‘ช่องว่างรายได้ระหว่างเพศ’ ปัญหาที่แก้ไม่ได้ แม้จะต้องใช้เวลาอีก 100 ปี

นับตั้งแต่ช่วงปี 1925-1945 หรือเป็นช่วงปีเกิดของ Silent Generation เราก็ได้เห็นผู้หญิงออกไปทำงานนอกบ้านมากขึ้น เพราะในช่วงนั้นเป็นยุคสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และต้องมีการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ตกต่ำเป็นอย่างมาก จึงทำให้เกิดความต้องการจ้างงานเป็นจำนวนมาก แต่ถึงแม้ว่าจะผ่านมาแล้วเกือบ 100 ปี โลกก็ยังคงมีปัญหาด้านความไม่เท่าเทียมของค่าตอบแทนการจ้างงานระหว่างผู้ชาย และผู้หญิง

เห็นได้จากข้อมูลในปัจจุบัน พบว่า ปัญหา ‘ช่องว่างรายได้ระหว่างเพศ’ (Gender Pay Gap) นั้น เกิดขึ้นกับเกือบทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะวงการกีฬา และอุตสาหกรรมหนัก (อุตสาหกรรมที่ต้องใช้เครื่องจักรกล แรงงาน และเงินทุนจํานวนมาก) ซึ่งข้อมูลในปี 2023 พบว่า การแข่งขันกีฬาอาชีพในสหรัฐฯ อย่าง บาสเกตบอล, กอล์ฟ, เบสบอล ยังคงมีช่องว่างรายได้ระหว่างเพศ ห่างกัน 15-100% เลยทีเดียว

ขณะที่ 5 อุตสาหกรรม ที่แรงงานหญิงว่างงานมากที่สุดคือ 1) ผลิตภัณฑ์การกลั่นปิโตรเลียม 20.9% 2) ผลิตภัณฑ์พลาสติก 24.5% 3) เครื่องหนังรองเท้า 22.7% 4) ประมง 20.4% 5) เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม 7.7%

ซึ่งสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ค่าจ้างของผู้ชายสูงกว่าในวงการกีฬา คือ การแข่งขันประเภทชายได้รับความนิยมมากกว่าประเภทหญิง ทั้งจำนวนผู้ชมที่มากกว่า ตั๋วที่ขายได้มากกว่า และเงินสนับสนุนด้านการตลาดจากธุรกิจต่างๆ ส่งผลให้ค่าย หรือต้นสังกัดทีมกีฬาอาชีพสามารถจ่ายค่าจ้างนักกีฬาชายได้มากกว่านักกีฬาหญิง

ขณะที่ในอุตสาหกรรมประเภทอื่น ๆ มักเกิดช่องว่างของค่าจ้างระหว่างเพศจากการเลือกปฏิบัติทางเพศในภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ ไม่ได้เกิดจากประสบการณ์ การศึกษา โดยผู้หญิงยังด้อยโอกาสในอุตสาหกรรมที่ผู้ชายเคยยึดครองมาก่อน เช่น วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรศาสตร์ และคณิตศาสตร์

ซึ่งที่ผ่านมาทั่วโลกต่างก็พยายามที่จะผลักดันและแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมนี้ ด้วยการจัดทำดัชนี Global Gender Gap Index ตั้งแต่ปี 2006 โดยจะเปรียบเทียบช่องว่างระหว่างเพศใน 4 มิติ คือ

  1. โอกาสและการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ
  2. การได้รับการศึกษา
  3. สุขภาพและการมีชีวิตรอด
  4. อำนาจทางการเมือง

แต่การถมช่องว่างทางเพศระดับโลกของปี 2021 ได้ลดลงมาที่ 67.7% จากปี 2020 อยู่ที่ 68.8% และมีการประเมินว่าหากทั่วโลกยังคงเป็นเหมือนเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือมีนโยบายที่จะเข้ามากระตุ้นความเท่าเทียมนี้อาจจะต้องใช้เวลาถึง 135.6 ปี เพื่อให้หญิงชายเท่าเทียมกันโดยสมบูรณ์ (นานกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อปีที่แล้วที่คาดว่าจะใช้เวลาอีก 99.5 ปี)

อย่างไรก็ตาม สำหรับหลายๆประเทศต่างให้ความร่วมมือที่จะแก้ปัญหาทางสังคมนี้อย่างต่อเนื่อง เช่น ในปี 2560 อังกฤษออกคำสั่งให้ทุกบริษัทที่มีพนักงานมากกว่า 250 ต้องรายงานข้อมูลความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างเพศของพนักงานชายและหญิง และต่อมาทั้งสหภาพยุโรปได้ออกกฎหมายที่คล้ายคลึงกันในปี 2564

ล่าสุด มีประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก ถึงขนาดที่ได้มีการออกกฏระเบียบอย่างจริงจัง นั่นคือ ‘ออสเตรเลีย’ โดยออสเตรเลียได้ผ่านร่างกฎหมายในวันที่ 30 มี.ค. กำหนดให้บริษัทที่มีพนักงานมากกว่า 100 คนขึ้นไป ต้องเผยแพร่ข้อมูลความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างเพศตั้งแต่ต้นปีหน้า เพราะรัฐบาลออสเตรเลียต้องการปรับปรุงสภาพการทำงานของสตรี โดยข้อมูลชี้ว่า ในปี 2566 ความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างเพศในระดับชาติของออสเตรเลียอยู่ที่ 13.3%

“จากการคาดการณ์ในปัจจุบัน จะต้องใช้เวลานานถึง 26 ปีในการปิดช่องว่างของรายได้ที่แตกต่างเพราะเพศสภาพ ผู้หญิงต้องทนรอมานานมากพอแล้วสำหรับการปิดช่องว่างของรายได้ที่แตกต่าง ซึ่งรัฐบาลชุดนี้จะไม่ปล่อยให้พวกเธอต้องรอต่อไปอีก 26 ปี” นางเคที กัลลาเกอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสตรีของออสเตรเลียระบุในแถลงการณ์

ที่มา : IQ , sdgmove , th.anngle

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #รายได้ระหว่างเพศ #ความเท่าเทียมทางเพศ #TheBusinessPlus