รายงานวิจัย “ปลดล็อคโลกเศรษฐกิจในยุคแห่งการปฏิรูปด้วยดิจิทัล” ที่จัดทำขึ้นโดยไมโครซอฟท์และไอดีซี เอเชียแปซิฟิก เผยว่าการปฎิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัล (Digital Transformation) จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นเป็นมูลค่ากว่า 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 2.82 แสนล้านบาท ภายในปี 2564 และขับเคลื่อนให้อัตราการเติบโตของ GDP เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยราว 0.4% ต่อปี
รายงานวิจัยของไมโครซอฟท์และไอดีซี ได้รวบรวมความคิดเห็นจากผู้บริหารในองค์กรขนาดกลางและใหญ่จำนวน 1,560 ท่าน ใน 15 ประเทศและเขตการปกครองทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อเผยถึงผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัล รายงานฉบับนี้ยังคาดการณ์ว่ากระบวนการการปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะดำเนินไปอย่างรวดเร็วขึ้นมากในอนาคต จากที่ในปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์และบริการที่ต่อยอดจากเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งในด้านอุปกรณ์พกพา คลาวด์ IoT (Internet of Things) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) สามารถสร้างมูลค่า GDP ให้กับประเทศไทย คิดเป็นอัตราส่วนราว 4% เท่านั้น
จากผลสำรวจ ผู้บริหารรวม 100 ท่าน ในประเทศไทย มองว่าองค์กรจะได้รับประโยชน์ 5 ประการ จากการปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัล ดังต่อไปนี้
- การพัฒนาด้านกำไร
- การพัฒนาด้านผลิตภาพ
- ทัศนคติและความผูกพันที่ลูกค้ามีให้กับองค์กร และการรักษาฐานลูกค้า
- รายได้ที่เพิ่มจากผลิตภัณฑ์และบริการที่มีอยู่แล้ว
- รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากผลิตภัณฑ์และบริการใหม่
ภายในปี 2563 องค์กรจะได้รับประโยชน์จากด้านต่างๆ เหล่านี้อีกกว่า 40% โดยเฉพาะในด้านการสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์และบริการรูปแบบใหม่
จากผลการวิจับพบว่า องค์กรในประเทศไทยมีการเริ่มปฏิรูปดิจิทัลไปแล้วว่า 82% แต่มีเพียง 7% เท่านั้นที่มีศักยภาพเพียงพอและพร้อมต่อการพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบในระดับผู้นำ องค์กรที่เป็นผู้นำจะต้องมีสัดส่วนรายได้จากผลิตภัณฑ์และบริการเชิงดิจิทัลไม่ต่ำกว่าหนึ่งในสาม โดยขณะนี้ เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยให้องค์กรในกลุ่มผู้นำนี้สามารถยกระดับประสิทธิภาพและผลงานขององค์กรได้ราว 20-30% ในแต่ละด้าน
สิ่งที่องค์กรที่เป็นผู้นำเล็งเห็น
- องค์กรกลุ่มผู้นำจะให้ความสนใจกับคู่แข่งและเทคโนโลยีใหม่ๆ มากกว่า
- ความคล่องตัวในการทำงานและวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งเน้นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญ
- วัดผลการปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัล
- องค์กรในกลุ่มผู้นำเล็งเห็นถึงและเข้าใจในอุปสรรคบนเส้นทางการปฏิรูปธุรกิจมากกว่ากลุ่มผู้ตาม
- องค์กรระดับผู้นำต่างสนใจที่จะลงทุนในเทคโนโลยี AI และ IoT
ผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมในประเทศไทยจากการปฏิรูปด้วยดิจิทัล
ในด้านผลกระทบเชิงสังคมที่สำคัญ โดยจะทำให้มีโอกาสที่เพิ่มขึ้นในด้านต่างๆ ดัังนี้
1. การเติบโตของรายได้ส่วนบุคคลผ่านการทำงานโดยอิสระและงานดิจิทัล
2. ตำแหน่งงานใหม่ที่มีรายได้เพิ่มขึ้น
3. เมืองที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นปลอดภัยขึ้นและฉลาดขึ้น
การเปลี่ยนแปลงเชิงตลาดงาน พบว่า
95% ของตลาดงานจะเปลี่ยนแปลงภายใน 3 ปีข้างหน้า
ด้วยผลกระทบจากปรากฏการณ์ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น โดยตำแหน่งงานถึง 65% จะมีมูลค่าและความต้องการด้านทักษะเพิ่มสูงขึ้น หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบไปในทิศทางใหม่ เพื่อให้ตอบรับความต้องการของสังคมยุคดิจิทัล
79% มั่นใจว่าคนรุ่นใหม่มีทักษะที่พร้อมสำหรับงานในอนาคตแล้วและพวกเขาสามารถขยับขยายไปรับมือกับตำแหน่งงานใหม่ได้
แต่สิ่งที่ท้าทายที่สุดสำหรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัลของประเทศไทย คือ ขาดทักษะ, วัฒนธรรมองค์กรและขาดความเป็นผู้นำ

ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “คนที่ adopt ในเรื่องของDigital Transformation ก่อน จะมี impact ต่อธุรกิจถึง 2 เท่าของคนที่ยังไม่ได้ adopt ในเกมดิจิทัล คนที่ได้เริ่มก่อนได้ลองก่อนจะได้เรียนรู้ได้ข้อมูลและนำมาสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาอีกได้ อย่างที่ทุกคนรู้ว่า Data เป็นสิ่งสำคัญ แต่กว่าเราจะได้ Data มาก็ต่อเมื่อเราเริ่มทำได้เริ่มลองถ้าเราไม่มี data เราก็จะไม่ได้เรียนรู้”
จากผลวิจัยทุกองค์กรมีความเห็นเหมือนกันว่า สิ่งที่องค์กรในประเทศไทยยังขาด 5 อันดับ คือ
- บุคคลากรที่สามารถมาช่วยได้ในเรื่องของดิจิทัล หรือ challenge ในการ reskill ให้กับบุคคลากรที่มีอยู่ ให้สามารถ adopt technology และสามารถใช้เทคโนโลยีให้มีประโยชน์มากขึ้นได้
- Culture วัฒนธรรม จะทำอย่างไรให้เป็นองค์กร Learning culture เป็นวัฒนธรรมที่ไม่ใช่ทำผิดแล้วโดนลงโทษ ถ้าทำสิ่งใหม่ๆ แล้วไม่ได้ผลตามที่ต้องการ แล้วโดนตำหนิ ถ้าต้องอยู่ในวัฒนธรรมองค์กรแบบนั้น innovation ไม่เกิดแน่นอน เราต้องอยู่ใน culture ที่เราสามารถเริ่มในสิ่งใหม่ๆ ทำในสิ่งใหม่ๆ หากเกิดความผิดพลาดเราได้เรียนรู้และ response ได้เร็วและได้ทำออกมาเป็นสิ่งอื่นที่ดีขึ้น
- Lack of Thought leadership สำหรับประเทศไทยปีนี้ตกลงมาเป็นอันดับ 3 จากปีที่แล้วเป็นอันดับ 2 แต่ในขณะที่ Asia pacific ปีนี้เป็นอันดับ 2
- Cyber security
- Data
แนวทางการคว้าโอกาสในยุคแห่งการปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัล
- สร้างสรรค์วัฒนธรรมเชิงดิจิทัล พัฒนาบุคคลากรให้เชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยี
- สร้างระบบนิเวศเชิงข้อมูล โดยนำข้อมูลที่มีมาวิเคราะห์ให้เกิดในมุมมองอื่นๆ
- ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงจากเรื่องเล็กไปสู่เรื่องใหญ่ภายในองค์กร
- ใช้ประโยชน์จาก AI, Big Data และ Cloud Computing ในวิเคราะห์และแก้ไขปัญหา
สำหรับองค์กรตัวอย่างที่ได้นำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับองค์กรได้อย่างดีเยี่ยมคือ การบินไทย
คุณปริยา จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการพาณิชย์ดิจิทัลและการตลาดรายได้เสริมองค์กร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่่าวว่า “การบินไทยได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ภายในองค์กร ไม่ใช่แค่เพียงเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตต่อไปเท่านั้น แต่เรายังต้องการพลิกธุรกิจให้ทันวันพรุ่งนี้ การตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง จำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจที่ลึกซึ้งในตัวลูกค้าเอง ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในทุกภารกิจของเรา”
“น้องฟ้า” แชทบอทจากเทคโนโลยี AI ที่การบินไทยได้นำมาประยุกต์ใช้ในการตอบคำถามของลูกค้า ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งใช้การพัฒนาด้วย Microsoft Bot Framework และบริการบอทสำหรับแพลตฟอร์มคลาวด์ ไมโครซอฟท์ อาซัวร์ (Azure Bot Service) ทำให้สามารถบริการลูกค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งการตรวจสอบเที่ยวบิน โปรโมชั่น บริการเสริมเช่ารถ วางแผนการเดินทาง แต่หากน้องฟ้าไม่สามารถตอบคำถามได้ระบบจะแจ้งให้ติดต่อ call center โดยตรง
3 ปีที่ผ่านมาการให้ความสำคัญกับ digital transformation ทำให้มีคนเข้าเว็บไซต์เพิ่มขึ้น 15% จากปี 2016 จำนวนกว่า 13 ล้านคน สร้างรายได้จากออนไลน์เพิ่มขึ้นกว่า 43% ซึ่งในอนาคตการบินไทยจะพัฒนาระบบให้สามารถเป็นผู้ช่วยลูกค้าได้ในทุกความต้องการโดยสามารถช่วยวางแผนการเดินทางให้เป็นรายบุคคล personal website ซึ่งในการทำเว็บโดยการจัดสรรข้อมูลให้ลูกค้าตามความต้องการนั้นเรื่องของ Data analytic สำคัญมากที่สุด เนื่องจากการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ improve customer สามารถช่วยตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุดและทำให้การบินไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นจากช่องทางออนไลน์อีกด้วย
ประเทศไทยจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้อย่างรวดเร็ว หากภาคธุรกิจและภาครัฐนำเทคโนโลยีมาปรับใช้และให้ความสำคัญกับ Digital Transformation มากขึ้น จึงจะสามารถปลดล็อคเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจโลกได้
ที่สำคัญคือ มีเพียงแค่ผู้นำในโลกธุรกิจที่รีบปรับตัวเท่านั้นจึึงจะเป็นผู้อยู่รอดในโลกธุรกิจที่กำลังถูก Disrupt