แกะสูตรบริหารธุรกิจฉบับ ‘มิชลิน’ ใช้ 3 ปัจจัยขับเคลื่อนสู่เป้าหมายจากพลังนวัตกรรม

ในโลกที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ทุกอุตสาหกรรมต้องพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ให้ก้าวล้ำอยู่เสมอ ซึ่งหลักในการออกแบบนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้เป็นอย่างดีของ ‘มิชลิน’ มาจากหลายส่วนด้วยกัน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับพวกเขา คือแนวความคิดจาก ‘คนในองค์กร’

Business+ ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ‘คุณนันทิยา พิทักษ์วงษ์ดีงาม’ ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจ B2C ประเทศไทย บริษัท สยามมิชลิน จํากัด โดยได้กล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้มิชลินประสบความสำเร็จในแง่ของการสร้างสรรค์นวัตกรรมมีอยู่หลายปัจจัยด้วยกัน

ซึ่งหนึ่งในปัจจัยหลัก คือ เรื่องของบุคลากร โดยมิชลินเป็นองค์กรที่ผลักดันให้พนักงานเสนอไอเดียใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา

“เราสนับสนุนเรื่องการแสดงความคิดเห็นของพนักงานอย่างจริงจัง โดย Innovation ต่าง ๆ ที่นำมาสร้างผลิตภัณฑ์หรือพัฒนากระบวนการทำงานต่าง ๆ มีส่วนที่ได้รับไอเดียจากพนักงาน ซึ่งมีประสบการณ์ตรง ดังนั้น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จะมาจากพนักงานในทุก ๆ สายงาน และทุก ๆ ระดับ”

ปัจจัยที่ 2 คือ การเรียนรู้จากลูกค้า โดยมิชลินศึกษาจากพฤติกรรมของผู้บริโภค และอาศัยการระดมความคิดเห็นระหว่างพนักงานร่วมกันกับลูกค้าเพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ ซึ่งปัจจัยนี้เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นเดียวกัน เพราะการศึกษาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคจะทำให้สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ได้ตรงตามความต้องการนั้น ๆ โดยใช้ Pain Point ต่าง ๆ ในการสร้างผลิตภัณฑ์ และ Solution ใหม่ ๆ ออกมาตอบตรงโจทย์

ปัจจัยที่ 3 คือ การพัฒนาองค์กรและผลิตภัณฑ์ โดยเปรียบเทียบตัวเองกับบริษัทอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นคู่แข่งในธุรกิจเดียวกันหรือแม้กระทั่งธุรกิจอื่น ๆ และนำมาพัฒนาทั้งบริการและ Solution ของตัวเองตลอดเวลา โดยมิชลินจะหาสิ่งที่ดีที่สุดแล้วนำมาปรับใช้กับองค์กร

ป้อนนวัตกรรมใหม่ พัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง
ในปี 2565 มิชลินจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและตลาด เช่น ยางสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) หรือยางที่ตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบครอบครัว ผ่าน innovation ที่ล้ำหน้าของมิชลินอยู่เสมอ โดยมิชลินจะนำเสนอนวัตกรรมเหล่านี้ให้กับลูกค้าด้วยราคาที่เหมาะสมและคุ้มค่า ในขณะเดียวกัน มิชลินได้พัฒนาเรื่องของดิจิทัลอยู่สม่ำเสมอ เช่น การใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลใหม่ ๆ ที่ช่วยให้พนักงานและตัวแทนจำหน่ายใช้งานได้ง่าย สะดวกสบาย เพื่อที่จะนำแพลตฟอร์มเหล่านี้ไปใช้กับลูกค้า เพื่อให้เกิดการสื่อสารโดยตรง หรือแสดงความคิดเห็นได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การพัฒนาสินค้าและบริการต่อไปในอนาคต

กลยุทธ์ปรับตัวสู่ความสำเร็จแม้เผชิญวิกฤต
คุณนันทิยากล่าวว่า แม้จะมีวิกฤตหรือไม่มีวิกฤต มิชลินไม่ได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทั้งหมด หากแต่เน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมุ่งไปใน 3 ส่วนหลัก คือ ผู้คน (People) ผลประกอบการ (Profit) และผืนโลก (Planet)

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เกิดวิกฤต มิชลินได้ดูแลลูกค้าและพนักงาน ซึ่งทำให้ลูกค้าและพนักงานมองว่ามิชลินค่อนข้างมั่นคง เพราะสามารถบริหารจัดการได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลในช่วงที่พนักงาน Work From Home รวมไปถึงดูแลเรื่องสุขภาพของลูกค้า หรือแม้กระทั่งการดูแลผลประโยชน์ให้ลูกค้า

“ตัวแทนขายหรือลูกค้ามีต้นทุนในการบริหารจัดการ ซึ่งที่ผ่านมาเราช่วยเหลือด้วยการดูว่าอะไรคือ Win-Win Solution หรือเป็นจุด Balance ที่เราจะสามารถช่วยดูแลด้านการเงินเพื่อให้ลูกค้าของเราประคองธุรกิจตัวเองไปได้”

ขณะที่ในช่วงวิกฤตเงินเฟ้อ มิชลินมองว่าเรื่องของผลกำไรเป็นสิ่งสำคัญ เพราะสินค้าทุกอย่างขึ้นราคา มิชลินจึงต้องรักษาผลกำไรของบริษัท โดยหนึ่งในกลยุทธ์ที่ใช้คือการพัฒนา Innovation ที่เหมาะสม และคุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายของลูกค้า

“เราผ่านวิกฤตมามากจนทำให้รู้ว่าเรื่องของ Innovation คือสิ่งที่จะทำให้เราสามารถอยู่ได้ ดังนั้น เมื่อเรามี Innovation เราต้องมาหาจุดที่ Balance ระหว่างต้นทุนที่เพิ่มขึ้นกับ Innovation โดยเราจะหลีกเลี่ยงการทำราคา เพราะราคาไม่ได้บ่งบอกถึง Value ที่แท้จริงของผลิตภัณฑ์ แต่สิ่งที่เราจะมอบให้ลูกค้าคือผลิตภัณฑ์และประสบการณ์ที่ดีเยี่ยม มากกว่าจะให้แค่ด้านของราคา”

ความท้าทายของอุตสาหกรรมยาง
หนึ่งในความท้าทายของอุตสาหกรรมยางคือการตอบสนองความต้องการในตลาดให้ได้ทันเวลา เพราะการผลิตยางต้องใช้เวลานาน ดังนั้น เมื่อความต้องการยางเริ่มฟื้นตัวทั่วโลก มิชลินจึงต้องพัฒนาการผลิตให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้า ด้วยการเพิ่มกำลังการผลิต หนึ่งในแผนคือ การใช้กลยุทธ์ผลิตในประเทศ (Local to Local) เพื่อลดระยะเวลาในการขนส่ง และยังช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการขนส่ง โดยสิ่งที่จะได้รับจากกลยุทธ์นี้คือ การบริการลูกค้าอย่างรวดเร็ว และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม โดยมิชลินตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า ภายในปี 2030 จะมีสินค้าที่เป็น Local to Local ประมาณ 80% จากปัจจุบันอยู่ราว 30-40%

อีกหนึ่งความท้าทายคือ การเพิ่มผลิตภัณฑ์ยางให้มีความหลากหลายมากขึ้น ดังนั้น มิชลินต้องวางแผนว่าจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงกระจายสินค้าอย่างไร เพื่อให้ตัวแทนจำหน่ายและลูกค้าได้รับสินค้าที่ตรงตามความต้องการ รวมไปถึงการช่วยบริหารจัดการสินค้าใน Stock ให้มีความเหมาะสม

“เรามองว่าสิ่งที่ท้าทายของอุตสาหกรรมยางเป็นโอกาสมากกว่า เพราะเราต้องมอบ Innovation ใหม่ ๆ ที่ยังสามารถวิ่งนำคู่แข่งในอุตสาหกรรมยางด้วยกันให้ได้ โดยเฉพาะในช่วงที่อุตสาหกรรมยานยนต์ถูกพัฒนานวัตกรรมให้เป็น Electronic มากขึ้น”

‘มิชลิน’ มุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่สิ่งแวดล้อม
คุณนันทิยา กล่าวว่า ปี 2022 เป็นปีแรกที่ผู้บริหารของมิชลินทั้งในไทยและระดับโลก ได้ตั้งเป้าหมายให้กับพนักงานทุกคนในบริษัทในด้านสิ่งแวดล้อม เช่น อัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ หรืออัตราการใช้พลังงานน้ำและไฟฟ้า โดยการตั้งเป็น Achieve Company Goal ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม

ขณะที่ในห่วงโซ่การผลิตนั้น มิชลินผลักดันให้พันธมิตรทั้ง Business Chain คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การป้อนวัตถุดิบไปจนถึงการส่งมอบสินค้าให้กับผู้ใช้ โดยต้องคำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด นอกจากนี้ ในฝั่งของการขายสินค้า ทางมิชลินเองยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนมาใช้รถพลังงานไฟฟ้า รวมไปถึงฝั่งการผลิตที่มิชลินปรับปรุงกระบวนการ และพัฒนาเพื่อให้ประหยัดพลังงานได้มากที่สุด
ทั้งหมดนี้คือเป้าหมายที่มิชลินตั้งเป้าเอาไว้ในอนาคต จะเห็นได้ว่ามิชลินเป็นบริษัทที่เปิดรับนวัตกรรมใหม่ ๆ และพร้อมที่จะพัฒนาตัวเอง ด้วยการตั้งเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุดบริษัทหนึ่ง

นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้มิชลินสามารถคว้ารางวัล THAILAND TOP COMPANY AWARDS 2022 ประเภทความเป็นเลิศ “TOP INNOVATIVE COMPANY AWARD” ไปครอง

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : สัมภาษณ์บริษัท สยามมิชลิน จํากัด

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #สยามมิชลิน #ตลาดยาง #ยางรถยนต์ #อุตสาหกรรมยาง