‘โฮมโปรฯ’ จะเป็นบริษัทที่กำไรเติบโต 2 ปีติด แม้ต้องเจอภาวะต้นทุนสูง-ขาดแคลนแรงงาน

บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ HMPRO ได้ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2565 ออกมาเป็นที่เรียบร้อย โดยมีกำไรสุทธิ 1,520.07 ล้านบาท เติบโต 6.10% จากปีก่อนหน้า

ซึ่งการเติบโตครั้งนี้ถือว่าค่อนข้างแข็งแกร่ง เพราะถึงแม้เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว และเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ แต่ในสิ้นไตรมาสที่ 2 โฮมโปรฯ ยังมีรายได้เพิ่มขึ้น และไม่มีการเปิดสาขาเลยทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

เมื่อเจาะข้อมูลเข้าไป ‘Business+’ พบว่า รายได้ที่เป็นฮีโร่ของโฮมโปรฯ คือรายได้จากค่าเช่า ซึ่งในงบการเงินงวดล่าสุดมีรายได้ค่าเช่า 404.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 102.29 ล้านบาท หรือ 33.82% จากปีก่อน ซึ่งเกิดจากพื้นที่เช่าในสาขาของโฮมโปรและศูนย์การค้ามาร์เก็ตวิลเลจ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว สามารถเก็บค่าเช่าได้มากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าที่มีการลดค่าเช่าเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19

ซึ่งเมื่อวิเคราะห์จากกำไรสุทธิในครึ่งปีแรกที่แตะระดับ 3,031 ล้านบาท เทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 2,795 ล้านบาท ทำให้มีโอกาสที่กำไรสุทธิสิ้นปี 2565 ของโฮมโปรฯ จะเติบโต เพราะไตรมาส 4 จะเข้าสู่ช่วยไฮซีซั่น

โดยตัวเลขของรายได้-กำไรสุทธิ 3 ปีย้อนหลัง พบว่าเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น
– ปี 2562 : รายได้ 67,423.88 ล้านบาท กำไร 6,176.59 ล้านบาท
– ปี 2563 : รายได้ 61,765.43 ล้านบาท กำไร 5,154.70 ล้านบาท
– ปี 2564 : รายได้ 63,925.79 ล้านบาท กำไร 5,440.52 ล้านบาท

ในปัจจุบันโฮมโปรฯ มีจำนวนสาขา ดังนี้ โฮมโปร 87 สาขา โฮมโปรเอส 6 สาขา เมกาโฮม 14 สาขา และโฮมโปรในประเทศมาเลเซีย 7 สาขา

และอีกหนึ่งความแข็งแกร่งคือ ส่วนแบ่งทางการตลาด กลุ่มวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์เกี่ยวกับบ้าน ซึ่งอยู่อันดับ 2 ที่ระดับ 11.3% (อันดับ 1 เป็นผู้ประกอบการรายย่อยรวมกันสูงถึง 74.5%)

สำหรับมุมมองของนักวิเคราะห์ ถือว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดย บล.หยวนต้า คาดการณ์ว่า ไตรมาส 3-4/2565 จะผลประกอบการจะเติบโต จากไฮซีซัน และเศรษฐกิจ-การท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว คาดการณ์กำไรทั้งปีที่ 5,901 ล้านบาท และให้ราคาเป้าหมาย 15 บาท เท่ากับว่าหากเทียบราคาปัจจุบันที่ 13.30 บาท จะเหลือ Upside 12.78%

อย่างไรก็ตาม สมมุติฐานการเติบโตนี้จะต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดย ‘Business+’ มองว่ามี 5 ปัจจัยหลักที่อาจส่งผลกระทบ และทำให้ประมาณการคลาดเคลื่อนได้ คือ

ปัจจัยเสี่ยง
1. ธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้างมีการแข่งขันสูง ทำให้มีการแข่งขันทางด้านราคา และค่าใช้จ่ายทางการตลาด เพื่อรักษาและเจาะตลาดลูกค้ากลุ่มใหม่
2. กำลังซื้อผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัวจากปัญหาเงินเฟ้อ อาจส่งผลกระทบต่อยอดขาย
3. การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธปท.จะส่งผลกระทบต่อการวางแผนลงทุน และขยายสาขาเพิ่มเติม
4. ภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจากต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นตามตลาดโลก
5. ภาวะขาดแคลนแรงงานทีเป็นผลพวงมาจากภาวะเงินเฟ้อ

โดย 5 ปัจจัยนี้เป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่อาจควบคุมได้ แต่บริษัทสามารถที่จะควบคุม และบริหารจัดการให้ดีขึ้น

Highlight :
– โฮมโปรฯ ก่อตั้งมาแล้ว 27 ปี โดยก่อตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2538

ที่มา : SET

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ธุรกิจ #อุตสาหกรรม #HMPRO