‘MSME’ Growth Engine สำคัญ สู่การสร้างเศรษฐกิจไทย

หนึ่งในหน่วยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรง และโดยตรงจาก COVID-19 คือ ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดย่อม เพราะในช่วงที่เกิด Pandemic ทำให้ต้องหยุดกิจกรรมทางธุรกิจเกือบทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้นคือ ธุรกิจเหล่านี้พึ่งพาแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินเป็นส่วนใหญ่ นั่นทำให้รายได้ลดลงหรือเป็นศูนย์ แต่ยังมีค่าใช้จ่าย และหนี้ที่ต้องชำระตามกำหนด

แม้ว่าโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยหากอิงจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไทย (GDP) จะมีวิสาหกิจขนาดใหญ่ (LE) เป็นสัดส่วนที่มากที่สุดคือ 59.2% และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รองลงมา ด้วยสัดส่วน 34.2% ขณะที่วิสาหกิจอื่นๆ มีสัดส่วนราว 6.6% เท่ากับว่าวิสาหกิจขนาดใหญ่ยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มีความสำคัญที่สุด

แต่เมื่อดูข้อมูลการเติบโตของ GDP ของ MSME (Micro-entrepreneurs, Small and Medium-sized Enterprises) จะเห็นว่ามีอัตราการเติบโตเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2555 ถึง 2563 สูงกว่าอัตราการเติบโตของ GDP โดยรวมของประเทศ และเมื่อมองในแง่ของจำนวนวิสาหกิจหรือกิจการในไทยจากทั้งหมดราว 3,119,738 รายทั่วประเทศ พบว่าเป็นธุรกิจ MSME มากถึง 99% ของผู้ประกอบการทั้งหมดในประเทศ จึงนับได้ว่า MSME เป็นหน่วยธุรกิจที่มีจำนวนมากที่สุดของประเทศ

และในตอนนี้ธุรกิจ MSME ในประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาด้านแหล่งเงินทุน จนเป็นอีกความท้าทายที่น่าจับตามองเป็นอย่างมากว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะช่วยเหลือและพาผู้ประกอบการก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปได้อย่างไร

นิยามของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs คือธุรกิจที่ทำการดำเนินกิจกรรมทางด้านการผลิต จำหน่าย ขนาดย่อม โดยที่ในอดีตประเทศไทยจะใช้จำนวนการจ้างงาน และมูลค่าสินทรัพย์ถาวรเป็นเกณฑ์ในการจำแนก แต่เมื่อช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเจ้าของธุรกิจในประเทศไทยได้มีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้นทำให้บางกิจการใช้การจ้างแรงงานน้อยมาก แต่กลับสร้างรายได้มหาศาล บางรายขึ้นไปสูงถึง 1,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งรายได้ระดับนี้เทียบเคียงกับบริษัทรายใหญ่

ดังนั้น สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จึงได้ปรับแก้ไขนิยาม โดยใช้รายได้มาเป็นเกณฑ์เพิ่มเติม นอกจากนี้ยังพบข้อมูลจาก สสว.ว่า จำนวน SMEs ที่เป็นวิสาหกิจขนาดย่อม (Small) ได้รวมกลุ่มวิสาหกิจขนาดย่อย หรือ Micro ที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทเข้าไว้ด้วยจำนวนมาก จึงได้เรียกการรวมกลุ่ม Micro และ SMEs ไว้ว่า Micro-entrepreneurs, Small and Medium-sized Enterprises หรือ MSME

ทั้งนี้จากการนิยามใหม่ อ้างอิงตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 และประกาศ สสว. เรื่องการกำหนดลักษณะของวิสาหกิจรายย่อย จะสามารถแบ่งตามขนาดได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

1. วิสาหกิจขนาดกลาง (ME) : หากเป็นภาคการผลิตจะมีการจ้างงานไม่เกิน 200 คน รายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท และหากเป็นการค้าและบริการ จะต้องมีการจ้างงานไม่เกิน 100 คน รายได้ไม่เกิน 300 ล้านบาท

2. วิสาหกิจขนาดย่อม (SE) : หากเป็นภาคการผลิตจะมีการจ้างงานไม่เกิน 50 คน รายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท และหากเป็นการค้าและบริการ จะต้องมีการจ้างงานไม่เกิน 30 คน รายได้ไม่เกิน 50 ล้านบาท

3. ผู้ประกอบการรายย่อย (Micro) : หากเป็นภาคการผลิตจะมีการจ้างงานไม่เกิน 5 คน รายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท และหากเป็นการค้าและบริการ จะต้องมีการจ้างงานไม่เกิน 5 คน รายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท

GDP MSME เติบโตสูงกว่า GDP ของประเทศ
ในปี 2564 ที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของ MSME ขยับขึ้นมาที่ 5.6 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 34.6% ของ GDP ทั้งประเทศ เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.47% หลังจากปี 2563 ธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจาก COVID-19 จนเริ่มซึมตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี โดยการเติบโตที่ลดลงนี้ เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัวเช่นเดียวกัน

และเมื่อย้อนกลับไปดูข้อมูลตั้งแต่ปี 2558 ทาง ‘Business+’ พบว่า GDP MSME ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมามีการเติบโตสูงกว่า GDP โดยรวมในประเทศ

– ปี 2558 GDP MSME เติบโต 3.3% ส่วน GDP ประเทศเติบโต 3.1%
– ปี 2559 GDP MSME เติบโต 5.7% ส่วน GDP ประเทศเติบโต 3.4%
– ปี 2560 GDP MSME เติบโต 7.1% ส่วน GDP ประเทศเติบโต 4.2%
– ปี 2561 GDP MSME เติบโต 5.5% ส่วน GDP ประเทศเติบโต 4.2%
– ปี 2562 GDP MSME เติบโต 3.1% ส่วน GDP ประเทศเติบโต 2.3%
– ปี 2563 GDP MSME หดตัว 6.1% ส่วน GDP ประเทศหดตัว 9.1%
– ปี 2564 GDP MSME เติบโต 3.0% ส่วน GDP ประเทศหดตัว 1.6%

จากข้อมูลในปี 2564 จะเห็นได้ว่า GDP ของไทย และ GDP MSME เริ่มกลับมาฟื้นตัว โดยที่มีปัจจัยบวกทั้งหมด 4 ด้านหลัก ๆ คือ

1. การกระจายการฉีดวัคซีนป้อยกัน COVID-19 ภายในประเทศ เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดเอาไว้คือ 100 ล้านโดส

2. การคลายมาตรการล็อกดาวน์และการเปิดประเทศในช่วงปลายปี 2564 ทำให้กิจการร้านค้าต่างๆ กลับมาให้บริการได้แบบเต็มรูปแบบ

3. การกระตุ้นการใช้จ่ายและการเดินทางของประชาชน ซึ่งส่งผลดีต่อตัวเลขเศรษฐกิจ

4. ธุรกิจส่วนใหญ่เริ่มปรับตัวด้วยการใช้เทคโนโลยีเพื่อรับมือกับการระบาดละลอกใหม่ได้ดีขึ้น ดังนั้น ผลกระทบจึงน้อยลงกว่าการระบาดรอบแรกในปี 2563

หากแบ่งแยกลงไปถึงกลุ่มที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น จะพบว่า หากแยกตามขนาดวิสาหกิจ จะพบว่า ขนาดย่อม (SE) มีสัดส่วน 14.47% ต่อ GDP MSME และ วิสาหกิจขนาดกลาง (ME) มีสัดส่วน 17.58% และวิสาหกิจขนาดย่อย (Micro) มีสัดส่วน 2.58%
GDP MSME Share by size 2021 (ทำแผนภูมิวงกลม)
– วิสาหกิจขนาดกลาง (ME) มีสัดส่วน 17.58%
– วิสาหกิจขนาดย่อม (SE) มีสัดส่วน 14.47%
– ผู้ประกอบการรายย่อย (Micro) มีสัดส่วน 2.58%

สำหรับ BIG TREE สาขาธุรกิจ MSME ที่มีสัดส่วน GDP สูงที่สุด 3 อันดับแรกของแต่ละกิจกรรมทางเศรษฐกิจ มีดังนี้

ภาคการผลิต : พบว่า ธุรกิจผลิตอาหารมีสัดส่วนสูงสุดที่ 13.9% ตามมาด้วยผลิตภัณฑ์จากการกลั่น 9.4% และเคมีภัณฑ์ 7.7%

ภาคการค้าปลีกค้าส่ง : พบว่า ค้าปลีกค้าส่งมีสัดส่วนสูงสุดที่ 91.9% ตามมาด้วยจำหน่ายและซ่อมบำรุงยานยนต์ 8.1%

ภาคการบริการ : พบว่า ธุรกิจด้านการศึกษามีสัดส่วน 19.6% ตามมาด้วย ที่พักแรมและร้านอาหาร 15.5% และการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 12.5%

โดยเราพบข้อมูลจาก ‘แผนการส่งเสริม SME พ.ศ. 2564-2565’ ว่า การทำธุรกิจในภาคการค้าเป็นภาคที่มีมากที่สุดด้วยสัดส่วน 41.2% และภาคบริการมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันคือ 40% ขณะที่ภาคการผลิตมีสัดส่วน 17.1% และภาคธุรกิจเกษตรมีสัดส่วน 1.6% ซึ่งเหตุผลที่ทำให้ภาคการค้า และภาคบริการมีสัดส่วนมากที่สุดเป็นเพราะสามารถเริ่มต้นธุรกิจได้ง่ายกว่าภาคธุรกิจอื่น และใช้เงินลงทุนไม่มาก อีกทั้งยังสอดคล้องกับสภาวะการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันที่มุ่งเน้นพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce)

ในขณะเดียวกันภาคบริการของ MSME นั้นมีความหลากหลาย มีบทบาททั้งการให้บริการกับผู้บริโภค และการให้บริการเชื่อมโยงกับภาคการผลิตในหลายอุตสาหกรรม สำหรับในส่วนของภาคการผลิตนั้น MSME ส่วนใหญ่จะอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมต่าง ๆ จำนวนมาก นี่จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้หน่วยธุรกิจ MSME มีความสำคัญต่อประเทศชาติเป็นอย่างมาก

MSME รอวันกลับมาฉายแสง
แนวโน้มของการเติบโตในปี 2565 ยังคงเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ถึงแม้ยังไม่เติบโตอย่างร้อนแรงเหมือนช่วงก่อน COVID-19 แต่ภายหลังจากที่รัฐบาลเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ จะทำให้นักท่องเที่ยวกลับมาในประเทศมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นคืน แต่สิ่งที่ยังเป็นปัจจัยขัดขวางการเติบโตคือเรื่องของต้นทุนสินค้าที่ยังอยู่ในระดับสูง

ทั้งนี้ ทาง สสว. ได้คาดการณ์ว่า GDP MSME จะขยายตัว 3.5-4.9% จากการที่มีนักท่องเที่ยวเริ่มฟื้นคืนกลับมา และเศรษฐกิจในประเทศจะเข้าสู่การฟื้นตัว โดยมีการคาดการณ์ว่า สาขาที่จะมีอัตราการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญประกอบด้วย การผลิตอาหารแปรรูป การผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน กิจการภัตตาคารและร้านขายเครื่องดื่ม กิจการโรงแรมและที่พักอื่น ๆ

ถึงแม้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ MSME (SMESI) 3 เดือนข้างหน้าอาจจะยังปรับตัวลดลง แต่ยังสูงกว่าค่าฐาน จากสถานการณ์ COVID-19 ที่คลี่คลาย และการเข้าใกล้สู่โรคประจำถิ่น ส่งผลให้ความกังวลต่อการติดเชื้อลดลง ส่วนประเด็นด้านต้นทุนธุรกิจเป็นปัจจัยสำคัญที่ MSME กังวลมากที่สุด เพราะจะส่งผลต่อกำลังซื้อขอองผู้บริโภค รวมไปถึงความสามารถในการแข่งขันกับรายใหญ่อีกด้วย

เปิด 4 ธุรกิจ SMEs ที่น่าสนใจในมุมมองของ ‘Business+’
1. ธุรกิจขายสินค้าออนไลน์ (E-commerce) : ซึ่งได้เห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาโดยมี COVID-19 เป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดการใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น และถึงแม้ว่าสถานการณ์จะกลับมาเกือบปกติแล้วแต่ประสบการณ์สั่งซื้อสินค้าออนไลน์ที่สะดวกสบายก็ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป

การขายสินค้าออนไลน์นั้น มีผลดีกับผู้ประกอบการ SMEs เนื่องจากสามารถใช้ Social Media ในการสร้างยอดขาย หรือโฆษาสินค้าได้โดยมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า นอกจากนี้เว็บไซต์ emarketer วิเคราะห์เอาไว้ว่าในปี 2565 ธุรกิจ E-commerce จะสร้างยอดขายทั่วโลกเพิ่มขึ้นอีก 21% และมีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นอีกอย่างต่อเนื่องในอนาคต

2. ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี : ปัจจุบันทุกอุตสาหกรรมได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพ และพัฒนาการทำงานทั้งภายในและภายนอกองค์กร ซึ่งเทคโนโลยีสมัยใหม่จะเข้ามาปฏิรูปโครงสร้างภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบริการอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในภาคการผลิตและบริการ ดังนั้น เหล่าผู้ประกอบการไม่ว่าจะรายใหญ่หรือรายเล็กต่างต้องการเทคโนโลยีเพื่อก้าวทัน และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

โดยเทรนด์ด้านเทคโนโลยีในอนาคตที่กำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลก ที่น่าสนใจในตอนนี้ได้แก่ เมตาเวิร์ส (Metaverse) บล็อกเชน (blockchain) หุ่นยนต์ (Robot) และระบบอัตโนมัติต่าง ๆ ที่พึ่งพา AI และ Machine learning มากขึ้น แม้แต่บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ยังเคยให้ความเห็นเกี่ยวกับการเติบโตของเทคโนโลยีเอาไว้ว่าปี 2565 คำว่า Blockchain และ Web3 จะเป็นเรื่องที่คนเริ่มคุ้นเคย เพราะจะเข้ามาอยู่ในการใช้ชีวิตของคนมากขึ้น

3.ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ : ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตามนิยามคือประเทศที่มีผู้อายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากร และไทยยังถูกประเมินว่าในอีก 10 ปีจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด โดยจะมีผู้อายุ 60 ปีขึ้นไปเกินกว่า 28% ของประชากร ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรครั้งใหญ่ ดังนั้น จึงก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตไปหลายอย่าง ทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ

สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะบุกเบิกธุรกิจหรือสินค้า เพื่อรองรับความต้องการกลุ่มผู้สูงอายุ ที่เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง เช่น อาหารสำหรับผู้สูงอายุ บ้านพักสำหรับผู้สูงอายุ อาหารเสริม หรืออุปกรณ์ช่วยเหลือสำหรับผู้สูงอายุ

4..ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ : หลังจากโรคระบาดเข้ามาก็ทำให้คนทั้งโลกหันมาใส่ใจกับสุขภาพกันไปโดยปริยาย ไม่ใช่แค่เพียงกลุ่มผู้อาวุโส เท่านั้น แต่เด็กรุ่นใหม่ก็ให้ความสำคัญกับสุขภาพ ทั้งอาหารการกิน รวมไปถึงผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

ทั้งนี้ภาพรวมตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของโลก โดย Euromonitor ประเมินว่า ระหว่างปี 2564-2569 ตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของโลกจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 5.3% ซึ่งจะทำให้มูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2564 ขึ้นสู่ระดับ 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2569

ถึงแม้ว่า MSME จะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง แต่ยังถือว่าไม่ได้รับการส่งเสริมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของการแข่งขันอย่างจริงจัง โดยประเทศไทยนั้น MSME มีเพียง 1 ใน 4 ของทั้งหมดเท่านั้นที่จดทะเบียนนิติบุคคล ขณะที่อีก 3 ใน 4 มีสถานะเป็นบุคคลธรรมดาและวิสาหกิจชุมชน แสดงให้เห็นว่า MSME ไทยอาจจะยังไม่รับรู้ถึงประโยชน์ที่จะได้รับหากนำธุรกิจเข้าสู่ระบบของภาครัฐ ทำให้ขาดโอกาสในการได้รับการพัฒนาศักยภาพและสิทธิประโยชน์ต่างๆ

ดังนั้นภาครัฐควรส่งเสริมในหลายมิติ เช่น ความรู้ หรือเงินทุน โดยพบข้อมูลที่ค่อนข้างน่าตกใจว่า MSME กว่า 75% ไม่เคยยื่นขอสินเชื่อ เนื่องจากติดปัญหาในเรื่องของหลักทรัพย์ค้ำประกันมีมูลค่าน้อย หรืออาจไม่มีหลักค้ำประกัน ไม่มีประวัติการชำระเงิน หรือไม่มีการทำบัญชี ดังนั้น การเข้าถึงแหล่งเงินทุนจึงเป็นอุปสรรค เพราะถูกมองว่ามีความเสี่ยงสูง จากประวัติ และธุรกรรมทางการเงินไม่ชัดเจน และขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาหลายประเทศได้เริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบในการพิจารณาสินเชื่อ เพื่อให้ผู้ประกอบการ MSME มีเงินทุนเพียงพอในการพัฒนาศักยภาพของกิจการให้สามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง

และยังมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อก้าวข้าวอุปสรรคด้านข้อมูล และประยุกต์ใช้เทคนิคในการประมวลผล เช่น ใช้ AI กับ Big Data เข้ามาทำให้การประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของวิสาหกริจรายย่อยมีความชัดเจนมากขึ้น หรือใช้ข้อมูล electronic ในรูปแบบกาใช้โทรศัพท์ ค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคมาเทียบเคียงความสามารถในการทำกำไรและความน่าเชื่อถือของวิสาหกิจรายย่อย

ในส่วนของประเทศไทยนั้น ได้แก้ปัญหาในแง่ของการเข้าถึงแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำให้กับ SMEs มากขึ้น คือกระดานเทรด SMEs ที่ชื่อว่า LiVEx (ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์) โดยตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) ออกแบบมาเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพที่ต้องการเติบโต แต่ยังขาดโอกาสต่อยอดธุรกิจ ให้ได้มีโอกาสเข้ามาสร้างการเติบโตและก้าวไปสู่เส้นทางตลาดทุนช่วยผู้ประกอบการ

โดยที่ตลท.คาดการณ์ว่าในปี 25665-2567 จะมี SMEs และ Startup กว่า 10 บริษัทสนใจเข้าจดทะเบียน ซึ่งกลไกนี้จะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กในเรื่องของการหาแหล่งเงินทุนได้

แต่ ‘Business+’ มองว่า ในอนาคตหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะพัฒนาเครื่องมือที่สำคัญ และจำเป็นกับการยกระดับทางเศรษฐกิจสำหรับผู้ประกอบการ MSME เพื่อช่วยลดต้นทุนการพัฒนาธุรกิจให้กับผู้ประกอบการในการขยายหรือต่อยอดธุรกิจต่อไป โดยเฉพาะในช่วงที่ต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้นขึ้นอย่างต่อเนื่องเหมือนในตอนนี้

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : สสว.

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ธุรกิจ #SME #SMEs #MSME #ธุรกิจรายย่อย