MEA

Improve The Urban Lifestyle ‘วิลาศ เฉลยสัตย์’ ยกระดับ MEA ด้วย Triple Go for Goal

The Success Story of The Month By ‘Business+’ ฉบับเดือนสิงหาคม 2566 จะพาผู้อ่านไปพบกับแนวความคิดการบริหารจากผู้นำการไฟฟ้านครหลวง  หรือ MEA ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนถ่ายองค์กรสู่ยุคดิจิทัล และการพัฒนาคุณภาพการบริหารแก่ประชาชนได้เป็นอย่างดี โดยเราได้เห็นว่า MEA ยกระดับจากผู้ให้บริการจำหน่ายไฟฟ้าแบบดั้งเดิม สู่องค์กรที่ยกระดับวีถีชีวิตคนเมือง ด้วยการพัฒนาสาธารณูปโภคผ่านการขับเคลื่อน Triple Go for Goal: Go Smart, Go Digital และ Go Green พร้อมก้าวสู่การเป็น Sustainable Energy Utility 2037

โดย คุณวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงและความสำเร็จตลอด 65 ปี ของ MEA  หรือ การไฟฟ้านครหลวง ว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา MEA มีการพัฒนาคุณภาพระบบไฟฟ้า ระบบให้บริการ นำนวัตกรรมทันสมัยมาพัฒนาใช้ในทุก ๆ ด้านอยู่เสมอ ซึ่งในปี 2566 ทาง MEA ให้บริการจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ รวม 3,192 ตารางกิโลเมตร ดูแลผู้ใช้ไฟฟ้าประมาณ 4.19 ล้านราย ขณะที่มีหน่วยพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสะสม 51,651 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้น 0.2% จากปีที่ผ่านมา โดย MEA ได้ดำเนินการขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้าให้เหมาะสมกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ 100% ซึ่งมีสถิติความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด จำนวน 9,733.50 เมกะวัตต์ นับเป็นสถิติการจำหน่ายไฟฟ้าสูงที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่ระบบจำหน่ายของ MEA ซึ่งความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงอย่างต่อเนื่องนี้ ทำให้ MEA ต้องปรับปรุงและพัฒนาระบบไฟฟ้า ตลอดจนเพิ่มเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าอยู่ตลอดเวลา

สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่ประชาชนสามารถรับรู้ได้ตลอดระยะเวลา 65 ปี คือ  การจ่ายพลังงานที่เพียงพอต่อความต้องการใช้งาน การให้บริการทางดิจิทัลที่เพิ่มความสะดวกสบายมากขึ้น ควบคู่ไปกับการมีเสถียรภาพความมั่นคงของระบบไฟฟ้า เนื่องจากคนเมืองไม่ได้มีความต้องการใช้ไฟเพียงอย่างเดียวแต่ต้องการความเสถียรด้วย

ในอนาคต MEA มีเป้าหมายที่จะทำให้กรุงเทพ ฯ เป็นมหานครแห่งอาเซียน เพราะฉะนั้นจึงต้องปรับทัศนียภาพให้เหมาะสมกับความเป็น Smart City ซึ่งโครงการที่จะต้องมุ่งเน้น คือ การนำสายไฟฟ้าอากาศลงใต้ดิน โดยเฉพาะในเส้นทางการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีต่าง  ๆ จากปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จรวม 62 กิโลเมตร และจะมีเส้นทางที่ดำเนินการแล้วเสร็จเพิ่มเติมอีก 29 กิโลเมตร รวมเป็น 91 กิโลเมตร และมีเป้าหมายคือดำเนินโครงการสายไฟฟ้าใต้ดินให้แล้วเสร็จรวมทั้งสิ้น 236.1 กิโลเมตร ภายในปี 2570

“โครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ไม่เพียงแค่เป้าหมายสร้างความมั่นคงเพียงพอของระบบไฟฟ้าสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชนเท่านั้น แต่ยังเป็นโครงการที่ทำให้เมืองมีภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เพราะถึงแม้ระบบไฟฟ้าจะดีแต่ถ้าเมืองไม่สวยงาม ยังมีสิ่งที่ทำให้สะดุดตา อย่างเช่น สายไฟฟ้าที่ยังระโยงระยางอยู่บนอากาศก็ไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าเมืองนั้นคือ Smart City ที่แท้จริง” คุณวิลาศ กล่าว

นอกจาก โครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน แล้ว MEA ยังร่วมมือกับสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร เพื่อปรับปรุงแก้ไขพื้นผิวจราจรในพื้นที่การก่อสร้าง เพื่อช่วยลดผลกระทบกับผู้ใช้ถนน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีด้านพลังงานทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับความสะดวก รวดเร็ว และใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ MEA ยังร่วมผลักดันตอบสนองนโยบายต่าง ๆ จากรัฐบาล ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในด้านการใช้พลังงาน และการดำเนินวิถีชีวิตของประชาชนต่อไป โดยมีการพัฒนาระบบ EV Data Roaming ทำให้ MEA EV Application สามารถแชร์ข้อมูลกับผู้ประกอบการรายใหญ่ต่าง ๆ สร้างความสะดวกสบายให้กับประชาชนผู้ใช้งาน มีระบบ Smart Charging สำหรับบ้านอยู่อาศัย ควบคู่กับระบบ TLM (Transformer Load Monitoring) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีประยุกต์ใช้ร่วมกับหม้อแปลงไฟฟ้า จำหน่ายและสถานีย่อยที่ MEA พัฒนาขึ้น เพื่อนำมาใช้ลดปัญหาการเกิด Overload และบริหารจัดการระบบจำหน่ายอย่างมีประสิทธิภาพ

กลยุทธ์ 3 ด้าน สู่การเป็น Energy for city life, Energize smart living

สำหรับจุดหมายใหม่ของ MEA หลังดำเนินงานมาครบรอบ 65 ปี คือ ‘MEA SPARK the Sustainable Future’ ซึ่งคุณวิลาศ กล่าวว่า จะต้องอาศัยการขับเคลื่อนองค์กรที่เราเรียกว่า Triple Go for Goal คือ Go Smart, Go Digital และ Go Green ภายใต้วิสัยทัศน์ Energy for city life, Energize smart living หรือการขับเคลื่อนพลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร ซึ่งจะเกิดขึ้นจากการพัฒนาระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยเสริมความมั่นคงและความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า

Go Smart

คือ การพัฒนาระบบไฟฟ้าให้เป็นระบบ Smart ซึ่งจะสามารถตรวจสอบ และรับรู้เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับระบบไฟฟ้าได้อย่างอัตโนมัติ โดยปัจจุบันหากมีเหตุการณ์ไฟดับประชาชนต้องแจ้งเรื่องเข้ามาที่ศูนย์สั่งการ และต้องมีการสั่งการผ่านระบบศูนย์สั่งการเพื่อลงไปดูแลประชาชน แต่แผนพัฒนาในอนาคตคือ MEA จะสามารถตรวจสอบและรับรู้เหตุการณ์ไฟดับแบบอัตโนมัติทันที

และยังได้ดำเนินโครงการเพื่อส่งเสริมศักยภาพด้านระบบไฟฟ้า หรือ Power Quality สำหรับการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคงเพียงพอ เช่น โครงการ Smart Metro Grid ที่ปัจจุบัน MEA ได้ดำเนินโครงการติดตั้ง Smart Meter ในพื้นที่นำร่อง 9 ตารางกิโลเมตร บริเวณถนนพระราม 4 พญาไท เพชรบุรี และรัชดาภิเษก รวมถึงกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นกิจการขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และกิจการเฉพาะอย่างในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมจำนวน 33,265 ชุด ทำให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบ Online ช่วยในด้านการบริหารจัดการระบบไฟฟ้า ตลอดจนสามารถวิเคราะห์จุดเกิดเหตุไฟฟ้าขัดข้องเพื่อให้การแก้ไขสามารถทำได้อย่างตรงจุดและรวดเร็วมากขึ้น

โดยในอนาคตยังมีแผนขยายการติดตั้ง Smart Meter เพิ่มเติม ซึ่งภายในปี 2570 จะติดตั้งรวมทั้งสิ้น 441,400 ชุด รวมถึงยังมีการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับหม้อแปลงจำหน่าย ภายใต้โครงการ TLM (Transformer Load Monitoring) ซึ่งสามารถประเมินศักยภาพของหม้อแปลงไฟฟ้า ทั้งในด้านการรองรับ EV Charger, Solar PV และการขอใช้ไฟฟ้า ซึ่งส่งผลต่อการวางแผนขยายหรือปรับปรุงโครงข่ายไฟฟ้า โดยปัจจุบันได้มีการติดตั้งเสร็จสิ้นแล้ว 1,675 ชุด แห่ง และคาดการณ์ว่าภายในปี 2570 จะติดตั้งแล้วเสร็จครบทั้งพื้นที่ MEA ที่มีจำนวน 62,400 ชุด

สำหรับแผนพัฒนาและสนับสนุนพลังงานสะอาดนั้น MEA ได้มีแผนการรองรับ EV Charger, Solar PV ด้วยการสร้างศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า SCADA เพื่อให้สามารถควบคุมการจ่ายไฟได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในปัจจุบันที่ MEA มีค่าเฉลี่ยความถี่ที่ระบบไฟฟ้าขัดข้อง (SAIFI) อยู่ที่ 0.632 ครั้ง/ราย/ปี และค่าเฉลี่ยระยะเวลาที่เกิดไฟฟ้าขัดข้อง (SAIDI) อยู่ที่ 20.194 นาที/ราย/ปี ซึ่งทาง MEA จะทำการพัฒนาและต่อยอดความสำเร็จให้มากขึ้นในทุก ๆ ปี

สำหรับในแง่ของการให้บริการกับประชาชนนั้น MEA ได้พัฒนารูปแบบการให้บริการอย่างเป็นดิจิทัลมากขึ้น ด้วยการทำ MEA Smart Life Application ที่สามารถดาวน์โหลดและใช้ในการถ่ายภาพ แจ้งเหตุไฟฟ้าขัดข้องได้รวดเร็ว พร้อมเชื่อมโยงกับระบบแผนที่ GIS ของ MEA ที่มีความแม่นยำ ทำให้แก้ไขระบบไฟฟ้าในพื้นที่ได้ทันที ภายใต้ชื่อระบบปฏิบัติการที่เรียกว่า Field Force Management (FFM) และยังมีการปฏิบัติงานที่ครอบคลุมพื้นที่ทางน้ำ Marine MEA ดำเนินการตอบสนองภารกิจการแก้ไขไฟฟ้าขัดข้อง การปักเสาพาดสาย การตรวจสอบบำรุงรักษาอุปกรณ์ การตรวจจับไฟฟ้ารั่ว และการดูแลช่วยเหลือประชาชนในการรื้อย้ายอุปกรณ์ไฟฟ้า รองรับสถานการณ์ฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง

Go Digital

เพื่อตอบโจทย์ Anywhere Service ชีวิตของคนเมืองมหานคร เราต้องการที่จะยกระดับการเป็น Fully Digital Service ในการบริการ e-Service ต่าง ๆ เช่น การให้บริการผ่านระบบออนไลน์ MEASY ไม่ต้องเดินทาง เป็น Virtual District มีบริการครบครัน จัดทำระบบแจ้งเตือนไฟฟ้าขัดข้องรายบุคคล ระบบแจ้งไฟฟ้าดับรายบุคคล พร้อมทั้งสามารถ Tracking ทั้งการซ่อมแซมแก้ไขเมื่อเกิดไฟฟ้าดับ และเมื่อไฟฟ้ากลับสู่สภาวะปกติ ไปจนถึงการ Tracking บริการทางธุรกรรมต่าง ๆ เช่น การขอใช้ไฟฟ้า การลด – เพิ่มขนาดเครื่องวัดฯ การยกเลิกการใช้ไฟฟ้า การขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า อีกทั้งยังให้บริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนเทคโนโลยีบล็อกเชน ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าของ MEA สามารถทำธุรกรรมขอวางหลักประกัน การต่ออายุหนังสือค้ำประกัน รวมไปถึงการส่งคืนเมื่อหมดภาระผูกพันได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และเชื่อถือได้

ซึ่งในปีนี้ยังมีอีกหนึ่งบริการใหม่ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ​โดย​ MEA ได้ร่วมกับการประปานครหลวง (กปน.) เพื่อให้ประชาชนสามารถที่จะขอใช้ไฟพร้อมขอใช้น้ำได้ในที่เดียว รวมทั้งสามารถที่จะชำระค่าไฟฟ้าที่การประปา และชำระค่าน้ำที่การไฟฟ้าได้ นับเป็นการทำงานร่วมกันของหน่วยสาธารณูปโภค และในอนาคตจะสามารถทำธุรกรรมเหล่านี้ได้บนแอปพลิเคชันออนไลน์ของ MEA ถือเป็นการขับเคลื่อนองค์กรให้ปรับตัวรองรับการทำงานในรูปแบบดิจิทัลทั้งหมด

“เราเข้าสู่โหมดดิจิทัลเซอร์วิสเต็มรูปแบบ ซึ่งประชาชนผู้ใช้ไฟไม่ต้องเดินทางมาที่สำนักงานของการไฟฟ้า แต่สามารถที่จะใช้บริการบน MEA Smart Life Application ได้เลย อีกทั้งยังมีช่องทางการสื่อสารที่หลากหลายช่องทางบนโซเชียลมีเดีย อย่าง เว็บไซต์ MEA, Line, Facebook, Twitter และ MEA Call Center 1130 ที่พร้อมให้บริการ 24 ชั่วโมง นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี 2501” คุณวิลาศ กล่าว

นอกจากนี้ MEA ได้ร่วมพัฒนาระบบ EV Data Roaming ทำให้ MEA EV Application สามารถแชร์ข้อมูลกับผู้ประกอบการรายใหญ่ต่าง ๆ สร้างความสะดวกสบายให้กับประชาชนผู้ใช้งาน ระบบ Smart Charging สำหรับบ้านอยู่อาศัย ควบคู่กับ TLM เพื่อลดปัญหาการเกิด Overload และบริหารจัดการระบบจำหน่ายอย่างมีประสิทธิภาพ

โดย MEA มีการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามาอย่างสม่ำเสมอ ปัจจุบันมีโครงการติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า 100 หัวชาร์จ/ปี ซึ่งแผนนี้จะดำเนินต่อไปเป็นระยะเวลา 5 ปี โดยปีที่ผ่านมามีการติดตั้งครบ 100 หัวชาร์จ ทั้งนี้ หากสามารถติดตั้งได้ครบตามเป้าหมายก็จะมีทั้งสิ้น 600 หัวชาร์จ โดยหัวชาร์จบางแห่งเป็นหัวชาร์จแบบ​ Super​ Charge

Go Green

การดำเนินงานธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยภาคธุรกิจในประเทศไทยต่างมีความร่วมมือกันในการนำพาประเทศก้าวเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ‘Carbon neutrality’ ในปี 2050 โดยเริ่มจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากนั้นจึงสร้างความสมดุลของปริมาณก๊าซเรือนกระจกด้วยวิธีการดูดซับแบบธรรมชาติหรือการซื้อคาร์บอนเครดิต ซึ่ง MEA เปิดเผยว่ามีการวางแผนกำหนดขอบเขตการปล่อยคาร์บอนให้น้อยที่สุด เพื่อเป็นหนึ่งความร่วมมือที่จะผลักดันให้เกิดความเป็นกลางทางคาร์บอนตามนโยบายของรัฐบาล ปัจจุบันจึงมีโครงการจัดการพลังงานภายใน ซึ่งเป็นเรื่องของการใช้ระบบปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพสูงผ่านระบบควบคุมไฟส่องสว่างแบบไฮบริด (Lighting Control) เป็นการผสมกันระหว่างระบบรวมศูนย์และระบบไร้สาย อุปกรณ์ทั้งแบบไร้สายและแบบใช้สายนำมาใช้ร่วมกันในระบบเดียว และสามารถสื่อสารกันได้อย่างลงตัว ซึ่งสามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ใช้งาน ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในระยะยาวได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ภายในองค์กร เพื่อเป็นการเปลี่ยนพลังงานธรรมชาติอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ให้มาอยู่ในรูปแบบของพลังงานไฟฟ้า ซึ่งสามารถนำพลังงานไฟฟ้านั้นมาใช้งานได้ทันที หรือเก็บสะสมไว้ในรูปแบบแบตเตอรี่เพื่อใช้ภายหลังก็ได้ โดยจะช่วยประหยัดพลังงานและไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศที่อาจเกิดขึ้นจากการผลิตไฟฟ้า

ทั้งนี้ เมื่อถามถึงแผน Carbon Neutrality Roadmap เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คุณวิลาศ กล่าวว่า MEA มีการจัดทำ Carbon Neutrality Roadmap ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ตอบสนองวิถีชีวิตเชิงนิเวศในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในรูปแบบ ECO City มีการพัฒนาต่อยอดก้าวสู่การเป็นต้นแบบอาคารประหยัดพลังงาน อีกทั้งยังมี MEA e-Bill ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสมัครรับเอกสารออนไลน์ เพื่อลดการใช้กระดาษ

จัดตั้งพิพิธภัณฑ์การไฟฟ้าไทย (MEA SPARK) ที่จะจุดประกายการเรียนรู้ในด้านพลังงาน และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย เสริมคุณค่าทางประวัติศาสตร์ สังคม และประเทศชาติ เพิ่มคุณภาพชีวิตสร้างความสุขของประชาชนที่ได้เข้าชมรวมถึงเป็นสถานที่สำคัญ Landmark ใหม่ของเมืองมหานคร และกลายเป็นแหล่งการเรียนรู้แห่งใหม่ ที่ทันสมัยเทียบเท่ามาตรฐานสากล โดย MEA SPARK จะพร้อมเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ในปี 2568 ณ สถานที่จริง ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการไฟฟ้าในประเทศไทย

ขณะเดียวกัน MEA ก็มีการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถใช้พลังงานสะอาดได้สะดวกมากขึ้น โดยประชาชนครัวเรือนใดที่อยากจะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย สามารถเข้าเว็บไซต์ MEA แล้วติดต่อมาทางสำนักงานได้โดยตรง โดยที่ไม่ต้องเดินทางมายังสำนักงาน ซึ่งนี่ถือเป็นตัวอย่างที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าเมืองหลวง

ด้านเป้าหมาย Sustainable Energy Utility ในปี 2580 คุณวิลาศ กล่าวว่า ด้วยวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนกับการที่จะเป็นพลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร และบทบาทที่สำคัญในแต่ละห้วงเวลาของการหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านในแต่ละช่วงของการดำเนินชีวิตนั้น ในระยะแรก MEA เป็น Smart Energy ก็คือ เน้นการบริหารจัดการด้านพลังงาน สร้างความมั่นคงด้านพลังงานในพื้นที่ และปัจจุบันอยู่ในระยะกลาง คือ Smart Utilities หมายถึงระบบสาธารณูปโภคอัจฉริยะ ที่มีการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง การทำงานอย่างชาญฉลาด และการให้บริการโดยยึดประชาชนเป็นหลัก ซึ่งระยะนี้จะส่งผลไปสู่การเป็​น​ Sustainable Energy Utility ในปี 2580 โดยบทบาทนี้ได้ถูกกำหนดไว้แล้ว เป็นทิศทางเดียวกันของคนทั้งองค์กรที่ต้องเข้าใจตรงกัน เพื่อตอบสนองให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าที่อยู่ในเมืองหลวงมีคุณภาพไฟฟ้าที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ยังมีโครงการจัดระเบียบสายสื่อสาร ซึ่งทาง MEA ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) และผู้ประกอบการสายสื่อสาร ในการจัดระเบียบเป็นระยะทางรวมกว่า 550 กิโลเมตร รวมถึงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินเพิ่มเติมในพื้นที่ดำเนินโครงการสายไฟฟ้าใต้ดินด้วย

จากการสัมภาษณ์คุณวิลาศ ได้ทำให้ ‘Business+’ เห็นเป้าหมายที่ชัดเจนของ MEA และเห็นถึงพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงตัวเองตลอด 65 ปีที่ผ่านมา ซึ่ง MEA มีบทบาทที่สำคัญอย่างมากกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ด้วยการอำนวยความสะดวกภาคอุตสาหกรรมที่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพ ซึ่งจะสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitive Advantage) ให้กับผู้ประกอบการไทยในตลาดโลก

อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทยให้สามารถดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประเทศ ด้วยการพัฒนาระบบไฟฟ้า อย่างเช่น โครงการนำสายไฟฟ้าอากาศลงใต้ดิน ที่นอกจากจะสร้างความปลอดภัยให้กับผู้คนแล้ว ยังสร้างทัศนียภาพที่สวยงามเพื่อดึงดูดการท่องเที่ยว ซึ่งการพัฒนาทั้งหมดทั้งมวลนี้นำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมตามเป้าหมายของ MEA

สามารถติดตามบทสัมภาษณ์รูปแบบ Video ได้ที่ : Improve The Urban Lifestyle ‘วิลาศ เฉลยสัตย์’ ยกระดับ MEA ด้วย Triple Go for Goal – YouTube

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ , พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS