนก็จะยิ่งทำให้ Netflix มีรายได้ที่สูงขึ้น โดยเราสำรวจรายได้ของ Netflix พบว่า ปี 2564 มีรายได้รวมที่ราว 61 ล้านบาท กำไรอยู่ที่ 2.70 ล้านบาท และปีปี 2565 รายได้รวมอยู่ที่ 630.38 ล้านบาท กำไรสุทธิอยู่ที่ 34.18 ล้านบาท โดยที่การเติบโตของบริษัทแห่งนี้เกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากความพยายามนำลิขสิทธิ์หนัง และอนิเมชั่นต่างๆ มาฉาย ประกอบกับสร้างซีรีย์และหนังเป็นของตัวเอง ซึ่งทำให้ภายใน 1 ปี รายได้เพิ่มขึ้นไปเกิน 1,000% และยังครองแชมป์แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่มีสมาชิกมากที่สุดเมื่อเทียบกับคู่แข่งอื่น อย่าง Amazon Prime Vide / Disney+ Hotstar / HBO Go

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ที่มา : Netflix , TrueID
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS