MAJOR

‘ขัน ไทยเทเนี่ยม’ จะกลายเป็นเจ้าของอะไรบ้างหลังซื้อ ‘เอ็ม พิคเจอร์ส’

เป็นประเด็นที่คนพูดถึงกันอย่างมากหลังจากมีข่าวประกาศออกมาเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ว่า ‘ขันเงิน เนื้อนวล’ หรือ ‘ขัน ไทยเทเนี่ยม’ ศิลปินแนว Hip-Hop ได้เข้าซื้อหุ้นใน บริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จํากัด (มหาชน) หรือ MPIC เจ้าของ ธุรกิจสื่อ ภาพยนตร์ ที่เป็นผู้จัดหาลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ไทยและภาพยนตร์ต่างประเทศ ซึ่ง เอ็ม พิคเจอร์ส ได้มีการฉายคอนเทนต์ผ่านทั้งโรงภาพยนตร์ ทางสื่อทีวี ในรูปแบบฟรีทีวี เปย์ทีวี และ วีดีโอออนดีมานด์ รวมถึงสื่อทางด้าน Digital ต่าง ๆ จากบริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จํากัด (มหาชน) หรือ MAJOR หรือโรงภาพยนต์ ‘เมเจอร์’ ที่เรารู้จักกันดี

โดย MAJOR ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ เอ็ม พิคเจอร์ส ได้เข้าลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นสามัญทั้งหมดที่บริษัทถืออยู่ใน MPIC กับ ขันเงิน ในวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยที่เป็นการขายหุ้นจํานวน 1,202 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 92.46% ของหุ้นที่จําหน่ายแล้วทั้งหมด ด้วยราคาหุ้นละ 0.54 บาท คิดเป็นมูลค่าการซื้อขาย 650 ล้านบาท

ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลในตลาดหลักทรัพย์ฯ ‘Business+’ พบว่า ราคาที่ทำการซื้อขายถือว่าเป็นราคาที่ต่ำกว่ากระดานเป็นอย่างมาก เพราะในวันที่ประกาศข่าวออกมาราคาหุ้นในกระดานอยู่ที่ 1.52 บาท เท่ากับว่า ขัน ไทยเทเนี่ยม ได้ซื้อหุ้น เอ็ม พิคเจอร์ส ในราคาที่ต่ำกว่าราคาซื้อขายถึง 0.98 บาทเลยทีเดียว แต่ถ้าหากเราเทียบกับมูลค่าทางบัญชี (มูลค่าของหุ้นสามัญหรือมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของบริษัทตามงบดุลล่าสุดที่คำนวณจากสินทรัพย์รวมหักด้วยหนี้สินรวม) ซึ่งล่าสุดอยู่ที่ 0.35 บาท (ณ วันที่ 22 พ.ค.2566) ก็ยังถือว่า ขัน ไทยเทเนี่ยม ซื้อหุ้นในราคาที่สูงกว่ามูลค่าทางบัญชี

แต่สิ่งที่น่าติดตามต่อเป็นเรื่องของการบริหารบริษัททั้งหมดในเครือ เอ็ม พิคเจอร์ส เพราะภายหลังจาก ขัน ไทยเทเนี่ยม เข้าซื้อหุ้นของ เอ็ม พิคเจอร์ส’ ก็จะทำให้ขัน ไทยเทเนี่ยม ขึ้นแท่นเป็นเจ้าของค่ายหนังมากมายทันที ซึ่ง ‘Business+’ สำรวจข้อมูลล่าสุด พบว่า ที่ผ่านมา เอ็ม พิคเจอร์ส มีการลงทุนในค่ายหนังมากมาย โดยสรุปได้ดังนี้

ขัน ไทยเทเนี่ยม

ซึ่งเป็นที่น่าจับตาว่า ขัน ไทยเทเนี่ยม ถือเป็นผู้มีชื่อเสียงในวงการบันเทิง จะพา เอ็ม พิคเจอร์ส ไปในทิศทางไหน ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักของ เอ็ม พิคเจอร์ส คือ

  1. ผู้บริโภคภาพยนตร์ทุกประเภท และทุกวัย
  2. โรงภาพยนตร์ในกรุงเทพฯ และ ต่างจังหวัด
  3. ผู้ประกอบธุรกิจ Free TV, Cable TV, Digital, IPTV, VOD
  4. ผู้ประกอบการสื่อภาพยนต์ในต่างประเทศ

ซึ่ง เอ็ม พิคเจอร์ส จำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันเป็นอย่างมาก ถึงแม้จะเป็นผู้ประกอบธุรกิจสื่อภาพยนตร์ครบวงจร ทั้งเข้าลงทุนในธุรกิจด้านจัดหาและจัดจำหน่ายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ต่างประเทศ ธุรกิจผลิตภาพยนตร์ไทย รวมถึงการเป็นบริษัทย่อยของบริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์กรุ้ป จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบธุรกิจโรงภาพยนตร์รายใหญ่ในประเทศไทยที่มีโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศ อีกทั้งได้รับการสนับสนุนจากสื่อต่าง ๆ จากกลุ่มบริษัท เช่น สื่อโฆษณา โรงภาพยนตร์ เป็นอย่างมาก แต่ในปีที่มาไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เช่น รับชมภาพยนต์ผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งใหม่ ๆ จึงทำให้กลุ่มบริษัทฯ จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์อย่างหนักเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยผลประกอบการในปี 2565 ของ ‘เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์’ ได้พลักกลับมามีกำไรสุทธิในปี 65 จำนวน 24.97 ล้านบาท หลังขาดทุนสุทธิตั้งแต่ปี 2563 หลังเจอ COVID-19 

ที่มา : SET , MPIC

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.facebook.com/businessplusonline/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#TheBusinessPlus #Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus #Business #SET #MAJOR #MPIC #โรงภาพยนต์ #โรงหนัง