วิกฤตพลังงานจากสงคราม ‘รัสเซีย-ยูเครน’ ต้นเหตุของการขาดดุลการค้าของหลายประเทศ!!

ผลกระทบจากสงครามของ ‘รัสเซีย-ยูเครน’ ยังคงก่อให้เกิดผลกระทบที่ร้ายแรง และยืดเยื้อ ทำให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างกับอุตสาหกรรมการผลิต เพราะไม่เพียงแค่สินค้าประเภทพลังงานอย่างน้ำมัน และก๊าซที่ปรับตัวขึ้นอย่างก้าวกระโดด แต่ยังมีผลกระทบโดยตรงสู่ตลาดข้าวสาลีโลก ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับการทำขนมปัง (อาหารหลักของหลายประเทศ โดยเฉพาะฝั่งยุโรป)

และในที่สุดผลกระทบนี้ก็สะท้อนออกมาให้เห็นสำหรับการค้าระหว่างประเทศหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนในแง่ของดุลการค้า คือ ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรป และยังมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากสหรัฐฯอเมริกา จีน ญี่ปุ่น

โดยเยอรมนีก็เป็นอีกประเทศที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากผลทบเหล่านี้ โดยเฉพาะด้านดุลการค้าของประเทศ โดยต้นตอของการขาดดุลการค้าในรอบหลายปีนั้น มาจากต้นทุนด้านพลังงานที่ปรับขึ้นทั่วโลกนั่นเอง

เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา การขาดดุลการค้าของเยอรมนีในครั้งนี้ ถือเป็นการขาดดุลการค้าเป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี (นับตั้งแต่ปี 2008) โดย ‘ข้อมูลของสำนักงานสถิติประจำประเทศเยอรมนี’ ได้มีการเปิดเผยตัวเลขเดือนพ.ค.ที่ผ่านมาว่า เยอรมนีนำเข้าสินค้าจากทั่วโลกเป็นมูลค่ากว่า 126.7 พันล้านยูโร

และเป็นการขาดดุลการค้าถึง 1 พันล้านยูโร (ราว 37,580 ล้านบาท) จากที่เดิมเยอรมนีจะฝ่ายได้ดุลการค้ามาโดยตลอด ซึ่งตลาดส่งออกที่สำคัญของประเทศเยอรมนี ได้แก่ อเมริกา จีน ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์อังกฤษ โปแลนด์ และอิตาลี

ส่วนตลาดนำเข้าที่สำคัญของประเทศเยอรมนี ได้แก่ จีน เนเธอร์แลนด์ อเมริกา โปแลนด์ ฝรั่งเศส อิตาลี และสวิสเซอร์แลนด์

โดยที่การขาดดุลการค้าครั้งนี้ สวนทางกับนักเศรษฐศาสตร์ที่เคยคาดการณ์ว่า เยอรมนีจะเกินดุลการค้า 3 พันล้านยูโรในเดือนพ.ค.

เพื่อให้เข้าใจตรงกัน ก่อนอื่น ‘Business+’ ขออธิบายให้เข้าใจแบบง่ายๆ ก่อนว่า ดุลการค้าคืออะไร? ซึ่งขาดดุลการค้าเกิดจากการที่ประเทศใดประเทศหนึ่งมีมูลค่าจากการส่งออกสินค้าน้อยกว่ามูลค่าจากการนำเข้าสินค้า

ดังนั้น การขาดดุลการค้าเปรียบเทียบง่ายๆ ก็เหมือนการขาดทุน จากการที่มีค่าใช้จ่ายมากกว่ารายรับ โดยปกติแล้วประเทศกำลังพัฒนามักจะขาดดุลการค้ากับประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากมูลค่าการส่งออกสินค้าของประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่เป็นเพียงสินค้าแรกอย่างผลผลิตการเกษตร หรือหากเป็นสินค้าอุตสาหกรรมก็เป็นสินค้าที่มีเทคโนโลยีไม่สูงมาก ส่วนประเทศพัฒนาแล้วจะเป็นสินค้าที่มีเทคโนโลยีสูงกว่า จึงทำให้มีราคาที่สูงกว่า ดันให้มูลค่าโดยรวมสูงนั่นเอง

แต่ปัญหาการขาดดุลนี้ เริ่มแสดงให้เห็นกับประเทศพัฒนาแล้ว และมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อย่างเยอรมนี ซึ่งปัญหาและต้นเหตุของการขาดดุลครั้งนี้ คือ ผลพวงจากสงครามในยูเครน

โดยสาเหตุเกิดจากราคาสินค้านำเข้า โดยเฉพาะสินค้าในหมวดพลังงานราคาพุ่งสูงขึ้น (ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเยอรมนีส่งออกสินค้าได้น้อยลง)

ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า เยอรมนีเริ่มออกอาการว่าจะต้องเจอภาวะขาดดุลการค้ามาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565 โดย Moritz Schularick นักเศรษฐศาสตร์จากเมือง Bonn เปิดเผยว่า เรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องที่น่าตกอกตกใจเลย เพราะเมื่อมองราคาสินค้าพลังงานที่สูงขึ้นขนาดนี้ ก็ถูกต้องแล้วที่เยอรมนีต้องขาดดุลการค้า

นอกจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นจากเดิมแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นแอบแฝงที่ทำให้เยอรมนีประสบปัญหาขาดดุลการค้า เช่น ปัญหา Supply Chain และสงครามในยูเครน ที่ทำให้เยอรมนีไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบบางส่วนมาใช้ผลิตสินค้าส่งออกโดยเฉพาะรถยนต์ ซึ่งประเทศแห่งนี้มีการส่งออกยานยนต์ประมาณ 20% ของโลก

ดังนั้น เมื่อ 2 ปัจจัยนี้ยังไม่คลี่คลาย เราก็คงจะมีโอกาสได้เห็นอีกหลายประเทศขาดดุลการค้าเช่นกัน โดยเฉพาะประเทศที่เป็นผู้นำเข้าน้ำมัน

โดยส่วนใหญ่แล้ววิธีการที่รัฐบาลจะสามารถใช้เพื่อแก้ปัญหาขาดดุลการค้า คือ การลดค่าเงิน (ทำให้เงินอ่อนค่า ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออก) หรือการตั้งกำแพงภาษี (จะทำให้การนำเข้าของต่างประเทศยากขึ้น) รวมไปถึงการกีดกันการค้ารูปแบบต่างๆ

ด้าน ‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ ให้ความเห็นว่า ในขณะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่อาจควบคุมได้ ดังนั้น สิ่งที่อาจทำได้คือต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ในการหาแนวทางที่จะลดการนำเข้าของภาคเศรษฐกิจแต่ละส่วนไปพร้อมกัน โดยการร่วมมือกันของผู้บริโภค ภาคธุรกิจและภาครัฐในการประหยัดพลังงาน การหันมาใช้สินค้าที่ผลิตได้ภายในประเทศ ลดการใช้สินค้าฟุ่มเฟือยที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศสูง

นอกจากนี้ ในส่วนของมาตรการของภาครัฐ ควรมีการกำหนดมาตรการทางการค้าเพื่อป้องกันการหลั่งไหลเข้ามาของสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ รวมทั้งนโยบายอุตสาหกรรมที่จะส่งเสริมให้อุตสาหกรรมไทยมีการใช้วัตถุดิบในประเทศมากขึ้น

ที่มา : DITP

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ธุรกิจ #อุตสาหกรรม #ส่งออก #ขาดดุลการค้า #การค้าระหว่างประเทศ #ส่งออก #นำเข้า