OPEC

ทำไมราคาน้ำมันโลกถึงมีแนวโน้มลดลง? แม้ OPEC หั่นกำลังการผลิต-เศรษฐกิจจีนฟื้น

ช่วงต้นเดือนเมษายน ที่ผ่านมาทาง กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และพันธมิตร หรือที่เรียกกันว่า ‘โอเปกพลัส’ (รวมรัสเซีย) ได้ออกมาประกาศปรับลดการผลิตน้ำมันลงเพิ่มอีก 1.16 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งหากรวมกับที่เคยประกาศลดการผลิตมาก่อนหน้านี้ จะเท่ากับว่า ปริมาณการปรับลดการผลิตน้ำมันโดยรวมของโอเปกพลัสอยู่ที่ 3.66 ล้านบาร์เรล/วัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 3.7% ของความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลก

ซึ่งการหั่นกำลังการผลิตนี้ได้ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ตามกลไกของอุปสงค์และอุปทาน โดยราคาน้ำมันพุ่งไปถึง 5 ดอลล์ลาร์/บาร์เรลในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา และยังส่งผลดีต่อราคาหุ้นกลุ่มพลังงานของประเทศไทยปรับตัวขึ้นแรงอีกด้วย

อย่างไรก็ตามดูเหมือนรอบขาขึ้นของราคาน้ำมันก็ถูกสกัดเอาไว้แม้จะยังไม่ได้เริ่มหั่นกำลังการผลิตจริงเสียด้วยซ้ำ (เริ่มพ.ค.ถึงสิ้นปี 2566) สาเหตุเป็นเพราะตลาดกังวลการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอย และจะมีผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลก โดยที่ทาง FedWatch Tool ซึ่งมีหน้าที่วิเคราะห์การซื้อขายสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของสหรัฐ ระบุว่า นักลงทุนส่วนใหญ่ได้ให้น้ำหนักว่า Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 2-3 พ.ค. และมีนักลงทุนที่ให้น้ำหนัก ที่จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.75-5.00% เพียง 11.9% เท่านั้น

และความกังวลเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนี้ได้ส่งผลให้ สัญญาน้ำมันดิบเมื่อต้นสัปดาห์ยังลดลง ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของ ธนาคารโลก ที่ได้คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันจะปรับลดลงในช่วงปี 2566-2567 ถึงแม้ว่าวันนี้สัญญาน้ำมันดิบจะปรับตัวขึ้นขานรับ GDP จีนที่ฟื้นตัวในไตรมาส 1 แต่ก็เป็นการปรับขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยสัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 3 เซนต์ หรือ 0.04% ปิดที่ 80.86 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 1 เซนต์ หรือ 0.01% ปิดที่ 84.77 ดอลลาร์/บาร์เรล

ซึ่งสาเหตุที่ทำให้สัญญาน้ำมันดิบขยับขึ้นเพียงเล็กน้อย เกิดจากความกังวลของนักลงทุนในเรื่องของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังถูกกดดันจากการที่รัฐบาลอิรักใกล้บรรลุข้อตกลงกับกองกำลังชาวเคิร์ดในการส่งออกน้ำมันจากท่าเรือของตุรกี หลังจากที่ถูกระงับในเดือนที่แล้ว

ทีนี้มาดูความคิดเห็นของหน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ.ไทยออยล์ ที่ได้ระบุถึง 3 ปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับราคาน้ำมันดังนี้

-ราคาน้ำมันดิบเบรนท์และเวสต์เท็กซัสปรับลด หลังนักลงทุนส่วนใหญ่ คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือน พ.ค. จากการเปิดเผยรายงานการประชุมของเฟดและตัวเลขเงินเฟ้อเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงเผชิญภาวะถดถอย และกดดันความต้องการใช้น้ำมัน

– ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้สัญญาน้ำมันดิบที่ซื้อขายกันในเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ มีราคาแพงขึ้น และน่าสนใจลดลงสำหรับนักลงทุนที่ถือเงินสกุลอื่น

– นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนมีโอกาสการขยายตัวถึง 4.0% ในไตรมาส 1/2566 เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าระดับ 2.9% ของไตรมาส 4/2565โดยได้แรงหนุนจากการเปิดประเทศ หลังยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero-COVID)

โดยทาง ‘Business+’ มองว่า ราคาน้ำมันมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่า โอเปก และ โอเปกพลัส จะหั่นกำลังการผลิตครั้งนี้ เพราะเศรษฐกิจของสหรัฐยังคงเปราะบาง โดยก่อนหน้านี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เคยออกมาเตือนว่า สหรัฐยังคงมีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะเศรษฐกิจทรุดตัวลงอย่างรุนแรง

ซึ่งเราพบข้อมูลว่า ในปี 2565 เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 1.6% ในไตรมาส 1 และ 0.6% ในไตรมาส 2 ทำให้สหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย ก่อนที่มีการขยายตัว 3.2% ในไตรมาส 3 และ 2.9% ในไตรมาส 4 แต่หากมองตลอดทั้งปี 2565 ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวเพียงแค่ 2.1% หลังจากเคยขยายตัวได้ถึง 5.9% ในปี 2564

ขณะที่ยอดค้าปลีกเดือนม.ค.ของสหรัฐปรับตัวลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์เคยคาดการณ์ ทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มชะลอตัวในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เพราะอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วราคาน้ำมันที่ลดลงจะส่งผลดีต่อสหรัฐฯ นั่นเป็นเพราะขณะนี้สหรัฐกำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งหากน้ำมันพุ่งขึ้นจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐพุ่งขึ้นอีก และจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจซบเซาในท้ายที่สุด ซึ่งเศรษฐกิจของสหรัฐมีผลกระทบต่อประเทศคู่ค้าจำนวนมาก เท่ากับว่า หากเศรษฐกิจสหรัฐหดตัว ก็จะมีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศน้อยลงเช่นกัน และเมื่อประเทศคู่ค้าส่งออกไปสหรัฐน้อยลงก็ทำให้เศรษฐกิจในประเทศตัวเองซบเซา และส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและการใช้น้ำมันลดลงตามไปด้วย

ขณะที่อีกประเด็นคือ หากรัฐบาลอิรักสามารถบรรลุข้อตกลงกับกองกำลังชาวเคิร์ดในการส่งออกน้ำมันจากท่าเรือของตุรกี ซึ่งหากสามารถส่งออกน้ำมันได้ก็จะทำให้ปริมาณน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น (หลังจากที่ถูกระงับในเดือนที่แล้ว) ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันลดลงเช่นเดียวกัน

วิธีรับมือความผันผวนของราคาน้ำมัน

ทีนี้มาดูวิธีการรับมือกับราคาน้ำมันที่ผันผวนสำหรับผู้ประกอบการกันบ้าง ซึ่งราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น หรือลดลง จะมีผลต่อธุรกิจเป็นอย่างมากในแง่ของต้นทุน เพราะน้ำมันเป็นต้นทุนหลักในการขนส่งของแทบทุกธุรกิจ ดังนั้น ผู้ประกอบการสามารถทำการป้องกันความเสี่ยงราคาน้ำมันเอาไว้ ซึ่งมีหลายวิธีสำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีเงินทุนสูงอาจจะเลือกการสต๊อกน้ำมันเก็บไว้ เพราะสามารถเก็บรักษาดูแลน้ำมันได้ แต่หากเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กจะมีความยุ่งยาก และมีเงินทุนไม่เพียงพอสำหรับการเก็บรักษาน้ำมัน ดังนั้น จึงมีทางเลือกอื่นคือ การใช้สัญญาซื้อขายล่วงหน้าในตลาดซื้อขายน้ำมันขนาดใหญ่เพื่อป้องกันความเสี่ยง เช่น การซื้อขาย Brent Crude Oil ในยุโรป หรือการซื้อขาย WTI Crude Oil ในประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นการสร้างเครื่องมือบริหารความเสี่ยงจากราคาน้ำมัน ซึ่ง ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือ TFEX ได้มีการจัดให้มีการซื้อขาย Oil Futures เป็นทางเลือกแก่ผู้ประกอบการรวมไปถึงนักลงทุน

ซึ่งหากในมุมของผู้ค้าปลีกน้ำมัน ที่มีรายได้หลักจากการขายน้ำมัน และมองว่าราคาน้ำมันจะปรับลง ซึ่งจะส่งผลเสียต่อรายได้เราก็สามารถเลือกเปิดสถานะขาย (Short) Oil Futures ซึ่งหากราคาน้ำมันปรับตัวลดลงตามที่คิด เราก็จะได้รับกำไรจากสถานะ Short Oil Futures มาชดเชยมูลค่าหรือรายได้ของเราที่ลดลง

ส่วนในกรณีที่เราเป็นบริษัทขนส่ง และมองว่าราคาน้ำมันจะปรับขึ้นมี ซึ่งจะทำให้ต้นทุนธุรกิจของเราสูงขึ้นตาม และกดกำไรสุทธิเราให้ต่ำลง เราก็สามารถเลือกเปิดสถานะซื้อ (Long) Oil Futures ซึ่งหากราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นตามที่คาด เราก็จะได้รับกำไรจากสถานะ Long Oil Futures มาชดเชยกำไรที่ลดลงได้เช่นเดียวกัน

ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงหนึ่งในวิธีการบริหารความเสี่ยงด้านราคาน้ำมันสำหรับผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม ผู้ลงทุน หรือผู้ประกอบการที่ต้องการซื้อขายนั้น จะต้องคำนึงถึงอัตราแลกเปลี่ยนเช่นเดียวกัน เนื่องจากราคาอ้างอิง Brent Crude Oil อยู่ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แต่การซื้อขายและชำระราคา Oil Futures ใน TFEX อยู่ในรูปสกุลเงินบาท ดังนั้น การเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนย่อมส่งผลกระทบต่อราคาของ Oil Futures อย่างแน่นอน

ที่มา : ThaiOil , IQ
เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
.