Influencer Marketing

ส่องมูลค่าตลาด Influencer Marketing คาดปี 2567 สูงถึง 2.4 หมื่นล้านเหรียญ

อาชีพที่หลายคนยังคงคิดว่าสามารถสร้างรายได้ให้มาก และง่าย ก็คืออาชีพ อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) จะสังเกตได้จากพนักงานประจำผันตัวเข้าสู่วงการนี้มากขึ้น เพราะอยากมีอิสระในเรื่องของเวลางาน สามารถทำงานที่ไหนก็ได้ และได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ นอกกรอบจากเดิม การจะเป็นอินฟลูเอนเซอร์ต้องค้นหาความชอบ สไตล์ของตัวเองให้เจอ หรือมีความเชี่ยวชาญที่เฉพาะด้าน เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งเมื่อมีจุดเด่นก็จะดึงดูดความสนใจของแบรนด์และจะได้ถูกการว่าจ้างตามลำดับ

โดยอินฟลูเอนเซอร์เริ่มมีบทบาทที่มากขึ้นตั้งแต่ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 เพราะหลายธุรกิจได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ และผู้ประกอบการบางรายถึงกับต้องปิดกิจการเนื่องจากไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสวนทางกับรายได้ที่มีความชะลอตัวจากกำลังซื้อที่น้อยลงของผู้บริโภค จึงทำให้ต้องมีการสร้างกลยุทธ์ วิธีใหม่ ๆ ในการทำการตลาดเพื่อให้แบรนด์อยู่รอด และมีความโดดเด่นในใจของผู้บริโภค ส่งผลให้การตลาดแบบ Influencer Marketing มีความสำคัญมากขึ้นกว่าเดิมในการเชื่อมโยงแบรนด์กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เพราะยิ่งหากเป็นผู้ที่มีอิทธิพลในโซเชียลมีเดียก็จะสามารถโน้มน้าวใจผู้บริโภคได้ดี

ทั้งนี้อ้างอิงข้อมูล Influencer Marketing Hub ระบุว่า แรกเริ่มมูลค่าตลาด Influencer Marketing ทั่วโลกอยู่ที่ 1,700 ล้านเหรียญในปี 2559 และมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปี 2565 อยู่ที่ 16,400 ล้านเหรียญ ขณะที่ในปี 2566 มูลค่าตลาดอยู่ที่ 21,100 ล้านเหรียญ ถือเป็นการขยายตัวที่แข็งแกร่ง ทำให้มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2567 มูลค่าตลาด Influencer Marketing ทั่วโลกจะอยู่ที่ 24,000 ล้านเหรียญ บ่งชี้ถึงการเติบโตที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องแม้จะมีภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเป็นปัจจัยกดดันก็ตาม

ซึ่งการที่มูลค่าตลาด Influencer Marketing มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นเพราะจำนวนอินฟลูเอนเซอร์ทั่วโลกเพิ่มมากขึ้นจากในอดีต ซึ่งเมื่ออินฟลูเอนเซอร์มีมากขึ้นจำนวนคอนเท้นต์ก็จะเพิ่มขึ้น ซึ่งในแต่ละวันอินฟลูเอนเซอร์ 1 คน สามารถสร้างคอนเท้นต์ได้อย่างน้อย 1-2 คอนเท้นต์

โดยจากผลสำรวจ 44% ของแบรนด์เลือกอินฟลูเอนเซอร์ระดับนาโน (ผู้ติดตาม 1,000-10,000 คน) ตามมาด้วย 25.7% เลือกอินฟลูเอนเซอร์ระดับไมโคร (ผู้ติดตาม 10,000-100,000 คน) ขณะที่มีแบรนด์เพียงไม่กี่แบรนด์ที่เลือกมุ่งเน้นไปที่อินฟลูเอนเซอร์ที่มีอิทธิพลมาก โดย 17.4% เลือกอินฟลูเอนเซอร์ระดับมาโคร (ผู้ติดตาม 100,000-1 ล้านคน) และอินฟลูเอนเซอร์รายใหญ่/คนดัง 12.9%

สำหรับแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ได้รับความนิยมในตอนนี้มีอยู่ด้วยกัน 10 อันดับ ได้แก่

1.Facebook มีผู้ใช้งาน 3.05 พันล้านคน

2.Youtube มีผู้ใช้งาน 2.49 พันล้านคน

3.WhatsApp มีผู้ใช้งาน 2 พันล้านคน

4.Instagram มีผู้ใช้งาน 2 พันล้านคน

5.TikTok มีผู้ใช้งาน 1.56 พันล้านคน

6.WeChat มีผู้ใช้งาน 1.34 พันล้านคน

7.Facebook Messenger มีผู้ใช้งาน 979 ล้านคน

8.Telegram มีผู้ใช้งาน 800 ล้านคน

9.Douyin มีผู้ใช้งาน 752 ล้านคน

10.Snapchat มีผู้ใช้งาน 750 ล้านคน

อย่างไรก็ดี Influencer Marketing จะมีการทำการตลาดทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด ซึ่งการโปรโมทผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์จะเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีแนวโน้มใช้โซเชียลมีเดียมากที่สุด โดยแบรนด์ต้องค้นหาอินฟลูเอนเซอร์ที่ตอบโจทย์ทั้งแบรนด์ และลูกค้า ขณะที่ออฟไลน์จะเน้นการทดลอง และการบอกต่อ อาจจะใช้อินฟลูเอนเซอร์เฉพาะกลุ่ม สุดท้ายนี้การตลาดแบบ Influencer Marketing อาจเป็นใบเบิกทางให้กับแบรนด์ได้แจ้งเกิด ถือเป็นการลงทุนที่มีแนวโน้มคุ้มค่าต่อธุรกิจ

.

ที่มา : influencermarketinghub, shopify

.

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ

.

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.facebook.com/businessplusonline/ 

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

.

#Businessplus #thebusinessplus #นิตยสารBusinessplus #influencermarketing #influencer #marketing #อินฟลูเอนเซอร์