กสิกรไทยประกาศผล HACKATHON โครงการ AFTERKLASS Business Kamp 2023 แอปฯ “How are you? เพื่อผู้ต้องการที่พึ่งทางใจ” คว้าผลงานชนะเลิศไปครอง

กสิกรไทยประกาศผล HACKATHON โครงการ AFTERKLASS Business Kamp 2023 แอปฯ “How are you? เพื่อผู้ต้องการที่พึ่งทางใจ” คว้าผลงานชนะเลิศไปครอง

ธนาคารกสิกรไทย จัดกิจกรรมต่อเนื่อง AFTERKLASS Business Kamp: Innovation for a Sustainable Society Hackathon 2023 เป็นปีที่ 4 ให้น้องๆ ระดับมัธยมปลายทั่วประเทศรวมทีมเข้าร่วมแข่งขันไอเดียนวัตกรรมสร้างแผนธุรกิจที่นำไปใช้ได้จริงเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนในอนาคต ทีม “เก๋ากี่” คว้ารางวัลชนะเลิศไปครอง ด้วยไอเดียการสร้างแอปฯ “How are You? เพื่อผู้ที่ต้องการที่พึ่งทางใจ” จากกลุ่มเยาวชนที่ผ่านเข้ารอบทั้งหมด 6 ทีม

นายรวี อ่างทอง ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายบูรณาการความยั่งยืนองค์การ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยร่วมกับมูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา จัดโครงการ AFTERKLASS Business KAMP ปีที่ 4 ภายใต้ธีม Innovation for a Sustainable Society Hackathon 2023 มุ่งมั่นส่งเสริมการพัฒนาคนโดยผ่านระบบการศึกษาที่เป็นกลไกพื้นฐานทางความคิดที่สำคัญ โดยเฉพาะในเยาวชน ด้วยวัตถุประสงค์หลักในการมอบโอกาสในการพัฒนา องค์ความรู้ใหม่ ทักษะใหม่และประสบการณ์จริง เพื่อให้เยาวชนมีทักษะการคิดที่มีเหตุผลและนำไปต่อยอดธุรกิจในอนาคตได้

โดยในปีนี้เป็นการแข่งขันสร้างไอเดียธุรกิจและนวัตกรรมสตาร์ทอัพในรูปแบบ Hackathon ด้วยโปรแกรมบ่มเพาะนวัตกรรม (Incubation Program) ที่ไม่เพียงนำเสนอแนวคิดอย่างสร้างสรรค์ ยังช่วยผลักดันให้นำไปพัฒนาต่อให้เกิดขึ้นจริง สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยมีทีมเยาวชนให้ความสนใจสมัครเข้ามาจำนวนมากถึง 76 ทีม และโครงการได้คัดเลือก จนเหลือ 6 ทีม ที่ผ่านเข้าไปชิงในรอบ Hackathon

สำหรับกิจกรรม Hackathon Day ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 ธ.ค. 66 – 3 ธ.ค. 66 ที่ผ่านมา น้องๆ เยาวชนทั้ง 6 ทีม กับ MVP ของนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนที่เกิดขึ้นได้จริง และพิสูจน์คุณค่ากับกลุ่มลูกค้าของนวัตกรรม โดยทั้ง 2 วัน เยาวชน 6 ทีมได้เรียนรู้วิธีการนำพานวัตกรรมเข้าถึงกลุ่มลูกค้า (Customer Acquisition) ที่มาพร้อมแผนธุรกิจ ทั้งในมุมของการผลิตและการดำเนินงาน (Production & Operation) การตลาด (Marketing) และการเงิน (Finance) ที่จะทำให้กรรมการในเวทีสุดท้ายยอมรับในคุณค่าความสามารถของนวัตกรรมเพื่อสร้างผลกระทบด้านความยั่งยืนได้จริง

ผลการแข่งขัน ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีมเก๋ากี่ โดยนำเสนอไอเดียนวัตกรรมธุรกิจที่มีชื่อว่า How are you? แอปพลิเคชันที่จะเป็นเหมือนเพื่อนที่พร้อมรับฟัง ให้กำลังใจ และเป็นที่พักใจสำหรับทุกคน รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม AngsanaNew นำเสนอไอเดียนวัตกรรมธุรกิจที่มีชื่อว่า River Ranger เรือหุ่นยนต์เก็บขยะทางน้ำเพื่อลำคลองสะอาด และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม Flying Turtle นำเสนอไอเดียนวัตกรรมธุรกิจที่มีชื่อว่า Track Point Sensor หมวกกันน็อกนิรภัยและแอปพลิเคชันเพื่อจูงใจผู้ขับขี่จักรยานยนต์ ให้สวมหมวกกันน็อกมากขึ้นผ่านระบบสะสมแต้ม และยังมีรางวัล Inspiration for a Sustainable Society อีก 3 รางวัล มูลค่ารวมกว่า 200,000 บาท

นายรวีกล่าวเพิ่มเติมว่า ปีนี้นับเป็นครั้งแรกที่ผู้เข้าร่วมโปรแกรมบ่มเพาะนวัตกรรม (Incubation Program) จะได้พัฒนาตัวต้นแบบผลิตภัณฑ์จริง ๆ (Minimum Viable Product: MVP) เพื่อนำไปทดสอบกับผู้ใช้งานจริง ว่าสามารถแก้ปัญหาที่ต้องการได้หรือไม่ โดยทางมูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญาเข้ามามาร่วมสนับสนุนทุนหลักสูตรช่วง MVP เพื่อให้เยาวชนได้ฝึกฝนและลองทำจริง ทดสอบกับผู้ใช้จริงเพื่อรับข้อคิดเห็น และปรับปรุงผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ตอบโจทย์มากที่สุด เพื่อช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมให้เกิดขึ้นจริง สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนได้ ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดโครงการได้ที่ www.afterklass.com หรือ Line official account: @afterklass