‘อินเดีย’ กับการเป็นหลุมหลบภัยด้านการลงทุน กลยุทธ์ดึงต่างชาติขับเคลื่อนประเทศอย่างแยบยล

‘อินเดีย’ ถือเป็นประเทศที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มนักลงทุนอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งฐานผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ หรือแม้แต่การลงทุนในสินทรัพย์ก็ตาม โดยหากจะกล่าวในแง่ของการลงทุนเชิ งธุรกิจ การเข้าไปตั้งฐานการผลิตในประเทศนี้ถือเป็นใบเบิกทางที่สำคัญในการทำธุรกิจ เพราะนอกจากอินเดียจะมีตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งมากจากจำนวนประชากรที่สูงเป็นอันดับ 1 ของโลก ทำลายสถิติแชมป์เก่าอย่างจีนไปเป็นที่เรียบร้อยในปีที่ผ่านมา สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ดึงดูดให้ชาวต่างชาติเลือกปักธงเข้าไปทำธุรกิจที่ประเทศนี้คงหนีไม่พ้นการเปิดกว้างในด้านการลงทุน ซึ่งไม่เพียงแค่เป็นการเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติได้เข้าไปดำเนินธุรกิจภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังถือเป็นการผลักดันตลาดแรงงานภายในประเทศให้ประชากรมีงานทำมากขึ้น และยังรวมไปถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นอีกด้วย โดยเห็นได้ชัดจากการที่อินเดียขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจมีการขยายตัวเร็วที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกในปัจจุบัน

ทั้งนี้ นอกจากในแง่ของการทำธุรกิจแล้ว การเข้าลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของ ‘อินเดีย’ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ได้รับความสนใจจากบรรดานักลงทุนไม่น้อย โดยข้อมูลจาก ‘Bloomberg’ ระบุว่า มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นอินเดียรวมกันอยู่ที่ 4.33 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากตลาดปิดการซื้อขายเมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2566 ส่งผลให้อินเดียขยับขึ้นมาเป็นตลาดหุ้นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก เบียดเจ้าของอันดับเก่าอย่างฮ่องกงลงไปอยู่ที่อันดับ 5 โดยในวันเดียวกันมาร์เก็ตแคปของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกงมีมูลค่ารวมกันอยู่ที่ 4.29 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ มาร์เก็ตแคปตลาดหุ้นอินเดียพุ่งขึ้นทะลุระดับ 4 ล้านล้านดอลลาร์ได้เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2566

อย่างไรก็ดี หากจะถามถึงเหตุผลที่ทำให้ ‘อินเดีย’ กลายเป็นประเทศที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านการลงทุน คงต้องบอกว่าสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จเหล่านี้ล้วนไม่ใช่ความบังเอิญ แต่เป็นการปูรากฐานมาแล้วอย่างแยบยล โดยจะขออ้างอิงข้อมูลจาก ‘StashAway’ ที่ได้ระบุถึง 4 Key takeaways ที่ทำให้ ‘อินเดีย’ กลายเป็นประเทศที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน ได้แก่

1. โครงสร้างประชากรคือแรงขับเคลื่อนหลักของอินเดีย
อินเดียเป็นเพียงประเทศเดียวที่มีประชากรวัยทำงานจำนวนมหาศาล อายุน้อย และยังขยายตัว นอกจากนี้ชนชั้นกลางกำลังเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วเพราะรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ปัจจัยด้านประชากรของอินเดียโดดเด่นมากที่สุดในบรรดาประเทศตลาดเกิดใหม่ (EM) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งในระยะยาว


2. การปฏิรูปหลายภาคส่วนเพื่อกระตุ้นและปูทางให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของรัฐบาลอินเดีย
อินเดียมีอุปสรรคที่เห็นชัดในการขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจ คือ เงินลงทุนจากทั้งต่างประเทศและภาครัฐที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสำหรับการเติบโตอย่างยั่งยืนของ EM โดยอุปสรรคมาจากหลายปัจจัย เช่น ระบบราชการที่ยุ่งยาก, โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอ รวมถึงกฎระเบียบที่ค่อนข้างซับซ้อน ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลให้การลงทุนและการสร้างงานน้อยกว่าจะที่ควรจะเป็น และกระทบกับการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวม อย่างไรก็ดี ปัญหานี้กำลังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากรัฐบาลอินเดียกำลังปฏิรูปหลายภาคส่วนเพื่อกระตุ้นและปูทางให้การเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงกฎระเบียบให้ทันสมัยขึ้น รวมถึงการขยายฐานภาษี ฟื้นฟูภาคการผลิต ดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งกระแสนิยมที่ดีของรัฐบาลปัจจุบันจะทำให้นโยบายต่าง ๆ ยังดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยก็ในอนาคตอันใกล้นี้

3. การแก้ปัญหาเงินเฟ้อของธนาคารกลางอินเดีย (RBI)
อีกหนึ่งความท้าทายของเศรษฐกิจอินเดีย คือ การเผชิญเงินเฟ้อสูงตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงและยังสร้างความไม่แน่นอนให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ ซึ่งทำให้การออมเงินและการลงทุนลดน้อยลงด้วย โดยส่วนหนึ่งของปัญหาดังกล่าว คือ ระบบการเงินของอินเดียมีความซับซ้อน ซึ่งทำให้นโยบายการเงินต่าง ๆ ไม่สามารถส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมได้อย่างเต็มที่ รวมถึงองค์ประกอบของเงินเฟ้อในอินเดีย โดยราคาอาหารซึ่งมีความผันผวน คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 46% ของดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งอาจไม่แปลกสำหรับ EM แต่จะทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อโดยรวมในอินเดียผันผวนมากขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจเติบโตต่อไปเรื่อย ๆ สัดส่วนดังกล่าวก็จะลดลง ซึ่งจะลดผลกระทบด้านความผันผวนลงไปด้วย

ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ได้ออกหลายมาตรการเพื่อปรับปรุงนโยบายการเงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ตั้งแต่ปี 2016 ออกนโยบายควบคุมเงินเฟ้อเพื่อรักษาเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย 4% (± 2%)

แม้แผนดังกล่าวจะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่เงินเฟ้อของอินเดียเริ่มทรงตัวมากขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อของอินเดียส่วนใหญ่ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารกลางที่ราว 5% โดยเฉลี่ย ซึ่งต่ำกว่าช่วงก่อนหน้านี้ที่ 8% โดยเฉลี่ย

4. ข้อมูลแสดงให้เห็นโอกาสของอินเดียในระยะยาว
การเติบโตของผู้บริโภคจำนวนมหาศาล นโยบายที่เป็นมิตรต่อการทำธุรกิจมากขึ้น (โดยเฉพาะสำหรับภาคการผลิต) รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเศรษฐกิจโดยรวมที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ปัจจัยทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าโครงสร้างเศรษฐกิจอินเดียกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยจากข้อมูลดังกล่าว เศรษฐกิจอินเดียมีศักยภาพที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นตามไปด้วย อินเดียจึงเป็นอีกประเทศที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนระยะยาว

ที่มา : InfoQuest, stashaway

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

#Businessplus #TheBusinessplus #นิตยสารBusinessplus #อินเดีย #ตลาดหุ้น #การลงทุน #การเงินการลงทุน #ตลาดหุ้นอินเดีย #ตลาดหุ้นฮ่องกง