‘ฟิลิปปินส์’ ประเทศที่มีท่าเรือมากมาย แต่กลับไม่มีประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ กำลังสร้างไอเดียใหม่เพื่อ ‘กำจัดค่าฝากตู้คอนเทนเนอร์’

‘ฟิลิปปินส์’ เป็นหนึ่งในประเทศที่เต็มไปด้วยท่าเรือ เนื่องจากมีลักษณะภูมิภาคเป็นเกาะประกอบด้วย 7,461 เกาะ นั่นทำให้การคมนาคมขนส่งทางน้ำเป็นระบบที่สำคัญที่สุด โดยฟิลิปปินส์มีท่าเรือทั่วประเทศประมาณ 429 แห่ง ที่ใช้ขนส่งทั้งสินค้าและผู้โดยสาร

แต่ถึงแม้จะมีท่าเรือมากมายฟิลิปปินส์กลับเป็นประเทศที่ปัญหาระบบโลจิสติกส์ที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ และได้ชื่อว่ามีความหนาแน่นและแออัดของท่าเรืออย่างมากแห่งหนึ่งของโลก โดยท่าเรือ ‘มะนิลา’ ซึ่งเป็นท่าเรือหลักเป็นท่าเรือที่มีปัญหาความแออัดมากที่สุด

ซึ่งปัญหานี้ส่วนหนึ่งเกิดจากระเบียบที่ห้ามรถบรรทุกวิ่งในเขตเทศบาลเมืองมะนิลา ในบางช่วงเวลา ซึ่งได้ส่งผลให้รถบรรทุกวิ่งออกจากท่าเรือเพื่อขนส่งสินค้าได้น้อยลง ทำให้ตู้คอนเทนเนอร์ตกค้างอยู่ในเขตท่าเรือจำนวนมากอยู่เสมอ และทำให้ผลิตภาพและประสิทธิภาพของท่าเรือลดลง

นอกจากนี้ยังมีตู้คอนเทนเนอร์เปล่า ซึ่งไม่สามารถขนออกจากท่าเรือได้ โดยตู้เหล่านี้ บางครั้งใช้พื้นที่ถึง 50% ของลานตู้คอนเทนเนอร์ทั้งหมดทำให้สิ้นเปลืองพื้นที่อย่างมากก่อให้เกิดปัญหาสำหรับท่าเรือเข้ามาใหม่ไม่สามารถลงจากเรือได้ ซึ่งทำให้สายเรือบางรายถึงกับเลิกใช้บริการท่าเรือมะนิลาไปเลยก็มี

นอกจากเรื่องกฏระเบียบรถบรรทุกแล้ว ยังมีเรื่องความไม่พร้อมของท่าเรืออยู่ เช่นซูบิก และบาทังกัส ในการเป็นศูนย์กลางการค้า ทำให้บริษัทการค้าระหว่างประเทศต่างๆ ไม่สามารถเปลี่ยนไปใช้ท่าเรือ 2 แห่งนี้ได้ และทำให้ศูนย์กลางของธุรกิจจึงยังคงอยู่เฉพาะที่กรุงมะนิลา

ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะต้องใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าจะทำให้ท่าเรือซูบิก และท่าเรือบาทังกัส กลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจได้ นอกจากนี้อีกหนึ่งปัญหาคือ ผู้นำเข้าและบริษัทตัวแทนออกสินค้าบางราย ไม่ยอมให้นำสินค้าที่ผ่านพิธีการศุลกากรแล้ว ออกไปจากท่าเรือ แต่กลับใช้ท่าเรือเป็นเสมือนโกดังเก็บสินค้า จำทำให้สินค้ายังค้างอยู่ในท่าเรือเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ โลจิสติกส์ (logistic) ของฟิลิปปินส์ยังไม่มีประสิทธิภาพ เห็นได้จากการจัดอันดับของศูนย์วิจัยหลายสำนักที่ให้คะแนนท่าเรือฟิลิปปินส์ค่อนข้างน้อย

ขณะที่ค่าขนส่งทางทะเลก็มีอัตราค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน ทำให้ที่ผ่านมาฟิลิปปินส์ ถูกมองข้ามและสูญเสียโอกาสในการเข้ามาลงทุนและค้าขายจากต่างประเทศ เนื่องจากมีต้นทุนการขนส่งที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ อย่างไรก็ตามรัฐบาลฟิลิปปินส์ได้พยายามที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด และล่าสุดได้เกิดการคิดระบบแบบใหม่ ที่จะเข้ามาช่วยในแง่ของต้นทุน และช่วยลดการจราจรที่ติดขัดได้อีกด้วย

โดย ‘การท่าเรือแห่งฟิลิปปินส์’ กำลังจะดำเนินโครงการ Trusted Operator Program-Container Registry and Monitoring System หรือ TOP-CRMS ซึ่งใช้ในการกำจัดค่าฝากตู้คอนเทนเนอร์ที่เรียกเก็บจากสายการเดินเรือไปยังผู้ให้บริการรถบรรทุก นายหน้าและตัวกลางทำหน้าที่แทนผู้ส่งออก/ผู้นำเข้าสินค้า ซึ่งโครงการ TOP-CRMS ของการท่าเรือดังกล่าวมีมูลค่าประมาณ 900 ล้านเปโซ หรือราว 543.26 ล้านบาท และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในครึ่งปีแรกของปีนี้

ซึ่งระบบการตรวจสอบดังกล่าวจะลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นโดยรถบรรทุก บนท้องถนนซึ่งจะช่วยในการคาดการณ์พื้นที่/ลานจัดเก็บตู้คอนเทนเนอร์ที่ไม่พร้อมใช้งานเมื่อจะส่งคืนตู้คอนเทนเนอร์เปล่า

ทั้งนี้การใช้ระบบ TOP-CRMS จะทำให้การท่าเรือฯ สามารถกำจัดการฝากตู้คอนเทนเนอร์ แทนที่ด้วยการประกันการฝากตู้คอนเทนเนอร์ โดยปัจจุบันค่ามัดจำตู้คอนเทนเนอร์ที่เรียกเก็บโดยสายการเดินเรือมีตั้งแต่ 10,000 ถึง 30,000 เปโซสำหรับตู้คอนเทนเนอร์มาตรฐาน (Dry Containers) และจนถึง 180,000 เปโซสำหรับตู้คอนเทนเนอร์แบบห้องเย็น (Refrigerated containers) นอกจากนี้ สายการเดินเรือยังกำหนดให้วางเงินมัดจำตู้คอนเทนเนอร์เพื่อให้แน่ใจว่าตู้คอนเทนเนอร์จะถูกส่งคืนโดยไม่เสียหาย โดยที่ระบบ TOP-CRMS จะลดอัตราค่าใช้จ่ายดังกล่าวเหลือเพียง 980 เปโซสำหรับค่าธรรมเนียมการตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์เท่านั้น

นอกจากนี้ ระบบตรวจสอบยังช่วยแก้ไขปัญหาที่ผู้ขับรถบรรทุกพบเมื่อส่งคืนตู้คอนเทนเนอร์เปล่า โดยปกติสายการเดินเรือจะให้เวลาผู้ขับรถบรรทุกประมาณ 3 – 5 วันในการส่งคืนตู้คอนเทนเนอร์เปล่า และคิดค่าบริการหากเกินระยะเวลา 5 วัน รวมทั้งอาจมีการถูกเรียกเก็บเงินประมาณ 1,000 เปโซ เพื่อกำหนดเวลาส่งคืนตู้คอนเทนเนอร์เปล่าอีกด้วย และในบางครั้งผู้ขับรถบรรทุกได้รับคำแนะนำจากสายการเดินเรือให้ส่งคืนตู้คอนเทนเนอร์ไปยังลานตู้คอนเทนเนอร์เฉพาะเพราะไม่มีพื้นที่ว่างแล้ว ทำให้คนขับรถบรรทุกต้องรอ หรือยอมเสี่ยงกับค่าปรับในการจอดรถหรือรออยู่บนถนน ซึ่งค่าปรับเหล่านี้สุดท้ายจะถูกส่งต่อไปยังผู้บริโภค ซึ่งระบบ TOP-CRMS ของการท่าเรือฯ จะรับรองหรือกำหนดพื้นที่/ลานจัดเก็บ สำหรับตู้คอนเทนเนอร์เปล่าเหล่านี้ได้ โดยในเบื้องต้น การท่าเรือฯ ได้กำหนดให้พื้นที่ในจังหวัด Bulacan ซึ่งมีขนาดอย่างน้อย 10 เฮกตาร์และขยายได้ถึง 18 เฮกตาร์

ทั้งนี้การใช้ระบบ TOP-CRMS ของการท่าเรือฟิลิปปินส์จะเข้ามาช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ รวมไปถึงช่วยลดความแออัดของการจราจร ซึ่งเป็น 2 สิ่งที่จะสร้างความได้เปรียบเชิงแข่งขันให้กับฟิลลิปปินส์ได้ในอนาคต

ที่มา : DIPT

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

Businessplus #Business #นิตยสารBusinessplus #ท่าเรือ #มะนิลา #ขนส่งตู้คอนเทนเนอร์