อะไรจะเกิดขึ้นหาก ‘บะหมี่กึ่งฯ’ ขึ้นราคา

หลังจาก 5 บริษัทผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศไทย ทั้ง มาม่า, ไวไว, ยำยำ, นิชชิน และซื่อสัตย์ รวมตัวกันยื่นหนังสือให้กับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ในวันนี้ (16 ส.ค.) เพื่อขอปรับขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพิ่มอีกซองละ 2 บาท (จาก 6 บาทเป็น 8 บาท) ก็ได้เกิดการถกเถียงกันถึงผลกระทบที่จะตามมา ทั้งในมุมของผู้ผลิต และมุมของผู้บริโภค

ซึ่งการขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้น ผู้ผลิตไม่สามารถปรับราคาขึ้นเองเหมือนสินค้าทั่วไป เพราะเป็นสินค้าควบคุมต้องขออนุญาตปรับราคาจำหน่ายปลีก (หากมีการปรับราคาจำหน่ายปลีกโดยพลการถือเป็นการกระทำความผิดกฎหมายและมีโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542)

ด้วยความที่ประเภทของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีราคาถูกที่สุดในบรรดาอาหาร ดังนั้นในช่วงที่จำเป็นที่จะต้องรัดเข็มขัด ผู้บริโภคมักจะเลือกบริโภคสินค้าที่มีราคาถูกทดแทน ยอดขายของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจึงเคยถูกนำมาเป็นตัวชี้วัดด้านการกินอยู่ของประชาชนในประเทศเพื่อสะท้อนภาวะเศรษฐกิจโดยรวม โดยอนุมานว่า หากผู้บริโภคมีรายได้ลดลงหรือเศรษฐกิจฝืดเคืองจะทำให้ยอดขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเติบโตขึ้น (ซึ่งภายหลังก็ได้มีการถกเถียงกันพอสมควรว่าจริงๆ แล้วยอดขายของมาม่าเป็นดัชนีผกผันจริงหรือไม่?)

เพราะถึงแม้ยอดขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะสามารถบ่งบอกภาวะเศรษฐกิจได้บ้าง แต่ก็ยังไม่ใช่ทั้งหมด ยิ่งในปัจจุบันที่อุตสาหกรรมการผลิต และการจัดจำหน่ายพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากการนำเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ มาใช้จนมีสินค้ามากมายให้ประชาชนเลือกบริโภคในราคาใกล้เคียงกัน ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป หรืออาจจะเกิดจากการ ‘Stockpiling’ หรือการกักตุนสินค้าในช่วงที่ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าสินค้าจะขึ้นราคาจากภาวะเงินเฟ้อด้านอุปทาน หรือการกักตุนของกินในช่วงที่เกิดการระบาดของ COVID-19

อย่างไรก็ตาม หากมองในมุมของเศรษฐศาสตร์แล้ว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้นจัดเป็น Inferior Goods หรือสินค้าด้อยคุณภาพ ตามทฤษฏีสินค้าประเภทนี้จะมีความสัมพันธ์ระหว่างอุปสงค์ (Demand) กับรายได้ของผู้บริโภค (Income) เป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกัน แตกต่างกับสินค้าทั่วไปที่ Demand กับ Income จะมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกัน

‘Business+’ ขออธิบายประเภทของบะหมี่กึ่งสำเร็จให้ฟังง่าย ๆ ว่า โดยปกติแล้วถ้าคนมีรายได้สูงขึ้นก็จะกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปน้อยลง สวนทางกันสินค้าปกติ (Normal Goods) ที่ความสัมพันธ์ระหว่างอุปสงค์กับรายได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ เมื่อรายได้ผู้บริโภคเพิ่มขึ้นก็จะยิ่งซื้อสินค้ามากขึ้น

ดังนั้น การขึ้นราคาของสินค้าประเภทนี้จึงมีผลกระทบที่ตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซา รายได้ของประชาชนลดลงนั่นเอง (เมื่อรายได้น้อยลงจึงหันมาบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แต่ราคาบะหมี่กลับเพิ่มขึ้นซะอย่างงั้น)

ทั้งนี้หากเราคำนวณผลกระทบจากการขึ้นราคาของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกับรายได้ครัวเรือนในกลุ่มครัวเรือนที่รายได้ต่ำที่สุดในกลุ่ม (กลุ่มครัวเรือนที่ยากจน) แบบกำปั้นทุบดิน เราจะพบข้อมูลว่า กลุ่มดังกล่าวมีรายได้ประจำเฉลี่ยต่อเดือนเพียง 11,135 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน และมีค่าใช้จ่าย 12,536 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน ซึ่งการและปรับขึ้นราคา 2 บาทต่อซอง จะเท่ากับว่า หากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขายในราคา 8 บาทต่อซองจะกระทบต้นทุนค่าครองชีพผู้บริโภค (สำหรับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป) เพิ่มเป็น 424 บาทต่อคนต่อปี (จากเดิม 318 บาท) คิดเป็น 0.28% จากค่าใช้จ่ายทั้งปี และคิดเป็น 0.32% ของรายได้ทั้งปี (ค่าเฉลี่ยปกติคนไทยบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปประมาณ 53.2 ซองต่อคนต่อปี)

ถึงแม้ว่าสัดส่วนของค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาจจะไม่มากนักเมื่อคิดเป็นรายคน แต่ผลกระทบจากการขึ้นราคาของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้นหากวัดเป็นทั้งประเทศจะมีผลกระทบที่ค่อนข้างสูง

โดยเฉพาะในประเทศไทยที่กลุ่มประชากรของประเทศที่มีรายได้น้อยมีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ (คนไทยทั้งประเทศ 66.17 ล้านคน เป็นคนจน 20 ล้านคน ข้อมูล ณ สิ้นปี 64)

ดังนั้นการขึ้นราคาสินค้าด้อยราคาจึงเป็นการเพิ่มภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (โดยเฉพาะหากภาครัฐไม่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้กับประชาชน)

แต่ในมุมของผู้ผลิตนั้น ก็ต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยมีการให้ข่าวจากผู้ผลิตรายใหญ่ว่า 2 เดือนที่ผ่านมาต้องประสบกับผลขาดทุน เพราะต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

โดยที่ผ่านมาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสามารถตั้งราคาถูกได้เนื่องจากใช้การประหยัดต่อขนาด (Economiy of scale) คือ การที่บริษัทหรือโรงงานผลิตสินค้าจำนวนมาก จนทำให้ต้นทุนต่อหน่วยในการผลิตถูกลง ซึ่งสุดท้ายจะทำให้ขายได้กำไรมากขึ้น แต่ในภาวะที่ต้นทุน และวัตถุดิบในการผลิตพุ่งขึ้นอย่างก้าวกระโดดผู้ผลิตก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน

ซึ่ง ‘Business+’ พบข้อมูลว่าในส่วนของราคาวัตถุดิบหลัก อย่างแป้งสาลี น้ำมันปาล์ม ที่มีสัดส่วนสูงถึง 60-70% ตามโภชนาการหลังซองปรับขึ้นเกินเท่าตัว ขณะเดียวกันราคาน้ำมันดิบดูไบที่เป็นต้นทุนขนส่งก็ถีบตัวขึ้นรุนแรง จากช่วงครึ่งปีแรกของปี 64 เฉลี่ยอยู่ที่ราวๆ 63.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องจนขึ้นมาอยู่ที่ราวๆ 101.8 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในช่วงครึ่งปีแรกของปี 65

นอกจากนี้ยังมีต้นทุนวัตถุดิบอื่นๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิต เช่น หอม กระเทียม พริก (แถมอนาคตอาจมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก)

จะเห็นได้ว่าการขึ้นราคามีทั้งผลดี และผลเสียต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิต และค่าครองชีพประชาชน ดังนั้น การพิจารณาให้ขึ้นราคา หรือไม่นั้น กรมการค้าภายในจะต้องคำนวณต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างเป็นธรรมต่อทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภค โดยเฉพาะอาจจะต้องนำไปคำนวณร่วมกับค่าแรงที่อาจจะปรับขึ้น หรือไม่ปรับขึ้นในอนาคต

เพื่อให้เกิดความสมดุล win win ทั้ง 2 ฝ่าย และหากต้องปรับขึ้นจริงจำเป็นต้องปรับขึ้นพร้อมกันทุกราย ในระหว่างการพิจารณาทางภาครัฐจึงต้องตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคจนกว่าจะสามารถคำนวณหาต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและกำหนดราคาใหม่ให้เหมาะสม เพื่อให้ราคาเป็นธรรมและป้องกันการฉวยโอกาสเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคให้มากที่สุด

เขียนเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : ราชกิจจานุเบกษา , nso , infoquest

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #มาม่า #ยำยำ #ไวไว #บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป