Logistics

เปิดผลงาน 3 บริษัทโลจิสติกส์ ช่วงต้นทุนสูง-ขาดแคลน Supply

แม้ว่าในปี 2565 ที่ผ่านมา COVID-19 จะเบาบางลง แต่ความต้องการสินค้าของผู้บริโภคกลับยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว นอกจากนี้ผู้คนยังเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางส่วนกลับมาซื้อสินค้าทาง Offline มากขึ้นหลังเปิดประเทศ ทำให้การเติบโตของอุปสงค์ในธุรกิจขนส่งลดลงในแทบทุกประเภทการขนส่ง

โดยเฉพาะความต้องการขนส่งพัสดุด่วนที่ลดลงนำไปสู่การแข่งขันทางการตลาดที่รุนแรงขึ้น เพราะทุกบริษัทต่างต้องการแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดมากขึ้น ในขณะที่ต้นทุนพลังงาน รวมไปถึงค่าแรงที่ยังทรงตัวสูงก็ยังเป็นตัวที่ฉุดกำไรสุทธิของบริษัทเหล่านี้ด้วยเช่นกัน โดยเราพบข้อมูลว่าต้นทุนการขนส่งเพิ่มจากราคาน้ำมันแพง รวมไปถึงภาวะการขาดแคลนซัพพลายภาคขนส่ง ทำให้สัดส่วนต้นทุน Logistics ต่อ GDP ปี 2565 พุ่งสู่ 14.1%

ซึ่งต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นนี้ จะทำให้เกิดผลกระทบเป็นอย่างมากโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็ก และผู้ประกอบการที่ไม่มีเครือข่ายพันธมิตร เพราะบริษัทขนาดใหญ่จะได้เปรียบที่เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of scale) หรือ พูดง่าย ๆ คือหากเส้นทางเดียวกันสามารถขนส่งสินค้าไปยังบ้านสินค้าได้จำนวนมาก ก็จะเกิดการประหยัดพลังงานต่อรอบการวิ่งลงจากการใช้เส้นทางวิ่งเดียวกัน เทียบกกับบริษัทเล็กที่วิ่งเส้นทางเดียวกันแต่อาจส่งสินค้าไปยังบ้านลูกค้าได้จำนวนน้อยกว่า นอกจากนี้ภาวะขาดแคลนซัพพลายภาคขนส่งก็ทำให้บริษัทที่มีพันธมิตรเกื้อกูลกันเผชิญปัญหาขาดแคลนนี้น้อยกว่า

วันนี้ ‘Business+’ จะมาเปิดข้อมูลของ 3 บริษัท Logistics ที่เราคุ้นหูคุ้นตากันเป็นอย่างดีในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ประกาศผลการดำเนินงานงวดปี 2565 ออกมาเป็นที่เรียบร้อย โดยคัดเลือกจาก 3 บริษัทขนส่งที่มีความโดดเด่นในแต่ละประเภทการขนส่งที่แตกต่างกัน

Logistics

 

โดย เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) ผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดขนส่งพัสดุด่วน มีรายได้ที่ลดลงจากปี 2564 มาที่ 17,145.04 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 2,829.84 ล้านบาท เทียบกับปี 2564 กำไรสุทธิอยู่ที่ 46.92 ล้านบาท โดย เคอร์รี่ ประสบปัญหาจากการที่ไม่สามารถลดต้นทุนการจัดส่งต่อหน่วยได้เท่ากับต้นทุนน้ำมัน และค่าแรงขั้นต่ำที่ขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นเกือบ 10% ในปี 2565

ส่วน ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ ผู้ดำเนินธุรกิจให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทั้งทางอากาศ ทางทะเล และทางบก ทั้งในรูปแบบPort-to-Port และ Door-to-Door ถึงแม้รายได้ปี 2565 จะลดลงจากปี 2564 มาที่ 2,878 ล้านบาท แต่กลับบริหารจัดการต้นทุนได้ดี จนกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 795.66 ล้านบาท เทียบกับปี 2564 กำไรสุทธิอยู่ที่ 377.34

และ ไวส์ โลจิสติกส์ บริษัทขนส่งที่โดดเด่นด้านการขนส่งทางทะเล และอากาศ มีรายได้ที่ลดลงจากปี 2564 มาที่ 7,137.92 ล้านบาท แต่กลับบริหารจัดการต้นทุนได้ดี จนกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 554.06 ล้านบาท เทียบกับปี 2564 กำไรสุทธิอยู่ที่ 535.53 ล้านบาท

จะเห็นได้ว่า ทั้ง 3 บริษัทที่มีความแตกต่างกันในแต่ละประเภทขนส่ง ต่างได้รับผลกระทบที่แตกต่างกันไป แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่ต่างกันคือ การบริหารจัดการต้นทุน ถือเป็นปัจจัยหลักที่บริษัท Logistics จะต้องให้ความสำคัญ โดยปกติแล้วต้นทุนในการขนส่งนั้น มีอยู่ 3 ส่วนหลัก ๆ ด้วยกัน ได้แก่

1) ต้นทุนเบื้องต้น (Initial Cost) ซึ่เป็นต้นทุนที่เกิดจากการลงทุนซื้อรถในการขนส่ง หรือติดตั้งเครื่องมืออุปกรณ์บนรถ โดยต้นทุนนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะเวลาที่บริษัทมีการซื้อและติดตั้งอุปกรณ์ที่จำเป็น

2) ต้นทุนการดำเนินงาน (Operating Cost) ส่วนใหญ่ต้นทุนประเภทนี้เป็นต้นทุนคงที่ ซึ่งจะลดลงได้ยาก ยกตัวอย่างเช่นเงินเดือน ค่าประกันภัยรถ ภาษีรถ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในบริษัท เช่นค่าเช่าพื้นที่ หรือ ค่าเสื่อมราคา

3) ต้นทุนการวิ่งขนส่ง (Running Cost) ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญที่สุดในธุรกิจขนส่ง เช่น ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่ายางรถ โดยต้นทุนประเภทนี้สำคัญที่สุดเพราะบริษัทขนส่งจะได้กำไรหรือขาดทุนก็ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการต้นทุนประเภทนี้ ซึ่งบริษัทจะต้องกำหนดเส้นทางที่ประหยัด รวดเร็ว และมีแผนการในการขนส่งที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากที่สุด

สำหรับแนวโน้มปี 2566 ทาง ttb analytics คาดการณ์ว่าในปี 2566 ต้นทุนขนส่งจะเริ่มปรับลดลง ขณะที่ยังแนะนำภาครัฐเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงโหมดการขนส่ง และสนับสนุนอุตสาหกรรมกลุ่ม New S-Curve ที่มีมูลค่าสูง เพื่อลดสัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP ในระยะยาว

ที่มา : SETSMART

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

#Businessplus #Business #นิตยสารBusinessplus #ธุรกิจขนส่ง #ขนส่งโลจิสติกส์ #Logistics