MGI

MGI จะขยายธุรกิจต่อยังไง? ได้อะไรจากการซื้อหุ้น SABUY

บอร์ด บมจ.มิสแกรนด์อินเตอร์เนชั่นแนล (MGI) ได้ประกาศแผนธุรกิจ และการลงทุนที่ถือว่าเป็นอีกหนึ่งข่าวใหญ่ออกมาในวันนี้ (1 เม.ย.2567) นั่นคือ การที่คณะกรรมการอนุมัติเข้าซื้อหุ้น บมจ.สบาย เทคโนโลยี (SABUY) ซึ่งจะเห็นได้ว่าทั้ง 2 บริษัทนั้นมีธุรกิจที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

โดย MGI เป็นบริษัทที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค รู้จักกันดีกับการเป็นเจ้าของเวที ‘มิสแกรนด์’ (ถึงแม้จะมีรายได้หลักจากการขายน้ำพริก) ส่วน SABUY นั้น เป็นบริษัท เทคโนโลยี ที่เริ่มแรกจากให้บริการระบบตู้เติมเงิน

ซึ่งทาง MGI ระบุว่าจะเข้าซื้อหุ้นของ SABUY ทั้งหมด 30,000,000 หุ้น (1.70%) ที่ราคาหุ้นละ 4.5 บาท (ราคาปิดก่อนวันประกาศดีลอยู่ที่ 4.40 บาท) รวมใช้เงินทั้งหมด 135,000,000 บาท โดยที่ MGI จะใช้เงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทฯ เข้าซื้อ

ภายหลังจากการเข้าซื้อ MGI จะมีอำนาจตัดสินใจในการดำเนินงานของ SABUY ด้วยการส่งบอร์ดเข้าร่วม 1 ราย และสามารถส่งบุคลากรที่เหมาะสมเข้าไป ดำรงตำแหน่ง รองประธานกรรมการบริหารของ SABUY ได้ และหลังจากทำธุรกรรมเสร็จทาง MGI ก็จะเริ่มแผนต่อยอดธุรกิจทันที เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจหลากหลายช่องทางมากขึ้น

โดยสรุปได้ทั้งหมด 9 ข้อ คือ

1. เป็นช่องทางการขายสินค้าในเครือบริษัทฯ ผ่าน ตู้ Vending กว่า 13,000 จุดทั่วประเทศของ SABUY

2. ช่องทางการขายสินค้าผ่านระบบ Direct Sales

3. ช่องทางการขายผ่านระบบ Telesales

4. ร่วมใช้ระบบการเงิน Sabuy Money และ Wallet

5. ระบบการเงินอื่นๆ ระบบ ผ่อนสบาย, P Loan และ Nano Loan

6. ระบบการจัดการฐานข้อมูลลูกค้า และ Digital Data ขนาดใหญ่ ที่เป็นฐานลูกค้าของกลุ่ม ‘สบาย เทคโนโลยี’

7. ระบบการจัดส่ง และ Fulfillment – Sabuy Speed กว่า 21,000 จุด ทั่วประเทศ

8. การใช้ Infrastructure และ Ecosystem ทางธุรกิจ เพื่อขยายธุรกิจเข้าสู่ระดับภูมิภาค

9. Media channel Outlet ผ่านเครื่อข่ายตู้เติมเงิน และ Vending รวมกว่า 70,000 จุด ทั่วประเทศ

ทั้งนี้เป็นที่น่าจับตามองต่อว่า การเข้าถือหุ้นครั้งนี้จะทำให้เกิดการ Synergy ร่วมกันได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งที่ผ่านมา MGI ถือว่าเป็นบริษัทที่มีการเติบโตของกำไรสุทธิสูง โดยในปี 2566 มีกำไรสุทธิมากถึง 119.25 ล้านบาท จากปี 2565 อยู่ที่ 47.85 ล้านบาท

ส่วน SABUY นั้น ในปี 2566 มีผลขาดทุนสุทธิ 189.83 ล้านบาท และมีประเด็นของการลาออกจากตำแหน่งของ CEO อย่างคุณชูเกียรติ รุจนพรพจี หลังจากที่ทำผลงานได้ไม่เข้าเป้า

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับ MGI ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/mgi/

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ที่มา : SET , SEC
ติดตาม Business+ ได้ที่ Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS