ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันโลกเราเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุกันมากขึ้น ซึ่งจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่าจำนวนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3% ต่อปีเลยทีเดียว ซึ่งในปี 2573 คาดว่าจะมีจำนวนประชากรสูงอายุมากถึงประมาณ 1.4 พันล้านคนทั่วโลกและจะเพิ่มขึ้นถึง 2 พันล้านคนในปี 2593
โดยทวีปเอเชียจะมีประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมากที่สุดในโลก เฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศญี่ปุ่น ที่ปัจจุบันถือเป็นประเทศที่มีประชากรสูงวัยมากที่สุดในโลกและถือเป็นประเทศแรก ๆ ของโลกที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว (Super-aged Society)
และสำหรับในประเทศไทยนั้น จำนวนผู้สูงอายุมีอัตราการเติบโตเป็นอันดับ 3 ในทวีปเอเชีย รองมาจากประเทศเกาหลีใต้ และประเทศญี่ปุ่น ซึ่งประเทศไทยก็ได้เริ่มเข้าใกล้สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2548 อย่างไรก็ดี ในปี 2565 ที่ผ่านมาก็พบว่ามีสัดส่วนผู้สูงอายุมากถึง 18.94% ของประชากรทั้งหมดเลยทีเดียว
สำหรับประเทศไทยนั้น มีผู้สูงอายุมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน และภาคเหนือเป็นอันดับที่ 2 ซึ่งสาเหตุที่เป็นแบบนั้น เพราะว่าภาคอีสาน และภาคเหนือมีค่าครองชีพค่อนข้างต่ำ และมีธรรมชาติที่ยังเป็นชนบทที่ค่อนข้างสงบอยู่มากกว่าภาคอื่น ๆ จึงเหมาะกับการไปใช้ชีวิตในวัยเกษียณ ที่ไม่ต้องดิ้นรน หรือแข่งขันแบบสังคมเมือง
โดย ภาคอีสาน ค่าครองชีพสูงที่สุดคือ “บึงกาฬ” 21,431 บาท ส่วนจังหวัดที่ค่าครองชีพถูกที่สุด คือ “ยโสธร” 12,907 บาท ส่วนภาคเหนือ ค่าครองชีพแพงที่สุด คือ “ลำพูน” 20,190 บาท และค่าครองชีพถูกที่สุด คือ “เชียงราย” 11,532 บาท
ซึ่งใครที่กำลังทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ อาจจะสามารถมองหากลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เป็นผู้สูงอายุ จากทำเลใน 2 ภาคนี้ เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้า หรือยิงโฆษณาให้กับ 2 ภาคนี้เป็นพิเศษได้เช่นเดียวกัน

เขียนและเรียบเรียง : อโญศิริ สุระตโก
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS