Netka System เชื่อมโลกดิจิทัล ตอบรับโลกใบใหม่

โลกธุรกิจกำลังเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ไปสู่โมเดลที่ว่า Digitalization ซึ่งคนที่มองเห็นโอกาสก่อนย่อมปูทางสู่ผู้นำ “Netka System” บริษัทที่วางระบบครบวงจร (Software Network Management) ต่างมองเห็นการเปลี่ยนแปลงและพร้อมจะคว้าโอกาสทองนั้น

หากมองจากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0 พร้อมกับวางยุทธศาสตร์ Digital Economy เพื่อพัฒนาทุกภาคส่วนให้เดินไปในทิศทางเดียวกัน ส่งผลให้ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ ต้องเร่งปรับตัวด้านดิจิทัลอย่างเร่งด่วน

นัยหนึ่งของการปรับตัว ย่อมสร้างถนนนำไปสู่ความสำเร็จก่อน ซึ่งหากประเมินจากเทรนด์เทคโนโลยีระดับโลกจากการประเมินของ Gartner จะพบว่า กระแสการใช้ Cloud Computing ในอนาคตจะยิ่งมีมากขึ้น ขณะที่องค์กรจำนวนมากเริ่มให้ความสนใจกับการนำข้อมูลขนาดใหญ่ไปวิเคราะห์ (Big Data Analytics) เพื่อเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต และประยุกต์ใช้ข้อมูลนั้นในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและเกิดมูลค่าเพิ่ม

Netka System ซึ่งเป็น Independent Software Vendor (ISV) บริษัทซอฟต์แวร์คนไทย 100% กับประสบการณ์ยาวนาน 10 ปี จนปัจจุบัน Netka System ผันตัวเองออกไปรับงานติดตั้งทั่วโลก และยิ่งน่าสนใจว่าอนาคตของ Netka System สวยหรูมากขึ้นแค่ไหนกับโลกใบใหม่ใบนี้

ชาญชัย เจียมโชติพัฒนกุล ประธานบริหารบริษัท เน็ตก้า ซิสเต็ม จำกัด (Netka System) กล่าวว่า ตลอดระยะกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เน็ตก้าไม่เคยหยุดพัฒนา เพราะนับตั้งแต่วันที่เริ่มก่อตั้งบริษัทในปี 2005 วิชั่นหลักของบริษัทคือ การเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ไทยที่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่แข่งขันกับบริษัทใหญ่ในระดับโลก และที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเน็ตก้าสามารถทำได้ตามวิชั่นที่วางไว้ ด้วยการเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ด้านการบริหารจัดการเน็ตเวิร์กของไทยเพียงรายเดียวเท่านั้นที่มีอยู่ในตลาดปัจจุบัน

จุดแข็งของเน็ตก้าที่สามารถยืนหยัดแข่งขันกับยักษ์ใหญ่ระดับโลก คือ การมีซอฟต์แวร์เป็นของตัวเอง หรือขายผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์สำเร็จรูป ในลักษณะของ ISV เปรียบได้กับบริษัทซอฟต์แวร์ใหญ่ ๆ ที่คนทั่วไปรู้ดีนั่นก็คือ Microsoft มีซอฟต์แวร์สำเร็จรูปของตัวเอง ซึ่งจะแตกต่างจาก Software House ที่เน้นการให้บริการเขียนซอฟต์แวร์ หรือให้บริการแบบเทิร์นคีย์ ทำตามความต้องการของลูกค้าด้วยความเชี่ยวชาญที่มี (Make to Order) ซึ่งบริษัทซอฟต์แวร์ในไทยส่วนใหญ่จะเป็น Software House

ชาญชัยบอกด้วยว่า ซึ่งนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมาตั้งแต่ปี 2005 บริษัทมีความสำเร็จในหลายด้าน โดยเฉพาะในส่วนของผลิตภัณฑ์ NetkaView Network Manager (NNM) ที่ได้รับรางวัล APICTA Award (The Asia Pacific ICT Alliance Awards) ซึ่งนับเป็นรางวัลที่พิสูจน์ให้เห็นถึงความน่าเชื่อถือในผลิตภัณฑ์ของเรา ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ด้านซอฟต์แวร์บริหารจัดการงานบริการอย่าง NetkaQuartz Service Desk (NSD) ได้รับการรับรองจาก ITIL (Information Technology Infrastructure Library)

ที่น่าภูมิใจคือ เป็นซอฟต์แวร์รายแรกของไทยและของอาเซียนที่ผ่านการรับรองดังกล่าว และยังเป็นประเทศที่ 3 เอเชีย รองจากจีนและอินเดียที่ ITIL ได้รับรองมาตรฐาน แน่นอนว่าจากรางวัลและการผ่านการรับรองจากสถาบันระดับโลก เป็นความสำเร็จในแง่ของการยอมรับในผลิตภัณฑ์ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ในด้านความสำเร็จทางด้านการขยายตลาดนั้น สามารถบอกได้ว่ากว่า 80% ของผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ใช้โซลูชัน NetkaView ในการบริหารจัดการเน็ตเวิร์กที่เป็นส่วนหลักขององค์กร และที่ผ่านมายังมีอีกหลายองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนที่วางใจใช้โซลูชันเน็ตก้ามาอย่างต่อเนื่อง นับเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ของความเชื่อมั่นที่จะเป็นก้าวสำคัญในการขยายตลาดในอนาคตของเน็ตก้าอีกด้วย

สู่เป้าหมายสร้างชื่อระดับโลก

ชาญชัยกล่าวถึงทิศทางการทำตลาดของเน็ตก้าในปีหน้าว่าบริษัทจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีฟีเจอร์ที่สามารถใช้งานได้หลากหลาย เพื่อให้สินค้าเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้น (Mass Product) จากเดิมที่เน้นกลุ่มนิชมาร์เก็ต (Niche Market) แต่ในปีหน้าจะเริ่มพัฒนาโซลูชันให้สามารถตอบโจทย์ลูกค้าในทุกอุตสาหกรรม เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มเรื่อง Digital Transformation

โดยจะทำ 4 เรื่องหลัก (4 Pillar) ประกอบด้วยโซลูชันด้าน Monitoring, Integration และ Control ซึ่งก่อนหน้านี้เน็ตก้ามีความแข็งแกร่งอยู่แล้ว และจะเพิ่มเติมในส่วนของ Analytic ต่อยอดเข้ามา เนื่องจากเทรนด์ของการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มีความสำคัญต่อธุรกิจในปัจจุบันเป็นอย่างมาก

ขณะที่รูปแบบการทำตลาดนั้นจะเจาะเป็นรายอุตสาหกรรม โดยมองลูกค้าหลักอยู่ในกลุ่ม Telecom Service, Network Service Provider, Transportation, Banking, Retail และ SME ซึ่งจะแตกต่างจากเดิมที่ทำตลาดเป็นรายผลิตภัณฑ์ เช่น NetkaView ทำอะไรได้บ้าง เหมาะกับลูกค้ากลุ่มใด เป็นต้น แต่รูปแบบใหม่จะลงลึกไปว่าโซลูชันของเน็ตก้า จะสามารถเข้าไปตอบโจทย์ลูกค้าในแต่ละอุตสาหกรรมได้อย่างไรบ้าง โดยจะมีการ Apply ผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในแต่ละกลุ่ม

นอกจากนี้ ทางเน็ตก้ายังมองถึงการขยายตลาดไปยังต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก เนื่องจากมองว่าตลาดต่างประเทศยังมีช่องว่างและโอกาสในการเติบโตสูง และผลิตภัณฑ์ของเน็ตก้ามีศักยภาพในการแข่งขันได้อยู่แล้ว เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แม้ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์ไทย แต่คู่แข่งของเน็ตก้าคือบริษัทซอฟต์แวร์ระดับโลก ดังนั้นจึงมองว่าการก้าวไปสู่เวทีการแข่งขันในตลาดระดับโลกจึงไม่ใช่เรื่องยาก เพราะผลิตภัณฑ์ที่มีได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่ามีคุณภาพและประสิทธิภาพที่ไม่แพ้ซอฟต์แวร์ที่มีอยู่ในตลาดปัจจุบัน

“อาจจะพูดได้ว่า เทคโนโลยีของเราไม่เป็นรอง และในบางผลิตภัณฑ์เราเหนือกว่าซอฟต์แวร์ระดับโลกอีกด้วย เพราะตลอด 11 ปีที่ผ่านมา เราเติบโตมาได้อย่างต่อเนื่องและเป็นซอฟต์แวร์ด้านการบริหารจัดการหนึ่งเดียวของไทย เพราะเรามีผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง สามารถก้าวขึ้นไปแข่งกับบริษัทซอฟต์แวร์ระดับโลก จนทำให้ผู้ให้บริการเน็ตเวิร์กในไทยถึง 80% เปลี่ยนมาใช้โซลูชันของเน็ตก้า นอกจากนี้เรายังได้รับการยอมรับจากผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ระดับโลกทั้งจากนอร์เวย์และญี่ปุ่น ให้เป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ในรูปแบบ OEM สำหรับบริหารจัดการอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ ที่ผลิตและจำหน่ายไปทั่วโลกอีกด้วย”

ชาญชัยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้บริษัทได้เริ่มขยายตลาดต่างประเทศไปบ้างแล้ว ตั้งแต่ 3-4 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้รายได้จากตลาดต่างประเทศมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ล่าสุดขยับมาอยู่ที่ 60% ของพอร์ตรายได้ ซึ่งเกิดจากการได้รับโปรเจ็กต์บริหารจัดการอุปกรณ์ไอทีในสนามบินขนาดใหญ่ในประเทศตะวันออกกลาง แน่นอนว่า การได้โปรเจ็กต์ในระดับนี้ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย พร้อมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านโซลูชัน Transportation เพิ่มมากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการขยายงานในกลุ่มอาเซียนเพิ่มมากขึ้น โดยมีการเพิ่มผู้จัดจำหน่าย (Distributor) ในประเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย สำหรับประเทศแรกที่เจาะเข้าไปแล้วคือเวียดนาม ล่าสุดมีเข้ามาแล้ว 2 โปรเจ็กต์ ซึ่งจะเป็นไปตามโรดแมปการขยายธุรกิจของเน็ตก้า ที่จะโฟกัสในกลุ่มตลาดเอเชียแปซิฟิกก่อนจะขยายไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก

“เป้าหมายของเน็ตก้าคือ การก้าวขึ้นไปเป็นซอฟต์แวร์ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย ให้ทั่วโลกรู้ว่าบริษัทคนไทยก็สามารถทำได้ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นบริษัทระดับโลก ขณะที่เป้าหมายสูงสุดคือ ต้องการให้ทุกคนนึกถึงชื่อเน็ตก้าเป็นอันดับแรก หากพูดถึง Software Network Management” ชาญชัยกล่าวปิดท้าย