เพนกวินประท้วงไม่กินปลาราคาถูก หลังพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำลดต้นทุนรับเงินเฟ้อ

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าตอนนี้ทั่วโลกต่างเผชิญภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองด้วยกันทั้งสิ้น แต่ใครจะไปรู้ว่าจะกระทบไปจนถึงสัตว์โลกน่ารักอย่าง ‘เพนกวิน’ จากกรณีพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ ‘Hakone-en’ ซึ่งตั้งอยู่ที่ญี่ปุ่น ได้ปรับเปลี่ยนชนิดปลาที่ใช้ในการดูแลเพนกวินจากปลา ‘อาจิ’ เป็นปลา ‘ซาบะ’ เพื่อปรับลดต้นทุนด้านอาหารสัตว์ หลังราคาปลา ‘อาจิ’ ปรับเพิ่มขึ้น 20% ถึง 30% ตั้งแต่ปี 2564

โดยเหล่าเพนกวินในพิพิธภัณฑ์ต่างเมินหน้าหนี ไม่สนใจปลา ‘ซาบะ’ ที่เจ้าหน้าที่ยื่นให้ นอกจากนี้ตัว ‘นาก’ ที่อยู่ร่วมกันในพิพิธภัณฑ์และถูกยื่นปลา ‘ซาบะ’ ให้กินเช่นกันก็มีปฏิกิริยาที่เป็นการปฏิเสธสิ่งนี้อย่างชัดเจน ด้วยการวิ่งหนีไป เพื่อเป็นการต่อต้านการเปลี่ยนอาหารในครั้งนี้

สำหรับที่มาในการเปลี่ยนอาหารในครั้งนี้ นอกจากราคาปลา ‘อาจิ’ จะปรับเพิ่มขึ้นแล้ว ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่แย่ลง ส่งผลให้พิพิธภัณฑ์ต้องมีการปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจใหม่ โดยเลือกที่จะปรับลดต้นทุนภายใน แทนการปรับขึ้นค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์ เนื่องจากต้องการดึงดูดให้มีผู้เข้าใช้บริการมากขึ้น ซึ่งนอกจากความพยายามในการปรับลดต้นทุนในส่วนของค่าดูแลสัตว์ภายในพิพิธภัณฑ์ที่มีจำนวนถึง 32,000 ตัวแล้ว ยังมีการลดจำนวนเครื่องสูบน้ำหมุนเวียนภายในพิพิธภัณฑ์จากสองเครื่อง เหลือหนึ่งเครื่อง ซึ่งสามารถช่วยลดค่าไฟฟ้าลง 40-50%

ทั้งนี้ ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ส่งผลกระทบโดยตรงต่อค่าเงินเยนของ ‘ญี่ปุ่น’ โดยจากข้อมูลพบว่าในช่วงเดือนมิถุนายน 2565 เงินเยนอ่อนค่าลงแตะ 132 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นการปรับตัวลดลงในรอบ 24 ปี โดยค่าเงินเยนอ่อนค่ามากที่สุดในบรรดาสกุลเงินหลักของโลก อีกทั้งยังมีสัญญาณอ่อนค่าต่อเนื่องตลอดปี จากแรงกดดันการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ท่ามกลางเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่กำลังเผชิญแรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศที่ปรับตัวสูงสุดในรอบเกือบ 7 ปี อยู่ที่ร้อยละ 2.5 ในเดือนเมษายน 2565

ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าในช่วง Q1/65 เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัว 0.1% เมื่อเทียบกับ Q1/64 ในขณะที่การคาดการณ์เฉลี่ยของนักวิเคราะห์ 36 คน ในการสำรวจข้อมูลช่วงระหว่างวันที่ 18-27 พฤษภาคม 2565 คาดว่าในช่วง Q2/65 เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวที่ 4.5% ซึ่งต่ำกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ที่ 5.1% ในเดือนเมษายน 2565

อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลาที่เงินเยนอ่อนค่า กลับส่งผลดีต่อผู้ประกอบไทยในแง่ของการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบจากญี่ปุ่นในราคาที่ต่ำลง โดยจากข้อมูลพบว่าไทยพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นมากถึงร้อยละ 11.7 ของการนำเข้าทั้งหมดของไทย และยังเป็นแหล่งนำเข้าลำดับ 2 ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2565 มีมูลค่านำเข้า 1.17 หมื่นล้านดอลลาร์

โดยพบว่าการนำเข้าของไทยจากญี่ปุ่นกระจุกตัวในสินค้าขั้นกลางเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ เคมีภัณฑ์ (พึ่งพาการนำเข้าจากญี่ปุ่นร้อยละ 16.8 ของการนำเข้าสินค้าชนิดนี้ของไทย) เครื่องจักรกล (ร้อยละ 26.6) เครื่องจักรไฟฟ้า (ร้อยละ 19.4) แผงวงจรไฟฟ้า (ร้อยละ 13.8) เหล็กและผลิตภัณฑ์ (ร้อยละ 36.2) อุปกรณ์ยานยนต์ (ร้อยละ 31.4) เครื่องมือทางการแพทย์ (ร้อยละ 28.2) ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก (ร้อยละ 20.2) ไดโอด (ร้อยละ 21.4) วงจรพิมพ์ (ร้อยละ 11.6) ส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ (ร้อยละ 17) เป็นต้น ขณะที่สินค้าที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้บริโภคไทย อาทิ รถยนต์นั่ง (พึ่งพาการนำเข้าจากญี่ปุ่นร้อยละ 26) นาฬิกา (ร้อยละ 11) เครื่องสำอาง (ร้อยละ 14) อุปกรณ์สำนักงาน (ร้อยละ 30) และกล้อง (ร้อยละ 37)

 

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ที่มา : CNN, Trading Economics, Reuters, InfoQuest

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #เพนกวิน #พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ #Hakone-en #เงินเฟ้อ #เงินเยนอ่อนค่า #เศรษฐกิจญี่ปุ่น #ญี่ปุ่น