บทพิสูจน์ความคุ้มค่า KBANK ปั้น ‘Bank Maspion’ สยายปีกสู่ตลาดอินโดฯ

ถือเป็นอีกหนึ่งดีลที่น่าจับตามอง กรณี ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เข้าเก็บหุ้นธนาคารแมสเปี้ยน (PT Bank Maspion indonesia Tbk : BMAS) ในประเทศอินโดนีเซียเพิ่ม ผ่านบริษัทลูก ‘กสิกรวิชั่น ไฟแนนเชียล (KVF)’ ด้วยเงินลงทุนไม่เกิน 220 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 7,566 ล้านบาท) ภายหลัง KBANK เข้าซื้อหุ้นธนาคารแมสเปี้ยนครั้งแรกเมื่อปี 2560 ในสัดส่วน 9.99% ซึ่งภายหลังการทำธุรกรรมครั้งนี้ จะส่งผลให้ KBANK และ KVF ถือหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่า 67.50% และขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในธนาคารแมสเปี้ยน

โดย KBANK มองว่าการเข้าซื้อธนาคารแมสเปี้ยนในครั้งนี้ จะทำให้ธนาคารสามารถประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในประเทศอินโดนีเซียได้ ด้วยมูลค่าเงินลงทุนรวมไม่เกินที่ 220 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งต่ำกว่าการยื่นขอใบอนุญาตใหม่ที่ต้องใช้เงินลงทุนขั้นต่ำ 700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้ธนาคารมีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ยังเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการขยายธุรกิจของธนาคาร เนื่องจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยดิจิทัลในอินโดนีเซียจะช่วยสนับสนุนให้แนวโน้มบริการทางการเงินสำหรับลูกค้าทุกกลุ่มมีแนวโน้มสดใสไปพร้อมกับการเติบโตของเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-19

สำหรับธนาคารแมสเปี้ยน ถือเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มแมสเปี้ยน ซึ่งเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ของอินโดนีเซีย เช่น ธุรกิจการเงินธนาคาร ค้าปลีก ค้าส่ง โลจิสติกส์ อสังหาริมทรัพย์ เป็นผู้เล่นอันดับหนึ่งในธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคแบบถาวร อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องใช้ในครัวเรือน มีฐานลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ในส่วนของศักยภาพนั้น BMAS จัดเป็นธนาคารพาณิชย์เอกชนระดับ BUKU2 ที่มีศักยภาพของอินโดนีเซีย เน้นบริการกลุ่มลูกค้าบุคคลและธุรกิจเอสเอ็มอี มีวิสัยทัศน์สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินธุรกิจของ KBANK ในด้านการลงทุนพัฒนาดิจิทัล แบงกิ้ง เพื่อรองรับพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป และให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยง โดยมีสัดส่วนเอ็นพีแอล (NPL) ระดับต่ำประมาณ 0.91% ขณะที่อัตราเฉลี่ยระบบธนาคารพาณิชย์อินโดนีเซียอยู่ที่ 2.93% โดยมีเครือข่ายสำนักงานทั่วประเทศ 51 แห่ง ครอบคลุมเมืองสำคัญของประเทศที่ลูกค้าธนาคารกสิกรไทยเข้าไปทำธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าได้เข้าถึงการบริการด้านการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ และการให้คำปรึกษาโดยผู้ให้บริการท้องถิ่นที่มีความชำนาญ

สำหรับธนาคารแมสเปี้ยน ถือเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มแมสเปี้ยน ซึ่งเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ของอินโดนีเซีย เช่น ธุรกิจการเงินธนาคาร ค้าปลีก ค้าส่ง โลจิสติกส์ อสังหาริมทรัพย์ เป็นผู้เล่นอันดับหนึ่งในธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคแบบถาวร อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องใช้ในครัวเรือน มีฐานลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ซึ่งหากมองในแง่ของความคุ้มค่า แม้ในด้านของผลตอบแทนจะยังไม่ชัดเจนนัก แต่ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ของ KBANK ในการต่อยอดพัฒนาเทคโนลยีที่มีอยู่ในมือไปผสานกับการเป็น ‘เจ้าถิ่น’ ของ BMAS ซึ่งเป็นธนาคารท้องถิ่นที่มีศักยภาพและจุดแข็งในการเข้าถึงกลุ่มธุรกิจท้องถิ่นขนาดเล็กและขนาดย่อม สอดรับกับความเชี่ยวชาญของ KBANK ในการสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อมเพื่อช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการในประเทศอินโดนีเซีย โดยภายหลังการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ BMAS ไม่เพียงแค่การให้บริการลูกค้าในพื้นที่เท่านั้น แต่หมายรวมไปถึงนักลงทุนคนไทยที่เป็นลูกค้าของ KBANK ที่จะได้รับความสะดวกสบายในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ KBANK ได้รับประโยชน์ในแง่ของฐานลูกค้าจากความเชื่อมั่นของลูกค้ารายเดิม และลูกค้ารายใหม่ที่ต้องอาศัยความมั่นใจจากการเป็นธนาคารในประเทศ ซึ่งในส่วนนี้ BMAS สามารถตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ จากความตั้งใจของ KBANK ที่ต้องการจะใช้ความเชี่ยวชาญด้านโมบายแบงกิ้งในการนำเสนอและส่งมอบนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์และบริการที่ครอบคลุมให้แก่ลูกค้าในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดที่มีการเติบโตของเทคโนโลยีทางการเงินที่โดดเด่นเป็นอันดับต้น ๆ ของอาเซียน นับเป็นความท้าทายอีกหนึ่งบทในผลักดันแอปพลิเคชัน K PLUS ให้กลายเป็นแพลตฟอร์มระดับภูมิภาค

ด้าน ‘บล.เอเซีย พลัส’ มองว่าแม้ขนาดสินทรัพย์ของ BMAS ณ สิ้นปี 2564 อยู่ที่ 33,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1% ของสินทรัพย์ KBANK และกำไรสุทธิปี 2564 ประมาณ 179 ล้านบาท ถือว่ามูลค่าเงินลงทุนต่ำกว่าการขอใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารใหม่ในอินโดนีเซีย ที่ต้องมีทุนจดทะเบียนราว 10 ล้านรูเปียห์ (ประมาณ 690 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เปรียบเสมือนการเปิดตลาดใหม่ในอินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจาก IMF พบว่าปี 2565-2568 อินโดนีเซียจะมี GDP ขยายตัว เฉลี่ยราว 5.7% ต่อปี เทียบกับไทยเฉลี่ยที่ 3.7% ต่อปี อีกทั้ง Loan / GDP ของอินโดฯ อยู่ในระดับประมาณ 40% จึงยังมีโอกาสในการเติบโต ผ่าน Platform Digital ของ KBANK นอกจากนี้ยังช่วย Support ลูกค้า KBANK ในไทยที่มีธุรกรรมในประเทศอินโดนีเซีย

ที่มา : SET, KBANK, InfoQuest, บล.เอเซีย พลัส

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #KBANK #ธนาคารกสิกรไทย #ธนาคารพาณิชย์ #อินโดนีเซีย #อาเซียน