Olderpeople

ทำไม ‘สังคมผู้สูงอายุ’ ในไทย ถึงน่ากลัวกว่าหลายประเทศทั่วโลก

ผลสำรวจในปี 2564 จาก ‘United Nations Population Division’ พบว่า ค่าเฉลี่ยของประชากรโลกที่มีอายุ 65 ปีขึ้นอยู่ที่ 9.44% โดยประเทศที่มีคนอายุ 65 ปีมากที่สุดเมื่อเทียบกับประชากรทั้งประเทศ คือ ญี่ปุ่น 28.7% ส่วนประเทศไทยนั้นอยู่ในลำดับที่ 53 ด้วยสัดส่วน 13.54% ซึ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกแล้ว ประเทศไทยมีคนอายุ 65 ปีมากกว่าค่าเฉลี่ยถึง 4.1%

ซึ่งการที่ประเทศไทยมีคนอายุมากกว่า 65 ปีในระดับเกือบ 14% ได้ทำให้เรากลายเป็น Aged Society แม้ว่าทั่วโลกจะยังมีอีก 53 ประเทศที่เป็นสังคมผู้สูงอายุเช่นกัน แต่ความน่ากลัวของสังคมผู้สูงอายุที่ประเทศไทยกำลังเผชิญสูงกว่าหลาย ๆ ประเทศ เพราะว่าเราเป็นเพียงประเทศกำลังพัฒนาเพียงประเทศเดียวที่เป็น Aged Society และเรายังประสบปัญหากับภาวะประชากรสูงวัยที่ไร้บุตรหลาน ซึ่งผลดังกล่าวส่งผลกระทบกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจถึงผลกระทบของ Aged Society ทาง ‘Business+’ จะยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า หากประเทศมีประชากรวัยทำงาน (อายุ 15-59 ปี) และมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีจำนวนมาก ทางภาครัฐบาลก็จะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีได้มาก และนำไปใช้เป็นนโยบายการคลังเพื่อพัฒนาประเทศได้หลายด้าน ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการศึกษา ด้านสวัสดิการพื้นฐาน รวมถึงนโยบายต่างๆ ที่สนับสนุนการลงทุนให้กับภาคเอกชนได้อีกด้วย

แต่ถ้าหากประเทศมีประชากรสูงอายุจำนวนมากก็จะทำให้รัฐบาลมีค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการมากกว่า จึงมีงบประมาณคงเหลือน้อย และยังจัดเก็บภาษีได้น้อยกว่า จนไม่สามารถนำเงินจากการเก็บภาษีไปใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนที่เป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประเทศในอนาคตได้อย่างแท้จริง

ทีนี้เพื่อตอบคำว่าถาม ทำไม ‘สังคมผู้สูงอายุ’ ในไทยถึงน่ากลัวกว่าหลายประเทศทั่วโลก? เราจึงต้องมาวิเคราะห์ในหลาย ๆ ด้าน ด้านแรกคือรายจ่ายของรัฐบาลไทยที่ใช้สำหรับผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องอย่างก้าวกระโดด โดยข้อมูลจาก ‘สำนักงานสถิติแห่งชาติ’ ชี้ให้เราเห็นว่าหนึ่งในรายจ่ายของภาครัฐที่สำคัญ คือ สวัสดิการบำนาญ และรายจ่ายด้านนี้ได้เพิ่มขึ้นสูงมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น โดยในปี 2564 มีจำนวนผู้สูงอายุที่มีสิทธิสวัสดิการบำนาญข้าราชการ รัฐวิสากิจ 2,037,181 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึง 9.51%

ขณะที่ อัตราส่วนการเป็นภาระวัยสูงอายุ ที่ใช้เปรียบเทียบจำนวนประชากรผู้สูงอายุกับประชากรวัยทำงาน (อายุ 60 ปีขึ้นไปเทียบกับอายุ15-59 ปี) ของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2537 และในปี 2564 อัตราการเป็นภาระสูงถึง 30.50% จากปี 2537 อยู่ที่ 10.7% ทำให้เราเห็นข้อมูลว่า ผู้สูงอายุในไทยยังต้องพึ่งพา และเป็นภาระแก่ลูกหลาน ซึ่งในมุมมองเศรษฐกิจแล้ว วัยทำงานจะเป็นทุนมนุษย์ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจส่งผลให้รายได้ของประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้น แต่ผู้สูงอายุจะเป็นวัยที่ไม่สามารถทำงานได้จึงไม่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ

โดยปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งมาจากสวัสดิการของภาครัฐอย่างเช่น เบี้ยผู้สูงอายุ ที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ และอีกหนึ่งปัจจัยคือ พฤติกรรมการออมเงินของคนไทย โดยไทยมีจำนวนผู้สูงอายุที่ไม่ออมเงินเป็นจำนวนมาก และในปี 2564 สัดส่วนของคนไม่ออมเงินเพิ่มสูงขึ้นแตะ 6,002,745 คน เทียบกับจำนวนผู้สูงอายุที่ไม่ออมเงินเฉลี่ยระหว่างปี 2550-2560 ยังค่อนข้างต่ำเพียง 2,470,300 คน ซึ่ง 2 ประเด็นที่กล่าวมาจะกระทบต่อภาระรายจ่ายของรัฐบาลในการเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาด้านสวัสดิการต่างๆสำหรับผู้สูงอายุ

aged society

นอกจากนี้แนวโน้มของสังคมผู้สูงอายุในไทยนั้นยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากเรามองไปที่ดัชนีการสูงวัย ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบจำนวนผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไปกับจำนวนกลุ่มเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี จะเห็นว่าดัชนีสูงวัยของไทยในปี 2564 สูงถึง 120.5 ซึ่งดัชนีการสูงสัยที่มากเกิน 100 เป็นครั้งแรกนี้ แสดงให้เห็นว่าประเทศของเรากลายเป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุมากกว่าเด็ก สอดคล้องกับข้อมูลการเกิดของประชากรไทยในปี 2564 ที่เท่ากับ 544,570 คนมีจำนวนน้อยกว่าการตายในปี 2564 ที่มีจำนวน 563,650 คน (สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)

ทั้งนี้หากเราเปรียบเทียบเป็นมุมมองด้านธุรกิจ เราจะมองว่ารายจ่ายภาครัฐ อย่างเช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษาและรายจ่ายสนับสนุนการลงทุน เป็นค่าใช้จ่ายที่สร้างรายได้ให้กับบริษัท ส่วนรายจ่ายด้านสวัสดิการเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้สร้างรายได้ให้กับบริษัท เท่ากับว่า ประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงินของบริษัท (ประเทศ) จะลดลงไปเรื่อย ๆ เพราะกลุ่มผู้สูงอายุมีการเติบโตเร็วกว่าการเกิดของเด็กซึ่งจะเป็นแรงงานหรือทุนมนุษย์ในอนาคต

ซึ่งประเด็นนี้ ‘Business+’ วิเคราะห์ได้ว่าสอดคล้องกับตัวเลขเศรษฐกิจไทยช่วงปี 2562-2565 โดยเฉพาะเมื่อเจาะเข้าไปถึงรายได้ภาครัฐบาล จากข้อมูลของสำนักเศรษฐกิจการคลัง ที่แสดงให้เห็นว่าการจัดเก็บรายได้สุทธิภาครัฐ ในปี 2562 อยู่ที่ 2.57 ล้านล้านบาท และปี 2563 อยู่ที่ 2.39 ล้านล้านบาท ปี 2564 อยู่ที่ 2.38 ล้านล้านบาท และปี 2565 อยู่ที่ 2.53 ล้านล้านบาท ซึ่งการจัดเก็บรายได้ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง มีเพียงแค่ปี 2565 ที่รายได้เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังเป็นรายได้ที่ต่ำกว่าปี 2562 เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับอัตราส่วนการจัดเก็บรายได้รวมสุทธิของรัฐบาลต่อ GDP ช่วงปี 2562 ถึง ปี 2565 ซึ่งมีค่าเท่ากับ 15.3% , 15.1% ,14.9% และ14.7% ตามลำดับ

อ่านมาถึงตรงนี้แล้วเราจะเห็นได้ว่ารายจ่ายภาครัฐที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และการจ้างงานในอนาคต มีแนวโน้มสูงขึ้นสวนทางกับการจัดเก็บรายได้สุทธิของภาครัฐที่ลดลง ผลดังกล่าวจึงส่งผลกระทบต่อค่า GDP ซึ่งแสดงถึงการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ

นอกจากนี้อีกปัญหาที่สำคัญของสังคมผู้สูงอายุไร้บุตรหลานของไทยคือ ในแง่มุมเกี่ยวกับสุขภาพของผู้สูงอายุ หากอ้างอิงจากงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับสถานะความเป็นบิดามารดาและความเป็นอยู่ที่ดีในชนบทของจีนและประโยชน์ของการมีบุตรหลาน ของ Guo, M. (2014)  จะพบว่า ผู้สูงอายุรายได้น้อยที่ไม่มีบุตรมักป่วยเป็นโรคซึมเศร้า และรู้สึกไม่มีความสุข ซึ่งสาเหตุเกิดจากการไม่ได้ความช่วยเหลือด้านการเงินจากลูกหลาน แต่การได้รับการดูแลทางการเงินจากลูกหลาน แต่ในความเป็นจริงบุตรหลานที่สามารถให้การช่วยเหลือด้านการเงินกับผู้สูงวัยนั้นย่อมต้องมีฐานะทางการเงินปานกลางถึงดีมาก

แต่ข้อมูลของประเทศไทยในปี 2564 เราพบว่าคนไทยกว่า 9 ล้านคนไม่สามารถเลี้ยงดูผู้สูงอายุได้ โดยเราใช้การวิเคราะห์จากการแบ่งตามรายจ่ายเทียบกับความยากจน ซึ่งในไทยมีจำนวนคนเกือบจน (รายจ่ายสูงกว่าเส้นยากจนไม่เกิน 20%) จำนวนคนจนน้อย (รายจ่ายต่ำกว่าเส้นยากจนไม่เกิน 20%) และจำนวนคนจนมาก (รายจ่ายต่ำกว่าเส้นยากจนเกิน 20%) มากถึง 9.22 ล้านคน เท่ากับว่า ในประเทศไทยมีแรงงานอีกกว่า 9.22 ล้านคน ที่ไม่สามารถเลี้ยงดูผู้สูงอายุ และไม่มีความพร้อมที่จะมีบุตร

กลับกันในประเทศที่พัฒนาแล้วที่กำลังเผชิญกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุนั้น ได้มีความพร้อม และวิธีการรับมือหลายรูปแบบ เช่น ในประเทศญี่ปุ่นที่รัฐบาลมีการลงทุนกับโครงการ Silver Human Resources Centers ซึ่งเป็นศูนย์จัดหางานให้กับผู้สูงอายุ  ภายในท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงานพาร์ทไทม์ที่ค่าตอบแทนไม่ได้สูงมากนักแต่ก็ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกมีคุณค่า และแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายได้

และยังมีโครงการสนับสนุนเงินทุนในการก่อสร้างอาคารสถานที่และดำเนินการจัดกิจกรรมต่างๆ ให้กับ หมู่บ้าน Share Kanazawa เพื่อเป็นโครงการนำร่องในการดูแลชุมชนผู้สูงอายุ โดยผู้สูงอายุที่พักอยู่ที่นี่ยังสามารถทำงานพาร์ตไทม์ในส่วนของการให้บริการต่างๆ ภายในบ้านพัก ซึ่งทำให้ผู้สูงอายุจะได้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และยังสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เหมาะสมได้ ซึ่งปัจุบันหมู่บ้านแห่งนี้ได้กลายเป็นจุดท่องเที่ยวที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของท้องถิ่นอีกด้วย

Aged society Japan

ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญและใช้งบประมาณจำนวนมากกับโครงการ และสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ แต่สำหรับไทยนั้น ยังมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ โดยอัตราส่วนการจัดเก็บรายได้ภาครัฐของประเทศไทยต่อ GDP ในปี 2564 ที่มีค่าเท่ากับ 14.9% ซึ่งต่ำกว่าอัตราส่วนรายได้การจัดเก็บภาษีต่อ GDP ของประเทศญี่ปุ่นในปี 2564 ที่สูงถึง 33.2% (ข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ OCED)

เท่ากับว่าไทยมีงบประมาณที่ต่ำกว่าญี่ปุ่นเกินกว่า 2 เท่าตัวจึงไม่สามารถช่วยเหลือ หรือให้สวัสดิการผู้สูงอายุได้ดีเท่ากับญี่ปุ่น และประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เรามองว่า ‘สังคมผู้สูงอายุ’ ของไทยนั้น น่ากลัวมากกว่าหลาย ๆ ประเทศในโลก ซึ่งหากเราไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการออมเงินเพื่อเกษียณอายุ หรือ รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับการจ้างงาน หรือสวัสดิการผู้สูงอายุ ปัญหาเหล่านี้ก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต ดังนั้น การแก้ไขปัญหาสังคมผู้สูงอายุนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมถึงตัวของผู้สูงอายุรวมไปถึงครอบครัวด้วยเช่นเดียวกัน

สำหรับเนื้อหาด้านผลกระทบในแง่มุมต่าง ๆ และประเด็นที่น่าสนใจที่เกี่ยวกับสงคมผู้สูงอายุอื่นๆ ‘Business+’ จะมานำเสนอในคอนเทนต์ไปกับแคมเปญพิเศษ “The Coming of a Hyper-aged Society” เฒ่าทันความสูงวัย ก่อนไทยเข้า Hyper-Aged ซึ่งสามารถรอติดตามอ่านกันได้ที่แฟนเพจ และเว็บไซต์ของ Business+ https://www.thebusinessplus.com/

นอกจากนี้ยังสามารถติดตามอ่านเนื้อหาและทำความรู้จักกับ Hyper-aged Society ได้ที่ https://www.thebusinessplus.com/hyper-aged-society/