บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ICHI ประกาศกำไรสุทธิปี 2566 ที่ 1,100 ล้านบาท ซึ่งมีการเติบโตอย่างมากจากปี 2565 และยังเป็นกำไรสุทธิที่สูงที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทในปี 2553 และเป็นกำไรระดับ 1 พันล้านบาทในรอบ 10 ปีของ อิชิตัน อีกด้วย ทีนี้มาดูกันว่า อะไรที่ทำให้ อิชิตัน กลับมาเฟื่องฟูได้อีกครั้ง
ในงบการเงินของอิชิตันในปี 2566 ที่เปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรากฏรายได้จากการขาย 8,049.9 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น 27% จากปี2565 ซึ่งมีรายได้จากการขาย 6,340 ล้านบาท โดย ‘Business+’ พบสาเหตุที่ทำให้รายได้ในปีนี้สูงขึ้นเป็นอย่างมากเกิดเป็นยอดขายภายในประเทศที่พุ่งขึ้นเกือบ 29% ส่วนยอดขายต่างประเทศนั้น เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 8.8%
ซึ่งปกติแล้ว อิชิตัน เน้นทำการตลาดในประเทศเป็นส่วนมากอยู่แล้ว โดยสัดส่วนรายได้ในประเทศของปี 2566 คิดเป็น 91.7% และมีสัดส่ววนรายได้ต่างประเทศเพียง 8.3% ดังนั้น เมื่อตลาดชาพร้อมดื่มในประเทศไทยยังคงมีการเติบโตต่อเนื่อง ประกอบกับการบริโภคในประเทศฟื้นตัวจึงส่งผลดีต่ออิชิตันเป็นอย่างมาก โดยในปี 2566 ตลาดชาพร้อมดื่มเติบโต 17.45% (ข้อมูล : เดอะนีลเส็นคอมปะนี ประเทศไทย)
นอกจากนี้อีก 2 ปัจจัยหลักที่หนุนกำไรสุทธิให้เติบโตแตะระดับ 1 พันล้านบาทได้อีกครั้ง คือ ต้นทุนขายของบริษัทลดลงเป็นอย่างมาก จากปี 2565 ต้นทุนสูงถึง 81.3% เหลือเพียง 76.6% ในปี 2566 ซึ่งเกิดจากการผลิตสินค้าที่มากขึ้นตามความต้องการของตลาดที่มากขึ้นทำให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale)
และอิชิตัน ยังได้ทำการปรับสูตรการลดน้ำตาลในบางผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าก่อนหน้านี้ราคาน้ำตาลพุ่งสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ดังนั้นการปรับสูตรลดน้ำตาลจึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยลดต้นทุน อีกส่วนหนึ่งเกิดจากราคาวัตถุดิบกลุ่มบรรจุภัณฑ์ปรับตัวลดลง ทั้ง 3 ปัจจัยหลักนี้ได้ทำให้อิชิตัน มีกำไรขั้นต้น 23.4% ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ซึ่งมีกำไรขั้นต้น 18.7% หากพูดง่ายๆ ก็คือ หากคุณตันขายชาเขียวพร้อมดื่ม 1 ขวดด้วยราคา 100 บาทในปี 2566 จะมีกำไร 23.4 บาทต่อขวด มากกว่าปี 2565 ที่มีกำไรต่อขวด 18.7 บาท (ต่างกัน 4.7 บาทต่อขวด)
หากเรามาย้อนดูกำไรสุทธิช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่า กำไรในปี 2566 เป็นกำไรที่สุงที่สุดในรอบ 10 ปี และยังเป็นกำไรสุทธิที่สูงที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทในปี 2553 อีกด้วย
ปี 2566 : 1,100 ล้านบาท
ปี 2565 : 725.75 ล้านบาท
ปี 2564 : 489.71 ล้านบาท
ปี 2563 : 400.38 ล้านบาท
ปี 2562 : 401.71 ล้านบาท
ปี 2561 : 3.15 ล้านบาท
ปี 2560 : 405.21 ล้านบาท
ปี 2559 : 307.82 ล้านบาท
ปี 2558 : 861.47 ล้านบาท
ปี 2557 : 1,079 ล้านบาท
ปี 2556 : 883.65 ล้านบาท
ปี 2555 : 830.02 ล้านบาท
ปี 2554 : ขาดทุนสุทธิ – 793.05 ล้านบาท
ปี 2553 : ขาดทุนสุทธิ – 8.44 ล้านบาท
ทั้งนี้ที่ผ่านมาธุรกิจเครื่องดื่มอยู่ในภาวะการแข่งขันที่รุนแรง เนื่องจากมีผู้ประกอบการจำนวนมาก และสามารถเข้าสู่ตลาดได้ง่าย เพราะเครื่องดื่มนั้นเป็นสินค้าที่ทดแทนกันได้ง่าย และแข่งขันด้านราคาสูง อีกทั้งยังต้องใช้งบโฆษณา งบการตลาดสูงและยังต้องแข่งขันกันด้วยโปรโมชั่น จึงทำให้มีกำไรขั้นต้นต่ำ แต่หากไม่ทำโปรโมชั่นก็จะทำให้เสียส่วนแบ่งทางการตลาดได้
ดังนั้น เราจึงได้เห็นบริษัทเครื่องดื่มมักจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อสร้างความแตกต่าง และจัดแคมเปญการตลาดอยู่เสมอ อย่างอิชิตันสินค้าในปัจจุบันมีทั้งเครื่องดื่มชาเขียว อิชิตัน กรีนที, เครื่องดื่มชาเขียวแบบพรีเมี่ยม ชิซึโอกะ, เครื่องดื่มชาดำพร้อมดื่ม อิชิตันดราก้อน แบล็คที, เครื่องดื่มสมุนไพร เย็นเย็น, เครื่องดื่มชาผลไม้ผสมวุ้นมะพร้าว ชิว ชิว ตันซันซู น้ำอัดลมสไตล์เกาหลี
และยังขยายไปสู่เครื่องดื่ม Functional ใหม่ๆ อยู่เสมอ ได้แก่ น้ำด่าง PH Plus 8.5, เครื่องดื่มผสมวิตามิน C&E -C200 และเครื่องดื่มวิตามินซีสูง Vitt CC
ที่มา : corpusx
เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/
#Businessplus #TheBusinessplus #นิตยสารBusinessplus #ICHI #อิชิตัน #ตลาดเครื่องดื่ม #เครื่องดื่ม