‘ปูซาน’ นำร่องตั้งถิ่นฐานมนุษย์บนน้ำทะเล Ocean Floating City เมืองลอยน้ำแห่งแรกในโลก ทางรอดของมนุษยชาติหากน้ำท่วมโลก

หากพูดถึงประเทศวัฒนธรรมแต่เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมแห่งเทคโนโลยีในลำดับต้น ๆ ของโลกต้องมีชื่อของ ‘เกาหลีใต้’ ประเทศที่มีการพัฒนาการด้านนวัตกรรมจากปี 1960 ยังเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจน และล้าหลังที่สุดในเอเชีย แต่ในปี 2016 (56 ปีให้หลัง) เกาหลีใต้ได้พัฒนานวัตกรรมจนติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก และไต่ขึ้นมาถึงอันดับที่ 1 ใน 5 ในช่วงปี 2017 จนปัจจุบันกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของภูมิภาคเอเชีย

ซึ่งในปี 2022 นี้ ทางเกาหลีใต้ก็มีเรื่องให้ต้องติดตามกันอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในเรื่องที่น่าสนใจคือการสร้างเมืองลอยน้ำที่ยั่งยืนแห่งแรกของโลก

โดยเทศบาลเมืองปูซาน ในเกาหลีใต้ได้ร่วมกับโครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (UN-HABITAT) และ Oceanix (บริษัทที่พัฒนาเมืองลอยน้ำในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา) ซึ่งได้ลงนามในความร่วมมือเพื่อสร้าง “เมืองลอยน้ำที่ยั่งยืน (Sustainable Floating Cities)” แห่งแรกของโลกในช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ UN-HABITAT ได้เสนอให้ปูซานซึ่งเป็นเมืองทางทะเลระดับโลก เข้าร่วมโครงการเมืองลอยน้ำที่ยั่งยืนเป็นแห่งแรกของโลก ในฐานะเมืองนำร่อง โดยเทศบาลเมืองปูซานเห็นว่าการเป็นเมืองนำร่องในโครงการดังกล่าว จะส่งผลดีต่อเมืองปูซาน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างงานคุณภาพสูง และการฟื้นฟูเศรษฐกิจในท้องถิ่น

ซึ่ง ‘เมืองลอยน้ำที่ยั่งยืน’ หรือ ‘Sustainable Ocean Floating City’ เป็นโครงการแรกของโลกที่ UN Habitat องค์กรสูงสุดที่ดูแลนโยบายเมืองทั่วโลกให้การสนับสนุน โดยดำเนินการร่วมกับ Oceanix บริษัทพัฒนาเมืองลอยน้ำของโลก ซึ่งเมืองลอยน้ำแห่งนี้จะเปรียบเสมือนเรือโนอาห์ในฉบับที่ทันสมัยที่ไม่เพียงตอบสนองความต้องการด้านอาหาร แต่ยังสร้างระบบนิเวศชายฝั่งใหม่โดยใช้ Biorock

โดย Biorock เป็นเทคโนโลยีทางทะเลที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ พูดง่าย ๆ คือเป็นวัสดุก่อสร้างทางทะเลชนิดเดียวที่ไม่ต้องการการดูแล และยังแข็งแรงขึ้นตามอายุจากหินปูนในน้ำทะเลที่เติบโตทำให้มีความแข็งแรงกว่าคอนกรีตทั่วไป 2-3 เท่า ซึ่ง Biorock ใช้กระแสไฟแรงดันต่ำมากจึงปลอดภัยกับโครงสร้างเหล็กทุกขนาดหรือรูปร่าง นอกจากนี้ยังป้องกันสนิมหรือการกัดกร่อน และสามารถรอดพ้นจากพายุเฮอริเคนที่แรงที่สุดได้วัสดุชนิดนี้ยังช่วยฟื้นฟูแนวปะการัง หอย นางรม หญ้าทะเล บึงเกลือ ป่าชายเลน การประมง และระบบนิเวศชายฝั่งที่ไม่มีการฟื้นตัวตามธรรมชาติอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังช่วยเพิ่มการเจริญเติบโต การอยู่รอด และความต้านทานต่ออุณหภูมิที่สูงขึ้นและมลภาวะสำหรับปะการังและสิ่งมีชีวิตในทะเล โดยแนวปะการังที่ทำจาก Biorock ยังสามารถกรองมลพิษทางน้ำจากชายฝั่งได้อีกด้วย

ซึ่งแนวคิดในการพัฒนา “เมืองลอยน้ำที่ยั่งยืน” มาจากการวิจัย และผลรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งพบว่า 30% (2.4 พันล้านคน) ของประชากรโลกที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งจะได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่งและน้ำท่วม เนื่องจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และโครงสร้างพื้นฐานที่ถูกทำลาย นอกจากนี้คาดว่าจะมีผู้ลี้ภัยจากผลกระทบทางสภาพภูมิอากาศหลายล้านคน

ดังนั้น เมืองลอยน้ำแห่งนี้ จึงได้รับความสนใจในฐานะนวัตกรรมใหม่ในการปรับตัวให้เข้ากับการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้ Ocean City คือ เมืองที่ใช้พื้นที่ทางทะเลเป็นเสมือนพื้นดิน รวมทั้งการสร้างที่อยู่อาศัยหรือสิ่งอำนวยความสะดวกทั่วไปได้ เช่น สนามบิน ท่าเรือ และสวนสาธารณะ อีกทั้งจะต้องเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยับยั้งการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อป้องกันภาวะโลกร้อน และสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนโดยใช้ทรัพยากร พลังงานและอาหารที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์ รวมทั้งเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป

ส่วนเมืองลอยน้ำ Ocean Floating City คือ เมืองอัจฉริยะ (Smart city) ที่ใช้พลังงานอย่างพอเพียงและสามารถรีไซเคิลทรัพยากรได้โดยไม่ท้าลายระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งจะมีความแตกต่างระหว่างเมืองลอยน้ำทั่วไป อย่างเช่นบ้านลอยน้ำ ซึ่งเป็นการสร้างบ้านบนน้ำ เช่น เวนิส ประเทศอิตาลี และบ้านในประเทศอาเซียน รวมถึงแตกต่างจากเกาะที่ถูกสร้างขึ้น โดยมนุษย์ที่เพิ่มพื้นที่ในทะเลด้วยการถมทรายและดินจำนวนมหาศาล ซึ่งจะมีการใช้งบประมาณมาก และก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม เช่น มลพิษทางน้ำ

หลักการและแนวคิดของ Sustainable Ocean Floating City ที่จะเกิดขึ้นในปูซาน ประกอบไปด้วย 6 หลักที่สำคัญบนความยั่งยืน คือ

– Net-Zero Energy : แนวคิดการใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและราคาถูกจากแสงอาทิตย์และคลื่นน้ำ

– Fresh Water Autonomy : แนวคิดการจัดหาน้ำจืดโดยใช้เทคโนโลยีการกลั่นไอน้ำที่ทันสมัย

– Plant-Based Food : แนวคิดการบริโภคอาหารจากพืชเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยการปลูกผลิตผลอินทรีย์จากระบบที่ให้ผลผลิตสูง

– Zero Waste Systems : แนวคิดการน้ำของเสียเปลี่ยนให้เป็นพลังงานแบบ Closed-loop

– Shared Mobility : แนวคิดการลดการเดินทาง โดยการให้ภายในชุมชนอยู่อาศัยร่วมกันแบบบูรณาการและผสมผสานอย่าง มีประสิทธิภาพ

– Habitat Regeneration : แนวคิดการใช้เทคโนโลยี Biorock ในการด้าเนินการช่วยฟื้นฟูที่อยู่อาศัย (Habitat Regeneration) ของสิ่งมีชีวิตทางทะเล รวมทั้งแนวปะการัง และระบบนิเวศชายฝั่ง

ซึ่งหากโครงการนี้สำเร็จ ‘เมืองปูซาน’ จะเป็นต้นแบบให้กับทั่วโลกทั้งในด้านเทคโนโลยี และการจัดระเบียบกฎหมายใหม่ด้านการสร้างเมืองลอยน้ำแห่งแรกของโลก อีกทั้งยังจะมีภาพลักษณ์ที่ทันสมัย และถูกยกระดับให้กลายเป็นเมืองผู้นำของโลกได้อีกด้วย

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : สำนักงานผู้แทนการค้า ณ เมืองปูซาน ,DITP

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #GDP #ตัวเลขเศรษฐกิจไทย #เศรษฐกิจไทย #เงินเฟ้อ #อัตราดอกเบี้ย #เงินเฟ้อ #อัตราเงินเฟ้อ #ข้าวของแพง #ราคาขึ้น #นักลงทุน #ตลาดหุ้น #เฟด #ดาวโจนส์