เช็คลิสต์! แอปฯธนาคารไหนล่มบ่อยสุดในปี 2566

ในโลกปัจจุบันที่ผู้คนต่างหันมาทำธุรกรรมต่าง ๆ ผ่านทางโทรศัพท์มือถือแทบจะ 100% หนึ่งในธุรกรรมยอดนิยมที่แทบจะทุกคนต้องเคยใช้บริการ คือการทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงก์กิ้ง (Mobile Banking) ที่ธนาคารมีไว้ให้บริการกับบรรดาลูกค้า เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการฝาก ถอน โอน จ่ายบิล หรือแม้แต่การเปิดบัญชี ปัจจุบันประชาชนก็สามารถทำได้ด้วยตัวเองทั้งสิ้น ซึ่งนอกจากผู้ใช้บริการจะไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปยังธนาคารแล้ว ทางฝั่งผู้ให้บริการอย่างธนาคารก็ได้ลดภาระงานไปในตัวด้วย แต่อย่างไรก็ดี ปัญหาที่มักจะกวนใจบรรดาผู้ใช้บริการโมบายแบงก์กิ้งอยู่เสมอ เห็นจะหนีไม่พ้นการขัดข้องของแอปพลิเคชันที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสำคัญ อย่างเช่น วันเงินเดือนออก ทำให้ผู้ใช้บริการเกิดอาการ “หัวร้อน” ไปตาม ๆ กัน เพราะมีธุรกรรมที่ต้องทำในวันดังกล่าวหลายรายการ โดยจะเห็นได้ว่าในแต่ละปี จะมีปัญหาแอปฯล่มอยู่บ่อยครั้ง จากหลายธนาคารรวมกัน เช่นเดียวกับในปี 2566 ที่ผู้ใช้บริการก็ยังคงประสบกับปัญหานี้อยู่ ซึ่งทาง ‘ธนาคารแห่งประเทศไทย’ ได้เผยแพร่รายละเอียดไว้ในรายงาน ‘สถิติระบบเทคโนโลยีสารสนเทศขัดข้องที่กระทบต่อการให้บริการผ่านช่องทางสำคัญ’ ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ไตรมาส 1-4 ประจำปี 2566 โดย Business+ ได้นำข้อมูลดังกล่าวมาทำการจัดอันดับธนาคารที่แอปพลิเคชันโมบายแบงก์กิ้งล่มบ่อยที่สุด ดังนี้

  1. ธนาคารไทยพาณิชย์ เกิดปัญหาขัดข้องในส่วนของโมบายแบงก์กิ้งตลอดทั้งปี 2566 จำนวน 6 ครั้ง คิดเป็นระยะเวลารวม 4 ชั่วโมง
  2. ธนาคารกรุงเทพ เกิดปัญหาขัดข้องในส่วนของโมบายแบงก์กิ้งตลอดทั้งปี 2566 จำนวน 4 ครั้ง คิดเป็นระยะเวลารวม 10 ชั่วโมง
  3. ธนาคารทหารไทยธนชาติ เกิดปัญหาขัดข้องในส่วนของโมบายแบงก์กิ้งตลอดทั้งปี 2566 จำนวน 3 ครั้ง คิดเป็นระยะเวลารวม 5 ชั่วโมง
  4. ธนาคารกรุงไทย เกิดปัญหาขัดข้องในส่วนของโมบายแบงก์กิ้งตลอดทั้งปี 2566 จำนวน 2 ครั้ง คิดเป็นระยะเวลารวม 3 ชั่วโมง
  5. ธนาคารยูโอบี เกิดปัญหาขัดข้องในส่วนของโมบายแบงก์กิ้งตลอดทั้งปี 2566 จำนวน 1 ครั้ง คิดเป็นระยะเวลารวม 3 ชั่วโมง
  6. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เกิดปัญหาขัดข้องในส่วนของโมบายแบงก์กิ้งตลอดทั้งปี 2566 จำนวน 1 ครั้ง คิดเป็นระยะเวลารวม 2 ชั่วโมง
  7. ธนาคารกสิกรไทย เกิดปัญหาขัดข้องในส่วนของโมบายแบงก์กิ้งตลอดทั้งปี 2566 จำนวน 1 ครั้ง คิดเป็นระยะเวลารวม 2 ชั่วโมง

ทั้งนี้ เมื่อดูรายละเอียดในส่วนของธุรกรรมการชำระเงินผ่านบริการ Mobile Banking และ Internet Banking ณ เดือน พฤศจิกายน 2566 พบว่า มีจำนวนบัญชีลูกค้าที่ใช้บริการธุรกรรมการชำระเงินผ่าน Mobile Banking อยู่ที่ 106,439,691 บัญชี เพิ่มขึ้น 10,794,163 บัญชี เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่มีจำนวน 95,645,528 บัญชี ขณะที่ปริมาณรายการธุรกรรมอยู่ที่ 2,679,189,000 รายการ เพิ่มขึ้น 642,608,000 รายการ เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่มีจำนวน 2,036,581,000 รายการ รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 5.802 ล้านล้านบาท ลดลง 1.5 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่มีมูลค่าทั้งสิ้น 5.817 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ดี ในวันที่ 9 พ.ย. 2566 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เผยแพร่ประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology Risk) ของสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่มีการปรับปรุงแก้ไขใหม่ โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการผ่านโมบายแบงก์กิ้ง มีการกำหนดให้สถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจต้องดูแลระบบงานที่รองรับช่องทางการให้บริการผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ (mobile banking) ให้สามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่องโดยต้องหยุดชะงักไม่เกิน 8 ชั่วโมง ในรอบ 1 ปีปฏิทิน

ซึ่งหากวิเคราะห์จากหลักเกณฑ์ดังกล่าว ก็มีความเป็นไปได้ว่าในการให้บริการโมบายแบงก์กิ้งจากสถาบันการเงินต่อจากนี้ ผู้ใช้งานจะได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น เนื่องจากข้อกำหนดที่ระบุไว้ว่าต้องหยุดชะงักไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อปี อาจทำให้บรรดาผู้ให้บริการหันมาใส่ใจในคุณภาพการให้บริการมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดความผิดพลาดและขัดข้องน้อยที่สุดนั่นเอง

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

#Businessplus #TheBusinessplus #นิตยสารBusinessplus #แอปล่ม #แอปธนาคารล่ม #โมบายแบงก์กิ้ง #MobileBanking