ม.มหิดล จัดอบรมเสริมพลังผู้นำสุขภาพท้องถิ่นทั่วไทย พร้อมขยายผลสู่ภูมิภาคอาเซียน

จากคำประกาศ Alma-Ata ขององค์การอนามัยโลก ว่าด้วยการสาธารณสุขมูลฐาน (Primary Health Care) ที่ประเทศไทยได้เริ่มนำงานสาธารณสุขมูลฐานมาใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 ให้การรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ในโรงพยาบาล ได้พัฒนาสู่งานชุมชน จากงานบริการดูแลรักษาสุขภาพเบื้องต้น สู่งานบริการสาธารณสุขมูลฐาน จนเกิด “อาสาสมัครสาธารณสุข” หรือ อสม. ที่ยกระดับจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน

รัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 20 มีนาคมของทุกปีเป็น “วันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ” เพื่อเป็นการให้ความสำคัญของอาสาสมัครสาธารณสุข ที่พัฒนาสุขภาพดีถ้วนหน้า (Health For All) มาสู่คุณภาพชีวิตที่ดี ตามภาวะกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลง ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภูดิท เตชาติวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า งานสาธารณสุขมูลฐาน เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนางานสาธารณสุขของประเทศ โดยตลอด 36 ปีที่ผ่านมา สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เติบโตมาควบคู่กับการพัฒนางาน และการฝึกอบรมด้านสาธารณสุขมูลฐานในประเทศไทย ที่เน้นการดูแลรักษาสุขภาพแบบองค์รวมที่คำนึงถึงสุขภาวะในทุกมิติ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดีอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

“การพัฒนาระบบสุขภาพโดยผ่านนวัตกรรมของงานอาสาสมัครสาธารณสุขนั้น เป็นการทำให้ประชาชนได้มีตัวแทนที่ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างระบบบริการจากแพทย์ พยาบาล และผู้ประกอบวิชาชีพทางด้านสาธารณสุข โดยในอดีตแนวคิดดังกล่าวถือว่าใหม่มาก เนื่องจากเมื่อก่อนเวลาเราพูดถึงเรื่องสุขภาพ คนจะนึกถึงแค่เรื่องการรักษาโรค เรื่องของแพทย์ พยาบาล หรือการให้บริการที่จะต้องใช้เทคโนโลยีจากผู้ประกอบวิชาชีพ แต่งาน อสม. เป็นการเสริมพลังให้กับประชาชน โดยทำให้มีความรอบรู้ทางด้านสุขภาพมากขึ้น จนทำให้สามารถดูแลตนเอง และครอบครัวได้ในระดับหนึ่ง ทำให้สามารถพึ่งพาตนเองก่อนที่จะไปพึ่งพาระบบบริการ ซึ่งสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ว่าควรให้คนรู้จักประมาณตน มีเหตุผลในการดำเนินงานและใช้ชีวิต และรู้จักพึ่งพาตนเองก่อนพึ่งพาผู้อื่น จะทำให้อยู่รอดอย่างพอเพียงและยั่งยืน

บทบาทของสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ในระดับประเทศ คือ พัฒนาผู้นำด้านการจัดการสุขภาพ รวมถึงผู้นำในระบบบริการสุขภาพและภาคประชาชน ที่ให้สามารถมีวิธีการบริหารจัดการแบบใหม่ที่ทันสมัย มีภาวะผู้นำแบบใหม่ ที่ทำให้ประชาชนและชุมชนเกิดการมีส่วนร่วมในการทำงานพัฒนาระบบสุขภาพของไทย ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ ยังมีบทบาทในระดับนานาชาติ คือ เป็นตัวกลางของประเทศที่จะเชื่อมต่อกับผู้นำทางด้านสาธารณสุขของประเทศต่างๆ ในการที่จะเข้ามาศึกษาดูงานการจัดการระบบสุขภาพของไทย การฝึกอบรมระยะสั้น รวมทั้งการเรียนในระดับปริญญาโท ด้านการจัดการการสาธารณสุขมูลฐาน” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภูดิท เตชาติวัฒน์ กล่าว

มหาวิทยาลัยมหิดล โดย สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน ได้มีการทำข้อตกลงร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในด้านการสร้างความเข้มแข็ง และความเป็นเจ้าของของภาคท้องถิ่น ภาคประชาชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบสุขภาพไทย และเป็นแบบอย่างในด้านระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้แก่นานาประเทศ โดยการดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับวาระสุขภาพโลกในการบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก ภายในปี พ.ศ. 2573 และนโยบายของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมคู่ขนานของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ เมื่อปี พ.ศ.2558 ที่ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้แก่นานาชาติ

เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน ได้ร่วมกับ สปสช. พัฒนาหลักสูตรพัฒนาสมรรถนะผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านการสร้างหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น เพื่อพัฒนาบุคลากรจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีอยู่เกือบ 8,000 คนจากทั่วประเทศ รวมทั้งนักวิชาการ และผู้ที่สนใจในการพัฒนาท้องถิ่น ให้มีภาวะผู้นำ และมีทักษะในการบริหารงานสาธารณสุขในท้องถิ่น เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ผู้นำได้อย่างมั่นใจ และมีประสิทธิภาพ โดยมีรูปแบบการอบรมที่การเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์ และศึกษาเพิ่มเติมต่อเนื่องด้วยตนเองในระยะเวลา 3 เดือนหลังเข้ารับการอบรม โดยมีการติดตาม ประเมินผล และสนับสนุนการเรียนรู้ จากทีมคณาจารย์จากสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล และ สปสช. อย่างต่อเนื่อง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภูดิท เตชาติวัฒน์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดล โดย สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน ได้มีความร่วมมือกับองค์กรร่วมชื่อ The Constellation” ซึ่งนำโดย Prof.Dr.Jean-Louis Lamboray ที่เคยทำงานร่วมกับ นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ บิดาแห่งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทย ผ่านการแนะนำของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดลผู้ทรงคุณวุฒิ โดย Prof.Dr.Jean-Louis Lamboray เคยศึกษาเรื่องหลักประกันสุขภาพจากทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เมืองไทย แล้วก็มีความเห็นตรงกันในเรื่องของการสร้างชุมชนเข้มแข็ง จากการทำงานร่วมกันเพื่อที่จะทำให้เกิดการพัฒนา ซึ่งต่อไปจะมีการขยายผลจากการจัดอบรมให้กระจายไปถึงประเทศต่างๆ สู่ภูมิภาคอาเซียน

“ประเทศไทยของเราเป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้เกิดเรื่องของหลักประกันสุขภาพ และหลักประกันทางสังคมแบบถ้วนหน้า จากที่ประเทศไทยได้มีการประกาศนโยบายให้ประเทศไทยมีสุขภาพดีถ้วนหน้า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 หัวใจสำคัญที่จะทำให้ระบบสุขภาพของประเทศบรรลุเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีอยู่ 3 ประการด้วยกัน คือ 1. ทำอย่างไรให้สามารถบริการในลักษณะที่เป็นการบริการแบบบูรณาการที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเน้นที่การบริการปฐมภูมิ 2.ทำอย่างไรที่จะทำให้ประชาชนได้รับการเสริมพลังให้สามารถดูแลตนเองได้ ไม่ใช่เป็นเพียงผู้รับบริการ แต่เป็นผู้ร่วมกำหนด หรือออกแบบการจัดบริการ (co-producer) ตลอดจนสามารถเป็นผู้บริบาล (care giver) ที่ดูแลเพื่อนบ้านได้ และ 3. คือ สิ่งที่จะทำให้เรื่องของการสาธารณสุขมูลฐานประสบความสำเร็จ และบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการกำหนดมาตรการ และนโยบายที่จะทำให้เกิดสุขภาพดีร่วมกัน ซึ่งในการนี้ ความเข้มแข็งของชุมชน จนถึงระดับการเป็นเจ้าของหลักประกันสุขภาพของชุมชนเป็นเรื่องสำคัญ โดยเราคาดหวังให้ผู้ที่ผ่านการอบรมจะได้เป็นผู้นำท้องถิ่นเผยแพร่เรื่องนี้ต่อไป”

“การที่เราจะทำให้เกิดการมีสุขภาพดีจำเป็นต้องมีส่วนร่วมของทุกคนในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาที่เกิดจากความซับซ้อนในสังคม ซึ่งการสาธารณสุขมูลฐานเป็นวิชาการที่สำคัญที่จะมาตอบปัญหาตอบโจทย์ดังกล่าว  ด้วยการที่จำเป็นต้องมีผู้บริหารที่มีทักษะแบบใหม่ มีภาวะผู้นำแบบใหม่ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล มีความมุ่งหมายที่จะเป็นส่วนหนึ่งในสังคมในการช่วยผลิตผู้นำให้ไปช่วยกันสร้างให้เกิดความร่วมมือของประชาชน ตลอดจนภาคส่วนต่างๆ โดยหวังจะช่วยแก้ไขการมีปัญหาทางสุขภาพที่ซับซ้อนของประเทศไทย และของโลกได้ในที่สุด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ภูดิท เตชาติวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย