Neuron Mobility สมาร์ทสกู๊ตเตอร์ อีกทางเลือกคมนาคมคนเมือง

อีกหนึ่งคมนาคมทางเลือกของชาวสิงโปร์ในช่วงเวลา Traffic Jam ก็คือ Neuron Mobility สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ที่ยกระดับการเดินทางส่วนบุคคลในเมืองให้ก้าวล้ำขึ้นไปอีกขั้น ซึ่งตอบโจทย์ทั้งความสะดวก และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามแบบฉบับของชาวสิงคโปร์ที่แท้จริง

ซึ่ง Neuron Mobility ก็ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหารถติดของสิงคโปร์ ที่ถือว่าเป็นอีกหนึ่งเมืองที่มีปัญหาเรื่องรถติดเหมือนกับเมืองใหญ่ทั่วโลก จากการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจระดับโลก

แต่ด้วยการจัดการจราจรอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีระบบขนส่งมวลชนสาธารณะที่ตอบโจทย์ความต้องการในการเดินทาง แค่นี้ก็ทำให้การเดินทางในสิงคโปร์ที่มีพื้นที่น้อยกว่าครึ่งของกรุงเทพฯ เป็นเรื่องที่สะดวกสบายสำหรับพลเมืองและนักท่องเที่ยวแล้ว

Neuron Mobility

แต่แม้จะมีระบบขนส่งมวลชนที่ยอดเยี่ยม ก็ยังมีคนที่ต้องการจะเดินทางแบบส่วนตัวส่วนบุคคลอยู่นั่นเอง จึงเป็นที่มาของ สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเพื่อการคมนาคม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีในด้านการเดินทางส่วนบุคคล กำเนิดขึ้นเพื่อจัดการกับความคล่องตัวในการเดินทางในเมืองของประจำวันของแต่ละบุคคล การจัดส่งสินค้า และการท่องเที่ยว

ต้นกำเนิดของ Neuron

ธุรกิจสมาร์ทสกู๊ตเตอร์เพื่อการคมนาคมนี้ ก่อตั้งขึ้นในปี 2559 โดย Zachary Wang และ Harry Yu สองหนุ่มวิศวกรที่ถือสิทธิบัตรที่เก่าแก่ที่สุด ของอุตสาหกรรมเกี่ยวกับสมาร์ทสกู๊ตเตอร์ และโซลูชันการชาร์จอัจฉริยะในพื้นที่สำหรับยานพาหนะส่วนบุคคล

Neuron Mobility

โดย Neuron พยายามอย่างต่อเนื่องที่จะสร้างผลกระทบที่แท้จริงต่อชีวิตของหลาย ๆ คน และร่วมมืออย่างแข็งขันกับเมืองต่างๆเพื่อสร้างเมืองอัจฉริยะในอนาคต

โดย Neuron เริ่มจากการสร้างระบบการให้บริการ e-scooter ขึ้นมาประเทศสิงคโปร์ในปี 2559 ก่อนจะขยายไปถึงกัวลาลัมเปอร์และเชียงใหม่บ้านเราเมื่อปี 2561 และได้ร่วมมือกับแสนสิริในการนำเทคโนโลยีเข้ามายังกรุงเทพมหานคร โดยเริ่มจากภายในโครงการอาคารที่พักอาศัยในโครงการของแสนสิริ บริเวณสุขุมวิท 77

Neuron Mobility

อีกทั้งยังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการติดตั้งสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าถึง 200 คัน ในโครงการนำร่องยานพาหนะทางเลือก และกำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่องในกรุงเทพฯ ไปพร้อม ๆ กับตลาดนอกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

ความหลงใหลสร้างธุรกิจ

Zachary Wang เล่าถึงแรงบันดาลในการเกิดธุรกิจนี้ มาจากความหลงใหลในยานพาหนะไฟฟ้า และความสนใจด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงความต้องการแก้ไขปัญหารถติดซึ่งส่งผลกระทบต่อระดับมลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะในเมืองต่าง ๆ เช่น กรุงเทพฯ

Neuron Mobility

จึงริเริ่มแนวคิดสร้างยานพาหนะทางเลือกที่ไม่สร้างมลพิษ โดยเฉพาะยานพาหนะที่ใช้สำหรับเดินทางระยะสั้นหรือ last-mile ก่อนถึงปลายทาง และต้องการให้มีราคาที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ มาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับประชากรชาวเมือง

ซึ่งเป็นแนวความคิดที่ Zachary ได้เข้าร่วมโครงการของ NUS เพื่อทดลองและสร้างยานพาหนะไฟฟ้ามามากกว่าสองปี โดยเข้าเป็นหนึ่งในทีมผู้สร้างรถยนต์ที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงคันแรกของสิงคโปร์ ที่เข้าแข่งขันในรายการต่าง ๆ ของยุโรป

อีกทั้ง Zachary  ยังเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Rezeca ที่ขึ้นเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีวิศวกรรมพลังงานแสงสำหรับที่อยู่อาศัย และประสบความสำเร็จถึง 200 โปรเจคก่อนขยายตัวออกนอกประเทศสิงคโปร์

ทำไมต้องเป็นสกู๊ตเตอร์

เหตุผลที่ Neuron เลือกให้สกู๊ตเตอร์เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการคมนาคมส่วนบุคคล ไม่ใช่จักรยานที่ถือเป็นยานพาหนะสุดคลาสสิกทั่วโลก นั่นเพราะความปราดเปรียวคล่องตัวของสกู๊ตเตอร์ ตอบโจทย์ความสะดวกในการเดินทางมากกว่า

อีกทั้งจักรยานมีขนาดใหญ่กว่าเกือบ 2 เท่าเมื่อเทียบกับสกูตเตอร์ เมื่อต้องทำพื้นที่จอดจะกินบริเวณกว้างกว่า การเลือกใช้สกู๊ตเตอร์จึงถือว่าลงตัวในทุกมิติแล้ว

Neuron Mobility

Neuron ท้าทายธุรกิจในประเทศไทย

การทำธุรกิจล้วนมีอุปสรรค และสำหรับอุปสรรคเรื่องหนึ่งของ Neuron ในประเทศไทยก็ดูจะไม่พ้นปัญหาเกี่ยวกับเส้นทางที่ดูเหมือนจะยังไม่ค่อยสะดวกสบายและปลอดภัยนัก หากจะให้ชาวกรุงเทพฯ นึกภาพตัวเองใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าในการเดินทางก็คงจะนึกภาพไม่ออก

แต่ Neuron ก็แก้ไขปัญหานี้ได้อย่างสบาย ๆ เนื่องจากการออกแบบและผลิตตัวสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเองด้วยชิ้นส่วนมากถึง 150 ชิ้นส่วน ซึ่งรวมถึงล้อที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อให้ยานพาหนะมีความเหมาะสมและตอบโจทย์การใช้งานบนพื้นถนนที่ขรุขระ มีหลุม และทางโค้งบนถนนของประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเชียงใต้

อีกทั้งยังมีการเตรียมรับมือกับธุรกิจอื่นที่จะมีการลอกเลียนแบบลักษณะธุรกิจของ Neuronโดย Neuron เป็นบริษัทที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ทั้งการวัดระดับข้อมูล การใช้ผลิตภัฑณ์ตามข้อมูลที่มีอยู่ และการทำการตลาดโดยอ้างอิงจากข้อมูล ทำให้ Neuron ก้าวนำธุรกิจอื่น ๆ ได้อย่างง่ายดาย

ความสำเร็จของ Neuron

เมื่อธันวาคมปีที่แล้ว Neuron ได้รับเงินสนับสนุนกว่า 119 ล้านบาทจาก SeedPlus ในระดับ Seed funding ซึ่งเงินทุนดังกล่าวจะถูกนำไปใช้ในการขยายธุรกิจ รวมถึงการพัฒนาสกูตเตอร์รุ่นต่อไป เพื่อยกระดับระบบการขนส่งในเมืองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Neuron Mobility

สำหรับประเทศไทย Neuron ได้เปิดให้บริการแล้วในพื้นที่บริเวณทองหล่อ-เอกมัย และจังหวัดเชียงใหม่ ราคาเริ่มต้นที่ 20 บาท หรือสามารถสมัครรายเดือนเพื่อความสะดวกในการใช้งาน ซึ่งระบบการเช่าสกูตเตอร์จะดำเนินการผ่านแอปพลิเคชัน Neuron มีให้ดาวน์โหลดทั้งในระบบ iOS และ Android สามารถเพิ่มบัตรเครดิตและเดบิตสำหรับใช้จ่ายค่าบริการ

Neuron Mobility

 

ก่อนจะเริ่มการเดินทางด้วยการสแกน QR code บนบาร์จับของสกู๊ตเตอร์ เดินทางสะดวกด้วยระบบ GPS นำทางรวมถึงทีมช่างที่เตรียมพร้อมเข้าช่วยเหลือหากเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ เมื่อไปถึงจุดหมายปลายทางแล้ว ก็นำสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า Neuron ไปจอดได้ตามจุด P ที่ปรากฏในแอปพลิเคชัน และกด “จบการเดินทาง” เพื่อสิ้นสุดการเดินทาง

Neuron Mobility

หลังจากที่เปิดตัวในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ ถือว่ามีผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจ โดยมีการขยายเส้นทางเพิ่มเติมไปถึงบริเวณสาทร และมีแพลนในปี 2563 ว่าจะขยายไปยังพระรามสี่ สีลม และสามย่าน ต่อไป ในขณะเดียวกันก็มียอดการ Subscribe จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตรังสิต สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แม้จะไม่ถือว่าเป็นทางเลือกหลักในการเดินทาง แต่ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่น่าสนใจไม่น้อย สำหรับสังคมและธุรกิจที่เติบโตแบบก้าวกระโดดในยุคดิจิทัลนี้ อาจจะส่งผลให้ธุรกิจทางเลือกใหม่อย่าง Neuron Mobility ดีดตัวขึ้นสูงในอนาคต เนื่องจากสามารถตอบโจทย์วิถีชีวิตชาวเมืองได้แทบจะทุกข้อ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าจับตามองไม่น้อยเลยทีเดียว

 

ขอบคุณรูปประกอบจาก

www.neuron.sg

และ www.facebook.com/neuron.mobility

 

Neuron Mobility