ข้าวของแพงไม่ไหว!! วอนรัฐฯ แก้ปัญหา 2 ด้าน โปรดขึ้นค่าแรง+ช่วยลดต้นทุนผู้ผลิต

ตอนนี้คนไทยกำลังเจอกับปัญหาราคาสินค้าในประเทศปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วอีกครั้ง หลังจากต้นทุนจากการผลิตอย่างน้ำมัน และวัตถุดิบสำหรับผลิตอาหารสัตว์เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 65) นั่นทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับราคาสินค้าให้เพิ่มสูงขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น (ผู้ประกอบการบางรายกำลังยื้อไม่ขึ้นราคาแบบสุดฤทธิ์สุดเดช)

ซึ่งราคาข้าวของแพงทำให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศไทยขณะนี้อยู่เหนือระดับ 5% และเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นเป็นเวลายาวนานจะก่อให้เกิดผลเสียต่อความกินดีอยู่ดีของประชาชน และในที่สุดจะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ

สำหรับผลกระทบของประชาชนทั่วไปนั้น นอกจากมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังส่งผลในแง่ของการลงทุน โดยช่วงที่อัตราเงินเฟ้อยิ่งสูงจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่หักเงินเฟ้อออก หรือที่เรียกว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest Rate) ลดลง

เช่นปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ 1.5% ต่อปี แต่หากอัตราเงินเฟ้อขึ้นมาที่ 5% เท่ากับว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงหรือผลตอบแทนสุทธิที่ได้รับจริง ๆ อยู่ที่ -3.5% ต่อปี (5% – 1.5% = -3.5%) หรืออัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบ -3.5% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากำลังซื้อจะลดลง

หากยกตัวอย่างให้เห็นภาพอย่างชัดเจนง่าย ๆ เช่น ถ้าเราต้องการซื้อสินค้าราคา 2,000 บาทในช่วงต้นปี และนำเงินไปฝากธนาคารเอาไว้จำนวน 2,000 บาท ซึ่งได้รับดอกเบี้ย 1.5% พอถึงสิ้นปีเงินฝากนี้ก็จะมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2,030 บาท แต่ราคาสินค้าทั่วไปกลับเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ (5%) ทำให้มูลค่าสินค้ากลายเป็น 2,100 บาท เท่ากับว่า เงินต้น+ดอกเบี้ยฝากธนาคารไม่เพียงพอที่จะซื้อสินค้าชิ้นนี้

และเมื่อกำลังซื้อของผู้ฝากเงินลดลง จะทำให้ผู้คนไม่อยากออมเงิน และอาจหันไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า เช่น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ และหุ้น แต่สินทรัพย์เหล่านี้ก็มีความเสี่ยงที่สูงขึ้นตาม และยังสะสมปัญหาฟองสบู่ในสินทรัพย์ต่าง ๆ และความไม่สมดุลในภาคการเงินของประเทศได้ เช่น เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือนหากหากประชาชนไม่สามารถบริหารจัดการการลงทุนได้ (เกิดเป็นหนี้สิน)

#ผลกระทบต่อผู้ประกอบการ
ในด้านของผู้ประกอบการนั้น เจอปัญหาจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นนั้น ส่งผลให้ต้องปรับราคาสินค้าให้สูงขึ้นตาม แต่เมื่อสินค้าที่วางขายมีราคาสูงขึ้นก็จะเผชิญกับความเสี่ยงที่ยอดขายจะลดลง และเมื่อยอดขายลดลงก็ทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจนต้องปิดกิจการ ซึ่งเป็นผลกระทบต่อไปยังตลาดแรงงาน นั่นคือ ผู้ประกอบการบางรายอาจต้องตัดสินใจชะลอการผลิต ลดการจ้างงาน ทำให้มีคนตกงานในประเทศมากขึ้น

#ผลกระทบต่อประเทศ
และเมื่อผู้ประกอบการ และตลาดแรงงานได้รับผลกระทบ สิ่งเหล่านี้จะถูกกระทบต่อไปยังความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เนื่องจากราคาสินค้าส่งออกของเราจะสูงขึ้นเมื่อเทียบกับราคาสินค้าออกของประเทศอื่น ๆ ที่มีเงินเฟ้อต่ำกว่า ทำให้การส่งออกลดลง และเมื่อภาคการผลิตหยุดกิจการจำนวนมากก็เป็นผลต่อตัวเลขทางเศรษฐกิจของประเทศเช่นเดียวกัน

วิธีการแก้ปัญหาเงินเฟ้อด้านอุปทาน
เพื่อให้เข้าใจวิธีการแก้ปัญหาด้านเงินเฟ้อ ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่าเงินเฟ้อนั้นมี 2 ประเภท คือ เงินเฟ้อเกิดจากต้นทุนสินค้า หรือ เงินเฟ้อด้านอุปทาน (Cost-Push Inflation) และเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ (Demand-Pull Inflation)

ซึ่งเงินเฟ้อประเภทที่เรากำลังเจออยุ่นั้นคือ เงินเฟ้อด้านอุปทาน ซึ่งเกิดจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น มาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และวัตถุดิบต่าง ๆ สูงขึ้นภายหลังจากเกิดสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน (รัสเซีย-ยูเครนเป็นประเทศผู้ส่งออกพลังงาน และวัตถุดิบสำหรับการทำอาหารสัตว์)

ดังนั้น เมื่อ 2 อุตสาหกรรมนี้ได้รับผลกระทบจึงทำให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลก ซึ่งเงินเฟ้อที่มาจากต้นทุนไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่เติบโต (เหมือนที่ประเทศไทยกำลังเผชิญในตอนนี้)

เมื่อนโยบายทางการเงินไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ว่านี้ได้ จึงต้องใช้นโยบายการคลัง ซึ่งมีรัฐบาลเป็นผู้กุมอำนาจเข้าแก้ไข

หนึ่งในวิธีแก้ปัญหา คือ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะค่าแรงนั้นถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้แรงงานสามารถนำรายได้ดังกล่าวไปใช้จ่ายได้มากขึ้น หรือกรณีแย่ที่สุดก็คือไม่โดนอัตราเงินเฟ้อดูดกิน

แต่การขึ้นค่าแรงอาจมีผลเสียอีกด้านในแง่ของผู้ประกอบการ ที่จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการเลิกจ้างงานมากขึ้นตามมาได้ ดังนั้น ประเทศจะต้องใช้ข้อมูลของอัตราการว่างงานเข้ามาเป็นปัจจัยกำหนด แต่สำหรับประเทศไทยในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เราพบว่าความต้องการแรงงานมีเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกทม.

และยังต้องช่วยแก้ไขปัญหาให้กับผู้ประกอบการด้วยเช่นกัน โดยภาครัฐสามารถช่วยส่งเสริมความสามารถในการผลิตสินค้าต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นในระยะยาว เช่น ช่วยเหลือด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี หรือแม้กระทั่งลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล (ก่อนหน้านี้รัฐได้ลดลิตรละ 3 บาท แต่จะสิ้นสุด 20 พ.ค.นี้)

ดังนั้น ถ้าหากสิ้นสุดและภาครัฐไม่ขยายช่วงเวลาในการช่วยเหลือ ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกยังวิ่งขึ้นเป็นบันไดแบบนี้ เงินเฟ้อในบ้านเราจะพุ่งขึ้นไปอีกอย่างแน่นอน

ในที่สุดแล้วก็ต้องจับตากันต่อไปว่า รัฐบาลจะแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อครั้งนี้อย่างไร? เพราะปัญหาเงินเฟ้อถือว่าเป็นโจทย์ที่ต้องเร่งหาทางแก้ และเป็นเหมือนโจทย์ที่เอาไว้วัดความสามารถของรัฐบาล และธนาคารกลางของประเทศ

หากรัฐบาลที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้ ก็จะทำให้เกิดความสั่นคลอนมากขึ้น เพราะปัญหาด้านการเป็นอยู่ และปากท้องของประชาชนเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุดสำหรับประเทศชาติ

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : BOT ,SET

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/
.
#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #GDP #ตัวเลขเศรษฐกิจไทย #เศรษฐกิจไทย #เงินเฟ้อ #อัตราดอกเบี้ย #เงินเฟ้อ #อัตราเงินเฟ้อ #ข้าวของแพง #ราคาขึ้น