HyperTourist

ธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ กับการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยทั่วโลก

เราอาจจะเคยได้ยินว่าประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว (Aged Society) แต่อาจจะยังไม่ทราบว่า ประเทศไทยเองก็เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้วเช่นเดียวกัน ตอนนี้ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วเป็นประวัติการณ์ และประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นจะเพิ่มจาก 1 พันล้านคนในปี 2563 เป็น 1.4 พันล้านคนภายในปี 2593 และเมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุประชากรวัยแรงงานก็จะลดลงเรื่อย ๆ ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้น การดูแลสุขภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Health และ Wellness จึงมีแนวโน้มเติบโตขึ้น

อย่างที่ ‘Business+’ ได้กล่าวถึงในหลาย ๆ คอนเทนต์ว่า ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 และได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2565 ที่ผ่านมา จากข้อมูลสถิติ จำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทย โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 พบว่า มีจำนวนผู้สูงอายุ แบ่งเป็นชาย 5,512,223 คน และหญิง 7,007,703 คน รวมทั้งหมด 12,519,926 คน เท่ากับเกือบ 20% จากประชากรทั้งหมด และคาดว่าจะเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัยระดับสุดยอด’ (Super Aged Society)

นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์การว่า ประชากรโลกที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นสามเท่าจากปี 2563 ถึง 2593 เป็น 426 ล้านคน กลายเป็นปรากฏการณ์สังคมผู้สูงอายุเกิดขึ้นในเกือบทุกประเทศทั่วโลก สอดคล้องกับเมกะเทรนด์ที่น่าจับตาของโลกคือ Health and Wellness หรือเรื่องของสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งไม่ใช่แค่การดูแลรักษาและการฟื้นฟูเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการป้องกันการเจ็บป่วยด้วย

ซึ่งบริการด้านสุขภาพเป็นที่ต้องการมากขึ้นทั้งจากชาวไทยและชาวต่างชาติ หลังจากกระแสการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และปัจจัยที่เร่งให้ธุรกิจบริการสุขภาพต่าง ๆ เติบโตขึ้นอีกอย่างก็คือ การระบาดของ COVID-19 และเมื่อสถานการณ์การระบาดดีขึ้น นักเดินทางจากทั่วโลกจึงกลับมาเดินทางท่องเที่ยวข้ามประเทศอีกครั้ง และการท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจอย่างมากหลังการระบาดคือ การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) ซึ่งตลาดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ทั่วโลกอาจเติบโตเป็นมูลค่ามากกว่า 180,000 ล้านดอลลาร์ในอีกสามปีข้างหน้า และประเทศที่การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ คอสตาริกา อินเดีย อิสราเอล มาเลเซีย เม็กซิโก สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ไทย ตุรกี สหรัฐอเมริกา

ในปี 2566 ประเทศไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกสนใจมาพักผ่อนและฟื้นฟูสุขภาพ เนื่องจากระบบดูแลสุขภาพของไทยติดอันดับ Top 5 ของโลก และมีความพร้อมในการรับมือการแพร่ระบาด อีกทั้งระบบสาธารณสุขอยู่ในระดับดี บวกกับมีค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ต่อประชากรต่ำ โดยมีการคาดการณ์จาก ttb analytics ว่า การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในปี 2566  และมีรายได้อยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท แม้ว่ารายได้จากการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยลดลงมากในช่วง COVID-19

การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์คืออะไร?

การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) คือ การเดินทางออกนอกประเทศที่พำนักอาศัยไปยังต่างประเทศเพื่อการรักษาพยาบาล และท่องเที่ยวหลังจากการพักรักษา อาจด้วยเหตุผล เช่น ค่าใช้จ่าย ซึ่งอาจถูกกว่าการรักษาภายในประเทศ หรือเพื่อรับการรักษาบางประเภทที่ไม่มีบริการในประเทศ เช่น การทำศัลยกรรมความงาม การทำฟัน จัดฟัน ศัลยกรรมกระดูก การผ่าตัดหัวใจแบบบายพาส

นอกจากการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์แล้ว การท่องเที่ยวอีกประเภทหนึ่งที่คล้ายคลึงกันก็คือ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) หลายคนมักเข้าใจผิดระหว่างการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพคืออย่างเดียวกัน แต่แท้จริงแล้วมันคือการท่องเที่ยวคนละประเภท เพราะการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ คือการเดินทางเพื่อรักษาสุขภาพ ลดความเครียด ป้องกันโรค และเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น การทำสปา โยคะ บริการด้านความงามและการชะลอวัย

ก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 พบว่า รายได้การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ในปี 2562 อยู่ที่ราว 2.47 หมื่นล้านบาท พอเกิด COVID-19 แพร่ระบาดรายได้ก็ลดลงมากกว่า 100% แต่เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายในปี 2565 มีการเปิดประเทศสำหรับการเดินทางท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางมาประเทศไทยมากขึ้น รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มารับบริการทางการแพทย์และท่องเที่ยวในไทยด้วย มีการประมาณการรายได้สำหรับการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์อยู่ที่ 1.9 หมื่นล้านบาท แม้จะไม่เทียบเท่าก่อนการแพร่ระบาด แต่อยู่สูงถึง 80% ของรายได้ในปี 2562 และปีนี้คาดว่านักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์จะเพิ่มขึ้นเป็น 22 ล้านคน รายได้อยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวจากอาเซียน เอเชียใต้ เอเชียตะวันออก และตะวันออกกลางเป็นหลัก

อีกทั้งเทรนด์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) ที่กำลังมาแรง หลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ผู้คนก็หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Care) เป็นธุรกิจที่กำลังเป็นที่นิยม เช่น การตรวจสุขภาพประจำ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่อื่น ๆ อย่างการใช้เทคโนโลยีตรวจรหัสพันธุกรรม (Genes) เพื่อหาความเสี่ยงโรคพันธุกรรม การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic Surgery) มีความแม่นยำในการผ่าตัด และสามารถผ่าตัดในจุดที่เข้าถึงยากได้  ซึ่งเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มองหา อีกทั้งนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพก็เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง จึงทำให้รายได้จากกลุ่มการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีอัตราการเติบโตสูง

ทำไมไทยถึงเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยงเชิงการแพทย์เลือกเดินทางมา?

การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยมีความโดดเด่น ในเรื่องการให้บริการเชิงการแพทย์ มีความพร้อมทั้งสถานพยาบาล ความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์ มีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย มีการให้บริการที่ดี และราคาค่ารักษาพยาบาลที่ไม่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศชั้นนำด้านการแพทย์อื่น ๆ และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วไป จึงสามารถตอบสนองความต้องการรอบด้านสำหรับนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้หากเราเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ของสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นอีก 10 ประเทศ จะทำให้การเดินทางท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้จำนวนมาก โดยหากวัดการประหยัดนี้เป็นเปอร์เซ็นต์จะได้ข้อมูลดังนี้

– บราซิล ประหยัดค่าใช้จ่าย 25-40%
– คอสตาริกา ประหยัดค่าใช้จ่าย 40-65%
– อินเดีย ประหยัดค่าใช้จ่าย 65-90%
– เกาหลี ประหยัดค่าใช้จ่าย 30-45%
– มาเลเซีย ประหยัดค่าใช้จ่าย 65-80%
– เม็กซิโก ประหยัดค่าใช้จ่าย 40-65%
– สิงคโปร์ ประหยัดค่าใช้จ่าย 30-45%
– ไต้หวัน ประหยัดค่าใช้จ่าย 40-55%
– ไทย ประหยัดค่าใช้จ่าย 50-70%
– ตุรกี ประหยัดค่าใช้จ่าย 50-60%

(ข้อมูลจาก magazine.medicaltourism.com)

จะเห็นได้ว่า 10 ประเทศที่ได้รับความนิยมในการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์นี้ หากวัดความคุ้มค่าแล้ว จะประหยัดได้มากกว่าสหรัฐ ถึงแม้ว่าการแพทย์และเทคโนโลยีในสหรัฐจะสูงกว่า แต่การประหยัดลงไปได้เกิน 50% จึงทำให้ประเทศเหล่านี้ ซึ่งรวมประเทศไทยด้วยได้เกิดความได้เปรียบในเชิงแข่งขันทันที


โดย 6 จังหวัดที่ได้รับความนิยมในการเดินทางมาท่องเที่ยวเชิงการแพทย์มากที่สุดคือ
– กรุงเทพมหานคร 62%
– ภูเก็ต 15%
– พัทยา 11%
– เชียงใหม่ 7%
– สมุย 3%
– หัวหิน 2%
(ข้อมูลจาก MyMediTravel ปี 2563)

และเมื่อทั่วโลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เนื่องจากมีคนอายุยืนมากขึ้น และมีอัตราการเกิดที่ลดต่ำ ดังนั้นผู้สูงอายุจำเป็นต้องดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ธุรกิจการรักษาพยาบาลจึงมีบทบาทสำคัญในสังคมผู้สูงอายุ รวมทั้งการเดินทางเพื่อท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้เข้ามาตอบโจทย์การดูแลรักษาสุขภาพและการเที่ยวพักผ่อนของผู้คนทุกวัยไม่เพียงผู้สูงอายุ  เนื่องจากผู้คนตระหนักถึงการดูแลสุขภาพมากขึ้น หลังจากการเกิดโรคระบาด COVID-19 ธุรกิจที่เกี่ยวกับ Health และ Wellness จึงมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ประชากรโลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย
ที่มา : ttb analytics, dop, consultancy-me, myshortlister, magazine.medicaltourism