ร้านสุกี้ MK ที่เคยเป็นเจ้าตลาดต้องเจอกับคู่แข่งใหม่ๆ ตลอดเวลา โดยเฉพาะกับร้านสุกี้ที่เป็นแบบบุฟเฟ่ในราคา 200 บาทต้นๆ ที่เข้าสู่ตลาดหลากหลายแบรนด์ ยิ่งเจอกับกลยุทธ์ทางการตลาดที่เน้นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ก็ชอบอะไรหลากหลาย เบื่อง่าย พร้อมทดลองอะไรใหม่ๆ ก็ยิ่งทำให้ยอดขายของ MK สุกี้เริ่มแผ่ว
ซึ่งก่อนจะเจอกับสงครามราคาในปีนี้ ที่ผ่านมา MK ก็เคยหาทางรอดด้วยการแตกแบรนด์ลูกออกมา เจาะกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกันมาเพื่อให้ครองตลาดได้หลากหลายกลุ่มมากขึ้น มาแล้วถึง 2 แบรนด์
ตัวแรกคือ MK Gold
ที่ก่อตั้งแบรนด์ตั้งแต่ปี 2543 ปัจจุบันมี 5 สาขา ความแตกต่างจาก MK สุกี้ คือ MK Gold ทำออกมาเพื่อตอบโจทย์คนที่มีกำลังซื้อสูง และอยากกินสุกี้คุณภาพที่ดีขึ้น ดังนั้น จึงเน้นความพรีเมียมของวัตถุดิบ และตกแต่งร้านให้มีบรรยากาศหรูหรา ส่วนใหญ่จึงอยู่ในห้างไฮเอนด์อย่าง สยามพารากอน เอสพลานาด หรือเอกมัย ราคาบุฟเฟต์อยู่ที่ 545 บาทสำหรับผู้ใหญ่ และ 275 บาทสำหรับเด็ก
แบรนด์ต่อมาคือ MK LIVE
แบรนด์นี้ทำออกมาในปี 2560 เพื่อเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพ เน้นนำวัตถุดิบจากฟาร์มสู่โต๊ะอาหารจึงได้รับความสดใหม่ และเมนูจะแตกต่างจาก MK Gold และ MK สุกี้ ที่เมนูสุขภาพ ส่วนการตกแต่งร้านจะเป็นสไตล์ฟาร์มโมเดิร์น สร้างบรรยากาศให้เหมือนได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ ตอนนี้มี 4 สาขา อยู่ในศูนย์การค้าชั้นนำอย่างเอ็มควอเทียร์ เมกาบางนา และเซ็นทรัลเวิลด์ โดยกลุ่มลูกค้าจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีกำลังซื้อกลางถึงสูง
และแบรนด์ล่าสุดที่เป็นกระแสบนสงครามราคาคือ BONUS SUKI
แบรนด์น้องใหม่ล่าสุดของ MK สุกี้บุฟเฟ่ต์ราคาประหยัด เปิดตัวสาขาแรกที่จังหวัดสระบุรี ราคาเริ่มต้นแค่ 219 บาท ไม่รวมน้ำ และ Vat ซึ่งหากรวมทั้งหมดแล้วราคาจะอยู่ที่ไม่เกิน 280 บาท/คน ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ร้านสุกี้แบรนด์ใหม่ๆ ใช้ตั้งราคามาทำการตลาดแข่งขันกัน
โดยสุกี้แบรนด์ใหม่ของ MK นี้ เจาะกลุ่มลูกค้าวัยเรียน วัยทำงาน และครอบครัวที่อยากกินอิ่มแต่ประหยัด ไม่เน้นบรรยากาศหรู แต่ได้รับการบริการไว และเดือดยิ่งกว่านั้นคือ การจัดโปรโมชั่น 1 ฟรี 1 จำกัด 100 สิทธิ์แรกต่อวันไปจนถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2568
การแตกแบรนด์ใหม่ของ MK ถือว่าเป็นกรณีที่ศึกษาที่น่าสนใจ เพราะถึงแม้จะพยายามปรับตัวด้วยการแตก 2 แบรนด์ที่ผ่านมา แต่ MK ยังยึดติดกับภาพลักษณ์การเป็นแบรนด์พรีเมียม ซึ่งอาจจะสามารถเจาะกลุ่มลูกค้าได้เพิ่มขึ้นในระดับหนึ่ง แต่มาร์จิ้น หรือกำไรสุทธิจากทั้ง 2 แบรนด์ก็ไม่มากพอที่จะทำให้ทั้งบริษัทมีภาพรวมที่ดีขึ้นได้
ยิ่งภายใต้เศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัว กำลังซื้อที่ลดลงนี้ก็ทำให้ลูกค้าหันไปหาแบรนด์ที่คุ้มค่าในแง่ของราคามากกว่า ทางรอดของ MK ในตลาดสุกี้จึงต้องหันมา จัดตั้งบริษัทใหม่เพื่อไม่ให้เสียภาพลักษณ์แบรนด์สุกี้พรีเมียมของ MK (แตกต่างกับทั้ง 2 แบรนด์ก่อนหน้านี้ที่ยังอยู่ภายใต้ MK)
เป็นที่น่าจับตามองต่อว่าหลังจาก นท็นMK แตกแบรนด์เพื่อยึดตลาดทุกระดับนั่นคือ กลุ่มพรีเมียม กลาง ล่าง ครบหมดแล้วจะช่วยกระตุ้นยอดขายให้เพิ่มสูงขึ้นได้หรือไม่ โดนในปีล่าสุด (2567) รายได้อยู่ที่ 15,418 ล้านบาท กำไร 1,442 ล้านบาท ลดลงทั้งรายได้ และกำไรสุทธิเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว
ยิ่งไปกว่านั้นคือตอนนี้แบรนด์สุกี้อย่าง ตี๋น้อย หรือ ลัคกี้ สุกี้ ก็ออกมาจัดโปรโมชั่นกระหน่ำเช่นกัน ทั้งลดราคา หรือแจกสิทธิพิเศษ ซึ่งถ้าหากการแข่งขันที่ดุเดือดนี้ยังดำเนินต่อไปแบบยาวนาน ก็จะต้องวัดกันที่เงินทุนหนาที่จะช่วยให้ทำการตลาดได้นานกว่า และมาตรฐานการให้บริการ รวมถึงวัตถุดิบที่ต้องไม่ด้อยลงไปกว่าเดิม
ที่มา : Corpus X , TTB , ศูนย์วิจัยกสิกรไทย Data Analytic : Business Plus