Insur

ส่วนแบ่งการตลาดประกันประเภทไหนทำรายได้สูงที่สุด!!

แนวโน้มภาพอุตสาหกรรมประกันภัยในปี 2566 ถูกมองว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปี 2565 เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้นจากภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้การใช้จ่ายคึกคักกว่าปีที่ผ่านมา

โดย คปภ. คาดการณ์เอาไว้ว่าในปี 2566 ธุรกิจประกันภัยจะมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงประมาณ 894,600 ล้านบาท โดยในกรณีที่ดีสุดเราจะได้เห็นการเติบโต 1.95% แต่กรณีที่แย่ที่สุดเราอาจจะได้เห็นการลดลง 0.05% เมื่อเทียบกับปี 2565 ซึ่งตัวเลขในปี 2565 ถูกคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 886,211 ล้านบาท

หากเจาะข้อมูลเข้าไปในแต่ละประเภทจะพบว่ามีการประมาณการเบี้ยประกันชีวิตจำนวน 614,917 ล้านบาท ซึ่งอาจจะได้เห็นการหดตัว 0.82% หรือกรณีที่ดีที่สุดจะเติบโตได้ถึง 18% ส่วนในมุมมองของ ‘สมาคมประกันชีวิตไทย’ ได้ประมาณการไว้ว่าเบี้ยประกันชีวิตจะทรงตัวจากปีก่อนหน้า หรือกรณีที่ดีที่สุดอาจจะขยายตัวได้ 2.50%

ด้านเบี้ยประกันวินาศภัย คภป.คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 271,293 ล้านบาท โดยจะเห็นการเติบโตในช่วง 2.25-4.25% เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการประมาณการของสมาคมประกันวินาศภัยไทยที่คาดการณ์ว่าจะมีการเติบโต 3.50% ด้วยเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 282,200-287,900 ล้านบาท

ส่วนแบ่งการตลาดเบี้ยประกันวินาศภัย ไตรมาส 3 ปี 2565

Insur

จะเห็นว่าประกันภัยรถยังคงสัดส่วนได้มากสุดที่ 55.91% และอันดับที่ 2 คือ การประกันภัยอุบัติเหตุ ด้วยสัดส่วน 12.09% ส่วนการประกันภัยทางทะเล และขนส่งเป็นประกันที่มีมูลค่าต่ำที่สุด

แม้ประกันวินาศภัยจะมีแนวโน้มที่ค่อนข้างดี แต่ยังมี 4 ปัจจัยหลักที่ต้องจับตา นั่นคือ การทำสงครามข้อมูล การควบรวมกิจการ ภาวะการแข่งขันที่ดุเดือด และความมั่นคงทางการเงิน เนื่องจากบริษัทประกันวินาศภัยขนาดใหญ่ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงก็จะทำราคาได้ดีกว่า ทำให้บริษัทเล็กเสียเปรียบในการแข่งขันมาก จึงเป็นที่มาของการควบรวมกิจการ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น ซึ่งการควบรวมกิจการนั้น ก็มีทั้งผลดีและผลเสีย ในแง่ของผู้บริโภคอาจจะการควบรวบกิจการอาจจะทำให้ได้รับผลิตภัณฑ์ในราคาที่ต่ำลง แต่หากการควบรวมกิจการแล้วอาจจะทำให้จุดเด่น ของประกันวินาศภัยที่คุณเคยได้รับก่อนควบรวมต้องเปลี่ยนแปลงไปตามนโยบายใหม่ของบริษัทที่ทำการควบรวมเข้าด้วยกัน

นอกจากนี้ ยังเกิดภาวะการแข่งขันด้านการใช้ข้อมูล (Data Science) เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมาย เนื่องจากสถานการณ์ของประกันรถยนต์ในประเทศไทยนั้นมีการแข่งขันกันสูงมาก จนบริษัทประกันภัยบางรายยอมตัดราคาจนแทบจะไม่เหลือกกำไร จึงต้องหันมาใช้กลยุทธ์วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายเชิงลึกมากขึ้น ซึ่งวิธีนี้เป็นทางออกของการสร้างกำไร แต่วิธีการนั้น ทางบริษัทประกันภัยจะต้องเจาะกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน และลึกขึ้น ด้วยข้อมูลต้องแน่นเพียงพอ ซึ่งการจะเก็บข้อมูลและวิเคราะห์เชิงลึกได้ต้องมีความพร้อมทั้งในแง่ของเทคโนโลยี และการตลาดที่เพียงพอ จึงอาจต้องใช้งบการลงทุนที่สูงมาก

ที่มา : SET ,wealthmagik

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

#RMF #กองทุนรวมRMF #ลงทุน #การลงทุน #การลงทุนกองทุนรวม #กองทุนรวม #กองทุน #LTF #ประกันชีวิต #ประกันวินาศภัย