ยกระดับประสบการณ์ผ่านสิ่งที่เรียกว่า Metaverse

“Metaverse คือ การยกระดับประสบการณ์ต่างๆ ในโลกเสมือนให้กลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้มากขึ้น ในอนาคต Metaverse จะเข้ามามีบทบาทและอยู่ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ แต่ไม่ได้เข้ามาแทนที่ เป็นเพียงการซ้อนทับกันระหว่างโลกเสมือนกับโลกในความเป็นจริงเท่านั้น”

คุณฐานันดร บุญวิเศษรณกร แอดมินกลุ่ม Metaverse Siam ให้มุมมองไว้ว่า สมัยก่อนยังไม่มีการนิยามอย่างชัดเจนว่าสิ่งนี้ คือ โลกเสมือน แต่มีสิ่งที่เหมือนโลกเสมือน คือ เกมออนไลน์ ซึ่งมีมานานแล้ว แต่เพิ่งเริ่มเป็นที่รู้จักเมื่อ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก เจ้าของแพลตฟอร์ม Facebook ที่ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta ประกาศว่าพร้อมมุ่งสู่การเป็น Metaverse โดยให้มุมมองไว้ว่า “Metaverse คือ การที่ผู้ใช้เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ มีประสบการณ์ร่วม และขยายประสบการณ์นั้นให้สามารถจับต้องได้มากขึ้น”

โดย คุณฐานันดร ได้สรุปนิยามของ Metaverse ไว้ว่า “เป็นการสร้างประสบการณ์ในโลกเสมือน เหมือนเป็นอีกจักรวาลหนึ่งที่ผู้ใช้สามารถเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์หรือมีตัวตนได้ อาจไม่ได้ถูกจำกัดแค่ในโลกของเกมเพียงเท่านั้น อย่างการประชุมผ่านโปรแกรม Zoom ก็สามารถเป็น Metaverse ได้ในอีกรูปแบบหนึ่ง”

การสร้างประสบการณ์ของผู้ใช้งานในโลกเสมือนนั้น เทคโนโลยีมีส่วนสำคัญในการเข้ามาปลั๊กอินกับ Metaverse ให้กลายเป็นฟีเจอร์หนึ่งที่สามารถยกระดับประสบการณ์ของผู้ใช้ให้มีความหลากหลายและช่วยให้ Metaverse เสมือนจริงมากขึ้น ซึ่ง คุณฐานันดร ได้ให้มุมมองในเรื่องของการพัฒนาของเทคโนโลยีไว้อยู่ 4 เฟส ได้แก่

เฟสแรก คือ การวิจัยและพัฒนา (R&D) ของเทคโนโลยี แต่อาจยังไม่ได้มีการใช้งานจริง

เฟสที่สอง คือ เฟสที่เริ่มมีการใช้งานแล้ว แต่ยังไม่ได้แทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน

เฟสที่สาม คือ เฟสที่ทุกคนสามารถใช้เทคโนโลยีนั้นกันอย่างแพร่หลาย เข้าถึงได้ทุกคน

และเฟสสุดท้าย คือ ช่วงท้ายสุดของเทคโนโลยีนั้น โดยแทบจะไม่มีผู้ใช้งานแล้วในปัจจุบัน

“ผมมองว่า Metaverse ยังอยู่ในเฟสแรก ซึ่งผู้ใช้ทั่วไปยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้ามา และเป็นช่วงที่ฝุ่นกำลังคลุ้งอยู่ หมายความว่า ยังไม่สามารถเห็นภาพได้ที่ชัดเจนว่า Metaverse จะเป็นไปในทิศทางใด ทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งหลายคำถามในตอนนี้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนนัก”

ส่วนการเชื่อมโยงของภาคธุรกิจกับ Metaverse นั้นขึ้นอยู่กับการจินตนาการทางการตลาดว่าจะกระโดดเข้าไปในธุรกิจนั้นอย่างไร ทั้งนี้ คุณฐานันดร ได้ให้คำแนะนำสำหรับนักลงทุนที่ต้องการเข้าสู่โลก Metaverse ไว้ว่า ช่วงนี้ยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมนัก โดยเฉพาะหากไม่ได้อยู่ในสายเทคโนโลยีแนะนำว่าให้นักลงทุนหาความรู้ในส่วนนี้ก่อน ก่อนที่จะเริ่มลงทุนด้วยเม็ดเงินจริง นอกจากนี้ยังขยายความเพิ่มเติมของ Metaverse ที่นักการตลาดมักนำมาใช้ในเชิงธุรกิจว่า

“ในมุมของนักการตลาดอาจมองว่า สมมติเปลี่ยนคำว่า Multimedia Learning Center เป็น Metaverse คำนี้จะดูมีมูลค่าทางการตลาดขึ้นมาทันที ทั้งที่ความหมายแท้จริงแล้วมีลักษณะเดียวกัน แต่หากคำนี้ถูกกำหนดขึ้นเป็น Buzzword ใหม่ในเชิงการตลาด แล้วสามารถทำเงินหรือมีศักยภาพในการสร้างรายได้ และมีอิทธิพลส่งไปถึงลูกค้า ก็สามารถทำได้เหมือนกัน แต่ในมุมของผู้พัฒนาอาจมองว่าเทคโนโลยีนี้กับเทคโนโลยีที่กำลังพูดถึงคือคนละอย่างกัน”

สำหรับการมาถึงของ Metaverse นั้นขึ้นอยู่ปัจจัยสำคัญ คือ อุปกรณ์ในการรองรับ (Device) ที่เข้าไปช่วยเสริมประสบการณ์ในการใช้งานให้มีความเสมือนจริงมากขึ้น “ผมมองว่าเร็วสุดที่ Metaverse จะเริ่มเข้าสู่ผู้ใช้งานทั่วไปคือ 5 ปีนับจากนี้ และจะเป็นที่นิยมในอีก 10 ปี สำหรับการพัฒนาต้องอาศัยหลายองค์ประกอบ เช่น คุณภาพฮาร์ดแวร์ เทคโนโลยีแว่นตา สมาร์ทโฟน หรืออินเทอร์เน็ตเองก็มีส่วนเกี่ยวข้อง ดังนั้น ถ้าทุกอย่างได้รับการพัฒนาไปพร้อมกันๆ ก็จะมีส่วนช่วยให้ Metaverse สามารถพัฒนาไปได้ไกล”

ปัจจุบัน Metaverse ยังไม่ได้มีการควบคุมอย่างเหมาะสม แต่เริ่มมีหลายบริษัท Tech รวมตัวกันก่อตั้ง Metaverse Standard เพื่อมากำหนดมาตรฐานและทิศทางของ Metaverse ในอนาคต ทั้งในแง่ของการทำธุรกิจและการปกป้องผู้ใช้งานในโลกเสมือนด้วย โดยคุณฐานันดรได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า

“เรื่องของ Cyber Bully ในโลกอินเทอร์เน็ต แม้จะไม่ได้เกิดขึ้นทางด้านร่างกาย แต่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในด้านจิตใจและอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายได้เหมือนกัน ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดในการใช้งานโลกเสมือนหรือ Metaverse คือ การคำนึงถึงผลที่ตามมา ว่าจะไม่ไปผลกระทบทั้งต่อร่างกายและจิตใจของผู้ใช้งานจริง”

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความเรื่อง “Metaverse คืออะไร ทำความเข้าใจให้ตรงกัน” จากเว็บไซต์ ICHI สามารถอ่านบทความฉบับเต็มต่อได้ที่ ICHI Website : https://bit.ly/3QFlj7t