มองทะลุ Metaverse สู่ความได้เปรียบเชิงธุรกิจ

“ในมุมมองของผมมองว่า เทคโนโลยีจะมีช่วงเวลาของการพัฒนา ปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญ นับตั้งแต่ที่ไอโฟนถือกำเนิดขึ้นมาเป็นครั้งแรก ตอนนั้นเราไม่รู้เลยว่าการมีแอปพลิเคชันต่าง ๆ ในแอปสโตร์ จะเป็นแหล่งที่มีมูลค่ามหาศาลและเข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคไปโดยสิ้นเชิง ทุกวันนี้ แอปพลิเคชันต่าง ๆ เหล่านั้นเข้ามามีบทบาทและอิทธิพลกับเราตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน ปัจจุบัน Metaverse เองก็ถือเป็นช่วงเวลาที่เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่อีกครั้ง มาสู่ช่วงของโลกใบใหม่ที่เรียกว่า Metaverse”

คุณณัฐเศรษฐ์ ไตรทิพย์เจริญชัย Chef Metaverse Officer บริษัท แบรนด์เวิร์ส จำกัด และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจโนไซส์ ดิจิทัล กรุ๊ป ได้ให้นิยามของโลกใบใหม่นี้ว่า

“Metaverse หรือเมตาเวิร์ส คือ โลกเสมือน เป็นยุคถัดไปจากยุคของอินเทอร์เน็ต (Next Generation of the internet) หมายความว่า ปัจจุบันเวลาที่เราใช้อินเทอร์เน็ตเรามีปฏิสัมพันธ์ผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือจอโทรศัพท์ แต่ Metaverse ไม่ได้เป็นเพียงแค่การสัมผัสที่หน้าจอ แต่เป็นการที่เราเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์หรือกระโดดเข้าไปมีส่วนร่วมในอินเทอร์เน็ตนั้น ๆ โดยเราสามารถสร้างตัวตนที่สองในรูปแบบที่เราต้องการ แล้วเข้าไปดื่มด่ำกับประสบการณ์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่โลกเสมือนใบนั้นมอบให้”

คุณณัฐเศรษฐ์ มองว่าโลกเสมือนมีข้อดีหลายอย่าง โดยอ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติมจากการวิเคราะห์ข้อมูล โดย Hummingbirds Consulting Co., Ltd. ดังนี้

  1. Distance Limitation หรือการลดข้อจำกัดด้านระยะทาง เช่น วงการบันเทิงเกาหลีให้แฟนคลับชาวไทยสามารถเข้ามาทักทายดาราศิลปินในโลกเสมือนได้
  2. Ability Limitation หรือการลดข้อจำกัดด้านความสามารถ เช่น ในการสอนนักศึกษาแพทย์ผ่าตัด อาจทำได้ไม่ทั่วถึง เพราะ ปริมาณนักศึกษามีมากกว่าอาจารย์ใหญ่ เทคโนโลยีสามารถที่จะช่วยลดข้อจำกัดส่วนนี้ โดยการจำลองตัวอย่างการผ่าตัดไปไว้บนโลกเสมือนจริง
  3. Future Limitation หรือการลดข้อจำกัดในอนาคต เช่น องค์การนาซาทำการจำลองการใช้ชีวิตนอกโลกบนโลกเสมือน ให้คนบนโลกสามารถที่จะได้เห็นภาพการใช้ชีวิตจริง ๆ นอกโลกได้ ซึ่งในชีวิตไม่สามารถทำได้
  4. Time Limitation หรือการลดข้อจำกัดด้านเวลา เช่น การจำลองสถานที่ย้อนยุคบนโลกเสมือน ให้ทุกคนสามารถย้อนเวลากลับไปท่องอดีตได้
  5. Imagination Limitation หรือการลดข้อจำกัดด้านการจินตนาการ เช่น ธุรกิจต้องการจำลองรูปแบบต่าง ๆ บนโลกเสมือน เพื่อให้ลูกค้าสามารถจินตนาการและนึกภาพตามการจำลองนั้น ๆ ได้
  6. Product Experience Limitation หรือการลดข้อจำกัดด้านประสบการณ์การใช้งาน เช่น ธุรกิจคอนโดมิเนียม ให้ลูกค้าทดลองใช้ชีวิตในห้องที่ต้องการซื้อผ่านโลกเสมือน ก่อนคอนโดสร้างเสร็จได้

“Metaverse ไม่ได้เป็นแค่เทรนด์ แต่มันคือ อุตสาหกรรมใหม่ ที่เรียกว่า New S-Curve ซึ่งเห็นได้จากการที่บริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ และลงมาเล่นในตลาดนี้กันมากขึ้น แม้แต่ Facebook เอง ก็ได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta พร้อมลงทุนจำนวนมหาศาลในการเข้าสู่โลกเสมือนใบนี้ ทาง Ark-Invest บริษัทลงทุนระดับโลกได้คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมใหม่นี้ จะสามารถสร้างมูลค่าได้มากถึง 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2025 และมีการเติบโตประมาณปีละ 59%”

อย่างในประเทศญี่ปุ่นมีการทำโครงการชื่อว่า Cybernetic Avatars ซึ่งเป็นโครงการของภาครัฐเพื่อให้คนญี่ปุ่นสามารถมีชีวิตใหม่ที่หลุดพ้นจากข้อจำกัดเดิม ๆ ในโลกความเป็นจริง สู่การมีตัวตนที่สองในโลกเสมือนได้ภายในปี 2050 ทางประเทศเกาหลีเองก็มีการทำ Seoul Metaverse ที่ให้คนเกาหลีสามารถเข้ามาทำธุรกรรมกับภาครัฐได้ทั้งหมด รวมถึงการจัดงานอีเวนต์เพื่อส่งออก Soft Power ให้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงได้ไม่ว่าอยู่ที่ใดก็ตาม

สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าสู่อุตสาหกรรม Metaverse คุณณัฐเศรษฐ์ ได้แนะนำไว้ว่าสิ่งแรกที่ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญ คือ การย้อนกลับมายังจุดประสงค์ทางธุรกิจว่าอยากเข้ามายัง Metaverse ด้วยจุดประสงค์ใด ซึ่งแบ่งจุดประสงค์ออกเป็น 3 แบบด้วยกัน ได้แก่ จุดประสงค์แรกต้องการเข้าสู่ Metaverse เพื่อทำการตลาดหรือการ PR  จุดประสงค์ที่สอง ต้องการทำให้ธุรกิจบนโลกความเป็นจริงไปอยู่บนโลกเสมือนด้วย หรือจุดประสงค์ที่สาม คือ การมองหาโอกาสทางธุรกิจหรือโมเดลการตลาดใหม่ ๆ ซึ่งผู้ประกอบการต้องแน่ใจก่อนว่าจุดประสงค์ทางธุรกิจที่แท้จริงคืออะไร แล้วค่อยลงทุนตามวัตถุประสงค์นั้น ๆ

และธุรกิจควรรอหรือก้าวเข้าสู่ Metaverse เลยดี เป็นสิ่งที่หลายคนให้ความสงสัย สำหรับคุณณัฐเศรษฐ์ มองว่านี่คือโอกาสที่อยากให้ผู้ประกอบการคว้าไว้ “การลงทุนเข้าสู่ Metaverse ราคาไม่ได้แพงอย่างที่คิด ถึงแม้การลงทุนในเทคโนโลยีจะเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างสูง แต่ทางแบรนด์เวิร์สเองเราอยู่กับเทคโนโลยีนี้มานาน เรามีระบบเซิร์ฟเวอร์และเทคโนโลยีที่พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการเพิ่มด้วย ซึ่งถ้าเทียบมูลค่าของการลงทุนในตอนนี้กับผลตอบแทนที่ได้รับในอนาคต ก็ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามาก”

 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความเรื่อง “Metaverse Trend สู่อุตสาหกรรมใหม่ New S-Curved” จากเว็บไซต์ ICHI สามารถอ่านบทความฉบับเต็มต่อได้ที่ ICHI Website : https://bit.ly/3SdDfaB