hyperagedsocietyold

รู้หรือไม่? ว่าเศรษฐกิจของประเทศมีผลต่ออายุขัยของคน

ตั้งแต่โลกของเราเข้าถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็ทำให้สุขภาพ และคุณภาพชีวิตของคนยืนยาวขึ้น จนทำให้อายุขัยเฉลี่ยของคนทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอายุขัยที่เพิ่มขึ้นนี้ได้ทำให้หลายประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aged society) ไปแล้ว รวมทั้งประเทศไทยด้วยเช่นกัน

ซึ่งหากหากอิงข้อมูลจาก องค์การสหประชาชาติ (UN) จะพบว่า ในปี 2022 อายุขัยของคนทั่วโลกยังอยู่ที่ 72.98 ปี ขณะที่ปี 2023 ขยับขึ้นมาที่ 73.4 ปี โดยผู้ชายจะมีอายุสั้นกว่าผู้หญิง ด้วยอายุขัย 70.8 ปี ส่วนผู้หญิง 76 ปี ส่วนอายุไขของคนไทยนั้นเฉลี่ยอยู่ที่ 77.7 ปี เป็นอันดับที่ 47 ของโลก แต่ด้วยนวัตกรรมการแพทย์ที่ก้าวหน้ามากขึ้นจึงส่งผลให้อายุขัยของประชากรไทยเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 4.4 เดือนต่อปี สวนทางกับอัตราการเกิดที่น้อยลง

อย่างไรก็ตามอายุขัยที่สั้นหรือยาวนั้น แตกต่างกันไปอย่างมากตามภูมิภาคและตามประเทศ โดยในปี 2023 อายุขัยที่ต่ำสุดคือ 57.7 ปีในแอฟริกา และสูงสุดคือ 82.7 ปีในยุโรป

ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ 2 ทวีปนี้มีความแตกต่างกันมากถึง 25 ปี มาจากปัจจัยหลายด้าน แต่มี 3 ประการหลักๆ คือ พันธุกรรม เพศ และรูปแบบการใช้ชีวิต ซึ่ง 2 ปัจจัยแรกเป็นปัจจัยที่เราไม่สามารถกำหนดหรือกะเกณฑ์ได้ แต่ปัจจัยที่ 3 เป็นปัจจัยที่เราอาจจะควบคุม หรือช่วยให้อายุขัยยืนยาวขึ้นได้

นั่นเป็นเพราะว่า การใช้ชีวิตเกี่ยวข้องไปยัง อาหารการกิน ที่อยู่อาศัย และปัจจัยด้านเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ ซึ่งวันนี้เราจะมาพูดถึงปัจจัยด้านเศรษฐกิจกัน เพื่อตอบคำว่าถาม ทำไมเศรษฐกิจของประเทศถึงมีผลต่ออายุขัยของคน?

ก่อนอื่น เรามาดูข้อมูลที่สำรวจและรวบรวมโดย Business+’ กันก่อน ว่า 10 ประเทศที่คนอายุยืนที่สุดในโลก และ 10 ประเทศที่คนอายุสั้นที่สุดในโลกมีประเทศใดบ้าง

Hyper Aged Society

จะเห็นว่า ประเทศที่มีคนอายุขัยยาวนานที่สุดเป็นอันดับ 1 คือ โมนาโก ด้วยอายุขัยยาวนานถึง 87.01 ปี ซึ่งสาเหตุที่ทำให้คนโมนาโก มีอายุยืนยาวที่สุดประกอบด้วย 3 ปัจจัยหลัก ๆ ได้แก่

1.อาหารเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งเป็นอาหารหลักที่คนโมนาโกรับประทานเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ทั้งอาหารทะเล ผลไม้ และผักต่างสร้างภูมิคุ้มกัน และช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง นอกจากนี้คนโมนาโกยังมีสุขภาพจิตที่ดี เนื่องจากโมนาโกมีชายหาดของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทำให้มีวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม ภูมิอากาศเหมาะสม รวมไปถึงการเป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดอาชญากรรมต่ำมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

2. ระบบการรักษาพยาบาลระดับแนวหน้าของประเทศ โดยที่คนในโมนาโกได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐอย่างเพียงพอ เนื่องจากประชากรในประเทศโมนาโกมีจำนวนน้อยมากเพียง 36,469 คนเท่านั้น (ข้อมูลปี 2022) และมีขนาดประเทศที่เล็กเป็นอันดับที่ 2 ของโลก จึงทำให้การแพทย์และสาธารณะสุขเข้าถึงแทบทุกครัวเรือน เรียกได้ว่าใครเจ็บไข้ได้ป่วยก็ได้รับสวัสดิการที่ดี และเดินทางไปเข้ารับการรักษาได้อย่างรวดเร็ว

3. ประชากรส่วนใหญ่ที่มีรายได้ เพียงพอ สำหรับการใช้ชีวิตที่มีสุขภาพดีด้วยความช่วยเหลือด้านสุขภาพ โดย GDP per capita ของโมนาโกเป็นอันดับที่ 2 ของโลกที่ 234,317 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคนโมนาโก 1 คนสร้างรายได้ต่อปีเกือบ 8 ล้านบาท เทียบกับประเทศไทย 7,449 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 245,817 บาทต่อคนต่อปี นอกจากนี้คนโมนาโกยังมีสินทรัพย์สูงมากเป็นอันดับต้น ๆ จากราคาที่ดินที่สูงมาก เพราะนักธุรกิจหลายรายจากต่างประเทศต่างมาซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อพักผ่อนหรือมาอยู่อาศัยในประเทศนี้ทั้งจากวิวที่สวยงาม อาหารที่ดี และอาชญากรรมต่ำ

เมื่อดูประเทศที่คนอายุยืนมากที่สุดแล้ว หันมาดูประเทศที่มีคนอายุสั้นที่สุดในโลกกันบ้าง นั่นคือ สาธารณรัฐชาด (Chad) ซึ่งอยู่ในทวีปแอฟริกา ประเทศที่พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศเป็นทะเลทราย มีทองคำและยูเรเนียมมาก และเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ แต่คนสาธารณรัฐชาดมีอายุขัยเฉลี่ยเพียง 53.68 ปีเท่านั้น เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยากจน ขณะที่ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานยังล้าหลังมาก โดยมี GDP Per Capital เพียง 669.9 ดอลลาร์สหรัฐ หรือพูดง่าย ๆ คือ คนสาธารณรัฐชาดมีรายได้ต่อปีเพียงแค่ราวๆ ปีละ 22,106 บาทเท่านั้น

นอกจากนี้ สาธารณรัฐชาด ยังเกิดสงครามกลางเมืองบ่อยครั้ง และมีความขัดแย้งระหว่างประชาชนในภาคเหนือซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาหรับ/มุสลิม และทางใต้ซึ่งเป็นคริสต์หรือนับถือวิญญาณ อีกทั้งสถานการณ์ทางการเมืองของชาดยังคงมีพวกกบฏที่ยังคงพยายามใช้ความรุนแรงโค่นล้มรัฐบาลอยู่อีกด้วย

ทั้งนี้เมื่อเรานำข้อมูลทั้ง 2 ประเทศมาเปรียบเทียบกัน ระหว่างปะเทศที่มีคนอายุยืนมากที่สุด กับน้อยที่สุดในโลก ทำให้เราเห็นว่านอกจากตัวแปรด้านพันธุกรรม เพศ แล้ว ปัจจัยด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาของประเทศนั้น ๆ ก็มีผลต่ออายุขัยของคนในประเทศมากเช่นกัน เพราะระบบสาธารณะสุข สาธารณูปโภค และสวัสดิการต่างผลต่อสุขภาพ และคุณภาพชีวิตของคน

ดังนั้น หนึ่งในสิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องให้ความสำคัญ คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เพียบพร้อม และเพิ่มสวัสดิการให้เพียงพอ เพราะการมีคนอายุยืนมาก ๆ ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ดีต่อเศรษฐกิจ และตลาดแรงงานของประเทศนั้น ๆ แต่อย่างใด หากประเทศไม่มีสวัสดิการที่รองรับได้อย่างเพียงพอ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากประเทศที่เป็นสังคมผู้สูงอายุที่ไร้บุตรหลานแบบประเทศไทย นั่นเอง

หากใครต้องการอ่านเนื้อหาที่เกี่ยวกับสังคมผู้สูงอายุที่น่าสนใจในแง่มุมอื่น ๆ สามารถติดตามได้ที่ Section พิเศษ The Coming of a Hyper-aged Society’ เฒ่าทันความสูงวัย ก่อนไทยเข้า Hyper-Aged ที่ ‘Business+’ ได้จัดทำขึ้นมาในช่วงครบรอบ 34 ปี และรวบรวมเนื้อเอาไว้ภายในเว็บไซต์ : https://www.thebusinessplus.com/hyper_aged/?version=Bplus1

ที่มา : Statista , สำนักงานสถิติ

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS