ทำไมเงินเฟ้อลดแล้ว แต่เรายังรู้สึกว่าของแพงอยู่

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในเดือนเมษายน 2568 ลดลงมาอยู่ที่ -0.22% ซึ่งเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบกว่า 1 ปี แต่หลาย ๆ คนก็น่าจะยังรู้สึกว่า ข้าวของรอบตัวยังแพงอยู่ ถึงแม้ว่าโดยทฤษฎีแล้ว เมื่อเงินเฟ้อลดลง ราคาสินค้าน่าจะถูกลงหรืออย่างน้อยควรชะลอการปรับขึ้น

คำตอบของปรากฏการณ์นี้สามารถอธิบายได้ถ้าเรารู้ว่า อัตราเงินเฟ้อ คิดอย่างไร โดยในแต่ละเดือน กระทรวงพาณิชย์จะเผยแพร่ข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ Consumer Price Index (CPI) ซึ่งเป็นการวัดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคทั่วไปใช้ในชีวิตประจำวัน โดยการเปรียบเทียบราคาในช่วงปัจจุบันกับอดีต

ทั้งนี้ แนวคิดเรื่อง CPI มีจุดเริ่มต้นจากการสร้าง “ตะกร้าเงินเฟ้อ” ซึ่งเป็นตะกร้าสมมุติที่บรรจุรายการสินค้าและบริการหลากหลายประเภทที่คนไทยใช้จ่ายเป็นประจำ ผ่านการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคของครัวเรือนทั่วประเทศ โดยกระทรวงพาณิชย์จะใช้ข้อมูลราคาสินค้าเหล่านี้ในการกำหนดค่า CPI แต่ละเดือน โดยการเปรียบเทียบราคาในปัจจุบันกับปีฐาน

นอกจากนี้ รายการสินค้าแต่ละชนิดจะมีน้ำหนักในตะกร้าที่ต่างกัน จากสัดส่วนการใช้จ่ายของประชาชนที่มีต่อสินค้าชนิดนั้นในชีวิตจริง สินค้าที่มีน้ำหนักสูงเปลี่ยนแปลง ก็จะส่งผลต่อดัชนีโดยรวมมากกว่าสินค้าที่มีน้ำหนักน้อย โดยที่อัตราเงินเฟ้อจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป และ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ที่ไม่นำราคาอาหารสดและพลังงานมาคำนวณร่วมด้วย

ด้วยเหตุนี้เอง ตัวเลข CPI ที่ลดลง จึงเป็นการลดลงโดยเฉลี่ยของสินค้าทั้งหมดในระบบเศรษฐกิจ แต่ชีวิตประจำวันของหลายคนก็อาจจะไม่ได้ใช้จ่ายไปกับสินค้าที่มีราคาปรับลดลงเหล่านั้น จึงทำให้รู้สึกสินค้ารอบตัวแพงอยู่

นอกจากนี้ หากเราไปดูที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของเดือนก่อน ก็จะพบว่า สูงขึ้น 0.98% เพราะดัชนีดังกล่าวไม่ได้นำเอาราคาพลังงาน ที่ปรับลดลง -6.73% มาคำนวณด้วย

นอกจากนี้เอง ในมุมมองของผู้ประกอบการแล้ว ธุรกิจมักเลือกที่จะรักษาระดับราคาหรือกำไรไว้ให้นานที่สุด โดยเฉพาะในยุคที่เศรษฐกิจผันผวน ส่งผลให้แม้ต้นทุนจะเอื้ออำนวยต่อการปรับราคาลง ราคาสินค้าและบริการก็ยังมีแนวโน้มจะไม่ลดลงตามต้นทุนไปด้วย โดยในทางเศรษฐศาสตร์ เราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Sticky Prices

ด้วยเหตุผลข้างต้นนี้เอง หลาย ๆ คนจึงรู้สึกว่าข้างของรอบตัวยังแพงอยู่ แม้ว่าดัชนี CPI จะปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้นการวิเคราะห์เงินเฟ้อจึงต้องมองผ่านมุมมองของพฤติกรรมตลาด รายได้ประชากร และโครงสร้างราคาสินค้าจำเป็น ซึ่งทั้งหมดล้วนส่งผลต่อความเป็นอยู่ของคนทั่วไปโดยตรง

 

ที่มา: กระทรวงพาณิชย์

ผู้เขียนและเรียบเรียง: พรบวร จิรภัทร์วงศ์