‘Gottlieb Daimler’ จากเด็กฝึกทำปืน สู่ผู้ก่อตั้งแบรนด์รถหรู Mercedes-Benz

หากจะกล่าวถึงแบรนด์รถหรู เชื่อว่าหนึ่งในชื่อแรก ๆ ที่หลายคนนึกถึง คงหนีไม่พ้น Mercedes-Benz’ จากประเทศเยอรมนี ที่มีประวัติมาอย่างยาวนานร่วม 100 ปี และครองใจผู้ใช้รถจนถึงปัจจุบัน

โดย Mercedes-Benz’ เป็นการควบรวมกิจการ ระหว่าง 2 บริษัท ได้แก่ ‘Daimler-Motoren-Gesellschaft’ ซึ่งก่อตั้งโดย ‘Gottlieb Daimler’ และ ‘Benz & Cie.’ ก่อตั้งโดย ‘Carl Benz’ ที่ต่างก็ถือเป็นตำนานแห่งวงการยานยนต์ด้วยกันทั้งคู่ ซึ่งกว่าจะมาเป็นแบรนด์ Mercedes-Benz’ ที่โด่งดังจนถึงทุกวันนี้ ทั้งสองบริษัทต่างก็ผ่านเรื่องราวมากมายและช่วงเวลาที่ยากลำบากมาไม่น้อย ไม่เว้นแม้กระทั่งตัวของผู้ก่อตั้งเอง ที่กว่าจะก่อร่างสร้างบริษัทขึ้นมาให้เป็นรูปเป็นร่างได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน

และในวันนี้ Business+ ได้หยิบยกเอาประวัติที่น่าสนใจของหนึ่งในผู้ก่อตั้งอย่าง ‘Gottlieb Daimler’ ที่จากเดิมเป็นเพียงแค่เด็กฝึกงานในตำแหน่งช่างทำปืน แต่ด้วยความใฝ่รู้และมุมานะอันแรงกล้าก็ผลักดันให้เขาเป็นกลายมาเป็นเจ้าของบริษัทยานยนต์ระดับตำนานได้สำเร็จ

‘Gottlieb Daimler’ เป็นชายชาวเยอรมัน เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1834 มีวิถีชีวิตเฉกเช่นคนทั่ว ๆ ไป โดยในวัยเรียน ‘Daimler’ ได้เข้าฝึกงานในตำแหน่งช่างทำปืนในเมือง Schorndorf ประเทศเยอรมนี ในช่วงปี ค.ศ. 1848-1852 จากนั้นได้ไปใช้ชีวิตและทำงานอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งที่นี่ทำให้ ‘Daimler’ ได้รับประสบการณ์ด้านวิศวกรรมเครื่องกล ต่อมาจึงได้เข้าศึกษาต่อที่ Stuttgart Institute of Technology ระหว่างปี ค.ศ. 1857-1859 จากนั้นได้ทำงานเพิ่มเติมในด้านเทคนิคในประเทศฝรั่งเศสและอังกฤษ ต่อมาในปี ค.ศ. 1863 เข้าทำงานเป็นผู้ตรวจสอบการประชุมเชิงปฏิบัติการที่โรงงานวิศวกรรมของ Bruderhaus Reutlingen ซึ่งที่นี่ทำให้ได้รู้จักกับ ‘Wilhelm Maybach’ จากนั้นในปี ค.ศ. 1868 ‘Daimler’ ได้แต่งงานกับ ‘Emma Kurtz’ และได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงงานของ Maschinenbau-Gesellschaft Karlsruhe ต่อมาในปี ค.ศ. 1872 ได้ร่วมงานกับ Gasmotorenfabrik Deutz ในตำแหน่งผู้จัดการด้านเทคนิค และที่นี่เองทำให้ ‘Daimler’ ได้รับความรู้อย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับหลักการสี่จังหวะของ ‘Nikolaus August Otto’ และลาออกจากบริษัทในปี ค.ศ. 1882 หลังมีความเห็นที่แตกต่างจากฝ่ายบริหาร

ต่อมาในปีเดียวกันนี้ ‘Daimler’ ได้ซื้อวิลล่า Cannstatt villa ซึ่งมีเนื้อที่เป็นสวนขนาดใหญ่พร้อมเรือนกระจกซึ่ง ‘Daimler’ ได้ดัดแปลงเป็นโรงปฏิบัติงานและสถานีทดสอบ และทำงานร่วมกับ ‘Wilhelm Maybach’ เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาเครื่องยนต์สี่จังหวะที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมัน โดย ‘Daimler’ และ ‘Maybach’ เริ่มทำงานกับเครื่องยนต์สี่จังหวะความเร็วสูงที่มีน้ำหนักเบาเครื่องแรก ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ทดลองขนาดเล็กในแนวนอน ในปี ค.ศ. 1883 ที่มีกำลัง 0.25 แรงม้า (0.18 กิโลวัตต์) ที่ 600 รอบต่อนาที อย่างไรก็ดี ต่อมาในปี ค.ศ. 1884 ‘Daimler’ และ ‘Maybach’ ได้ผลิตเครื่องยนต์ทดลองที่มีกระบอกสูบตั้งตรงที่ออกแบบให้มีขนาดกะทัดรัดและน้ำหนักเบา และได้รับการตั้งชื่อตามรูปร่างว่า ‘นาฬิกาคุณปู่’ โดยเครื่องยนต์นี้เป็นพื้นฐานสำหรับการติดตั้งในรถยนต์

อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการทดลองนั้น มีค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก ซึ่งในการที่จะหารายได้มารองรับค่าใช้จ่ายดังกล่าว จำเป็นต้องหาพันธมิตรทางธุรกิจ ‘Daimler’ จึงได้ก่อตั้งบริษัท ‘Daimler-Motoren-Gesellschaft’ หรือ ‘DMG’ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1890 ร่วมกับ ‘Max Duttenhofer’ และหุ้นส่วนธุรกิจอีกราย คือ ‘Wilhelm Lorenz’

ในขณะที่ทุกอย่างดูเหมือนกำลังไปได้ดี แต่ความจริงแล้วกลับมีข้อพิพาทขึ้นภายในบริษัทร่วมทุน เนื่องจาก ‘Duttenhofer’ ต้องการผลิตเครื่องยนต์แบบอยู่กับที่ ขณะที่ ‘Daimler’ เลือกที่จะมุ่งเน้นไปที่การผลิตรถยนต์ ทำให้บรรยากาศภายในบริษัทเป็นไปอย่างไม่ราบรื่นนัก และในที่สุดคนสนิทอย่าง ’Maybach’ ก็ได้ลาออกจากบริษัทในปี ค.ศ. 1891 เนื่องจากเงื่อนไขในสัญญาที่ยอมรับไม่ได้

อย่างไรก็ดี ‘Daimler’ ยังคงสร้างเครื่องยนต์กับ ’Maybach’ ต่อไปอย่างเงียบ ๆ โดยสิทธิบัตรทั้งหมดเป็นชื่อของ ‘Daimler’ ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดมากขึ้นกับ ‘Duttenhofer’ และ ‘Lorenz’ ทำให้ทั้งสองกีดกัน ‘Daimler’ ในฐานะผู้ถือหุ้น ขณะเดียวกัน สถานการณ์ทางการเงินภายในบริษัทก็กำลังแย่ลง ทําให้การพัฒนาเทคโนโลยีหยุดชะงัก ทำให้ ‘DMG’ พยายามคืนตำแหน่งให้กับ ‘Maybach’ ในปี ค.ศ. 1895 แต่ ‘Maybach’ ปฏิเสธคำเชิญดังกล่าว พร้อมทั้งกล่าวว่าจะไม่กลับมาหากไม่มี ‘Daimler’ และในที่สุด ด้วยแรงกดดันทางธุรกิจส่งผลให้ ‘Daimler’ และ ‘Maybach’ กลับมาที่บริษัท พร้อมเครื่องยนต์ ‘Phoenix’ ที่สร้างโดย ‘Maybach’ ซึ่งต่อมาได้รับความนิยมในต่างประเทศเป็นอย่างมาก โดยกลุ่มนักอุตสาหกรรมชาวอังกฤษพร้อมจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์จำนวน 350,000 ให้กับเครื่องยนต์นี้ ส่งผลให้ ‘Maybach’ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการด้านเทคนิคของ ‘DMG’ ขณะที่ ‘Daimler’ ได้รับตำแหน่งคณะกรรมการด้านเทคนิค และกลายเป็นผู้ตรวจการของคณะกรรมการกำกับดูแล โดยการกลับมาสู่ ‘DMG’ ของทั้งสอง ถือเป็นการเสริมทัพที่คาดไม่ถึงสำหรับบริษัท

อย่างไรก็ดี ‘Daimler’ สนุกกับการพัฒนาได้เพียงไม่นานก็เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจเมื่อวันที่ 6 มีนาคม ปี ค.ศ. 1900 โดยไม่ทันได้เห็นหนึ่งในการออกแบบรถยนต์ที่โดดเด่นที่สุดที่ ‘Maybach’ ผลิตให้กับบริษัทร่วมทุนแห่งนี้ ภายใต้แบรนด์ ‘Mercedes’ ซึ่งถือเป็นรถยนต์คันแรกของแบรนด์ที่สร้างความตื่นเต้นอย่างมากในงาน ‘Nice Race Week’ เมื่อเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 1901 ซึ่งเป็นรถที่ทรงพลัง, น้ำหนักเบา, มีจุดศูนย์ถ่วงต่ำ และโดดเด่นกว่ารถที่สร้างก่อนหน้านี้ทั้งหมด โดย ‘Mercedes 35 HP’ เป็นการออกแบบรถยนต์อิสระ และเป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดของยุครถม้า โดยการพัฒนาและออกแบบรถยนต์สมัยใหม่คันแรกนั้นไม่ได้เกิดจากความอัจฉริยะของ ‘Wilhelm Maybach’ เพียงคนเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความคิดริเริ่มของ ‘Emil Jellinek’ ด้วย

โดย ‘DMG’ ถือสิทธิบัตรสำหรับชื่อแบรนด์ ‘Mercedes’ นับตั้งแต่เดือนกันยายน ปี ค.ศ. 1902 แต่ยังขาดเครื่องหมายการค้าที่โดดเด่น ตอนนั้นลูกชายของ ‘Daimler’ ได้แก่ ‘Paul’ และ ‘Adolf’ จำได้ว่าก่อนหน้านี้พ่อของพวกเขาเคยใช้ดาวเป็นสัญลักษณ์มาก่อน ทำให้คณะกรรมการบริหารของ ‘DMG’ ทำตามแรงบันดาลใจนี้ และต่อมาในเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 1909 ได้จดทะเบียนทั้งดาว 3 แฉกและ 4 แฉกเป็นเครื่องหมายการค้า โดยโลโก้ทั้งสองแบบได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย แต่ในท้ายที่สุด ‘DMG’ ก็ใช้รูปดาว 3 แฉก ประดับหม้อน้ำด้านหน้าของรถตั้งแต่ปี ค.ศ. 1910 เป็นต้นมา

สำหรับที่มาของชื่อแบรนด์ ‘Mercedes-Benz’ นั้น เกิดจากช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ผู้คนต่างได้รับผลกระทบอย่างหนักจากอัตราเงินเฟ้อและยอดขายที่ย่ำแย่ โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น รถยนต์ส่วนบุคคล เป็นต้น ซึ่งมีเฉพาะแบรนด์ที่แข็งแกร่งและมีความมั่นคงทางการเงินเท่านั้นที่จะสามารถอยู่รอดได้ ขณะที่ธุรกิจส่วนใหญ่มักถูกบังคับให้ควบรวมกิจการหรือร่วมเป็นหุ้นส่วนเพื่อความอยู่รอด เช่นเดียวกับในกรณีของ ‘DMG’ และ ‘Benz & Cie’ ซึ่งถือเป็นคู่แข่งกันมานานหลายปี ได้ตัดสินใจเข้าร่วมกิจการร่วมค้าในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 1924 โดยมุ่งเน้นที่การรักษาความสามารถในการแข่งขันผ่านการออกแบบที่สอดประสานกัน ทั้งด้านเทคนิคการผลิต, กลยุทธ์การจัดซื้อ, การขาย และการโฆษณา โดยกิจกรรมทางการตลาดที่ทั้งสองแบรนด์ได้จัดร่วมกันนั้นอยู่ภายใต้บริษัท ‘Mercedes-Benz Automobil GmbH’ ที่เพิ่งก่อตั้งใหม่ ทั้งนี้ การหลอมรวมของผู้ผลิตยานยนต์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกสองรายเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 1926 เมื่อ ‘Daimler-Benz AG’ ก่อตั้งขึ้น โดยบริษัทใหม่แห่งนี้ได้นำเสนอกลุ่มผลิตภัณฑ์ ‘Daimler-Benz’ กลุ่มแรกในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่งาน Berlin Motor Show ในปี ค.ศ. 1926 โดยภายในนิทรรศการมีการเผยโฉมรถยนต์นั่งส่วนบุคคลรุ่นแรกที่พัฒนาร่วมกันภายใต้ชื่อแบรนด์ ‘Mercedes-Benz’ ได้แก่ รถยนต์ 2 ลิตรขนาด 8/38 แรงม้า (W 02) และรุ่น 3 ลิตร 12/55 แรงม้า (W 03) ซึ่งก่อตั้งใหม่เมื่อเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 1926

จากเรื่องราวของ ‘Gottlieb Daimler’ คงพอจะเป็นแรงบันดาลใจในแง่ของความขวนขวายและมุมานะทำในสิ่งที่ชอบ และไม่หยุดที่จะพัฒนาตนเองอยู่เสมอ แม้ว่าในระหว่างทางจะมีอุปสรรคไปบ้าง แต่หากยังมีความมุ่งมั่นตั้งใจ ในไม่ช้าความพยายามก็จะเป็นผลสำเร็จได้ และอีกหนึ่งสิ่งที่มองเห็นได้จากเรื่องนี้ คือเพื่อนร่วมทาง เพราะในความเป็นจริงแล้ว เราไม่สามารถเดินทางไปสู่ความสำเร็จได้โดยปราศจากคนรอบข้างที่จะคอยสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของเพื่อนร่วมงาน ครอบครัว ผู้ร่วมธุรกิจ หรือบุคคลที่คอยผลักดันและสนับสนุนเราอยู่เสมอ เข่นเดียวกับ ‘Gottlieb Daimler’ ที่มีเพื่อนที่ดีอย่าง ‘Wilhelm Maybach’ ที่นอกจากจะเป็นผู้ที่คิดค้น พัฒนาเครื่องยนต์ร่วมกันแล้ว ยังยืนหยัดเคียงข้างคู่หูจนประสบความสำเร็จไปด้วยกัน

ที่มา : mercedes-benz

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #MercedesBenz #Mercedes #GottliebDaimler