บัตรคนจน

เพิ่มเงิน ‘บัตรคนจน’ เป็น 700-1,000 บ. แค่ประชานิยม หรือ ช่วยเศรษฐกิจได้จริง?

นับตั้งแต่ช่วงเดือนมี.ค.ไปจนถึงเดือน พ.ค.2566 จะเป็นช่วงการหาเสียงของพรรคการเมืองต่าง ๆ เข้มข้นขึ้น หลังจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้จัดเตรียมแผนการเลือกตั้ง กรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ครบวาระในวันที่ 23 มี.ค.66

และหนึ่งในนโยบายที่ถูกนำมาใช้หาเสียงและถูกพูดถึงกว้างขวาง คือ ‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ หรือ บัตรคนจน ซึ่งเป็นนโยบายที่ถูกคิดค้นมาภายใต้นโยบายของ ‘รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ในช่วงปี 2560 และยังถูกนำมาต่อยอด ล่าสุดมี 2 พรรคการเมืองที่นำมาอัพเกรด คือ พรรคพลังประชารัฐ นำโดย พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หรือ บิ๊กป้อม ที่ได้นำมารีแบรนด์เป็นชื่อ “บัตรประชารัฐ” และอัพเกรดเงินเพิ่มจาก 200-300 บาท มาเป็น 700 บาท/เดือน ขณะที่ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์ พรรครวมไทยสร้างชาติ หรือ รทสช. ได้เกทับด้วยการประกาศนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐพลัส เพิ่มวงเงินในบัตรเป็น 1,000 บาท

โดยวันนี้เราจะมาวิเคราะห์กันว่า นโยบายนี้จะส่งผลดีต่อประเทศของเราจริง ๆ หรือ เป็นแค่นโยบายประชานิยม ที่รัฐบาลใช้เพื่อมุ่งหวังความนิยมทางการเมืองกันแน่?

เรามาว่ากันที่แนวความคิดของนโยบายนี้กันก่อน ซึ่งจริง ๆ แล้วต้องยอมรับว่าเป็นนโยบายที่ถูกคิดมาบนคอนเซปที่ต้องการช่วยเหลือความเป็นอยู่ให้กับคนที่มีรายได้น้อยในบ้านเรา โดยผู้ที่จะมีสิทธิคือ ต้องอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี (รายได้ไม่เกิน 8,300 บาทต่อเดือน) และสิทธิประโยชน์ของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คือ ค่าซื้อสินค้า 200 และ 300 บาท (เบิกเป็นเงินสดไม่ได้) และยังมีสิทธิอื่น ๆ เช่น ค่าเดินทางรถโดยสารสาธารณะ 500 บาท ส่วนลดแก๊สหุงต้ม 45 บาท (ต่อรอบ 3 เดือน)

หากว่ากันตามทฤษฏีแล้ว นโยบายนี้ส่งผลดีต่อตัวเลขเศรษฐกิจ (GDP) ได้อย่างแน่นอน เพราะการเพิ่มเงินให้กับประชาชนนั้น เป็นการกระตุ้นด้านการบริโภค (Consumption) และเพิ่มค่าใช้จ่ายของรัฐบาล (Government) เท่ากับว่าตัวแปร 2 ตัวจากสมการหาค่า GDP ที่คำนวณได้จาก GDP = C+I+G+(X-M) เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น ทั้งสมการจึงปรับตัวขึ้นตามไปด้วย

แต่การเพิ่มขึ้นนี้ไม่ได้เป็นการเติบโตอย่างยั่งยืน (เพราะตัว C และตัว G จะเพิ่มช่วงที่มีโครงการเท่านั้น) ดังนั้น นโยบายนี้จึงเหมาะที่จะนำมาใช้ในช่วงที่เกิดวิกฤตหนัก ๆ อย่างเช่น COVID-19 ในช่วงปี 2562-2563 ที่รัฐต้องการให้เกิดการบริโภคในประเทศสูงขึ้น

และนโยบายนี้ ก็มีผลเสียกระทบตามมาในแง่ของดีมานด์เทียมที่เกิดขึ้นชั่วคราว ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจที่ไม่สามารถปรับตัวได้อย่างยืดหยุ่นได้รับผลกระทบหนักที่สุด เพราะถ้าหากเจ้าของกิจการต้องการผลิตสินค้าเพิ่มเพื่อตอบสนองดีมานด์ในช่วงที่รัฐบาลให้วงเงินก็จำเป็นต้องเพิ่มกำลังการผลิต (อาจเป็นเครื่องจักร กำลังคน) ซึ่งถือเป็นการลงทุนทั้งนั้น และหากดีมานด์เทียมนี้หมดไปอย่างรวดเร็วแต่ภาคธุรกิจยังไม่ถึงจุดคุ้มทุนกับเงินที่ลงทุนไปก็จะเกิดเป็นค่าใช้จ่าย ที่กดกำไรสุทธิให้ลดน้อยลง ซึ่งหากเปรียบเทียบกับนโยบายเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ก็จะแตกต่างกันตรงที่ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นให้กับคนมีรายได้น้อยนั้น จะยั่งยืนกว่า เพราะเป็นรายได้ที่เพิ่มอย่างสม่ำเสมอ

ประสิทธิภาพของนโยบายบัตรสวัสดิการมีมากแค่ไหน?
นอกจากนี้หากมองในแง่ของประสิทธิภาพของนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแล้ว เงินที่รัฐบาลอัดฉีดเข้าไปกับนโยบายเหล่านี้ ถือเป็นการเพิ่มอำนาจซื้อให้ประชาชนโดยตรง (ด้วยเงินจำนวน 200-300 บาท และกำลังจะถูกอัพเป็น 700-1,000 บาท) ซึ่งคนที่มีบัตรคนจนก็จะนำเงินที่ได้นี้ไปซื้อสินค้าตามร้านที่รัฐบาลกำหนด (ร้านธงฟ้า) โดยที่รัฐบาลคาดหวังให้เกิดเป็นผลของตัวคูณ (Multiplier effect) จากเงินก้อนที่รัฐทำการอัดฉีดรายจ่ายลงไปในระบบเศรษฐกิจ หรือหากให้พูดง่าย ๆ ว่าจุดมุ่งหมายของนโยบายนี้ คือ รัฐบาลต้องการกระตุ้นให้ประเทศเกิดการใช้จ่ายเกิดขึ้นเป็นทอด ๆ และเกิดเป็นเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจที่สูงกว่าเม็ดเงินที่รัฐบาลอัดฉีดลงไป

ซึ่งนโยบายเพิ่มอำนาจซื้อนี้จะมีประสิทธิภาพต่อเมื่อจำนวนรอบการใช้จ่ายยิ่งเยอะยิ่งดี ดังนั้น หากคนที่ได้รับเงินไปซื้อสินค้าในร้านค้าที่เป็นเจ้าของกิจการขนาดเล็ก และไม่ได้มีธุรกิจกินรวบทั้งห่วงโซ่อุปทาน ก็จะเกิดการหมุนเวียนของเงินหลายรอบ (จากเกษตรกร ไปพ่อค้าคนกลาง และไปยังผู้ผลิตสินค้าขั้นสุดท้าย) ทำให้เห็นว่า นโยบายเหล่านี้ไม่ได้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดกับประเทศไทย โดยเฉพาะเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับประเทศที่มีการควบคุมโครงสร้างธุรกิจอย่างเข้มงวดอย่างสหภาพยุโรป เพราะโครงสร้างธุรกิจของบ้านเรามีบริษัทรายใหญ่เป็นผู้ผูกขาดตลาด และกินรวบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มายาวนาน

โดยกฏหมายธุรกิจของบ้านเรามองว่าการที่ธุรกิจใดก็ตามมีผู้เล่นตั้งแต่ 2 รายขึ้น แม้ส่วนแบ่งทางการตลาดเกิน 50% ก็ยังไม่ถือเป็นการผูกขาด และไม่ใช่สิ่งต้องห้ามหรือผิดกฎหมายในบ้านเรา แต่จะมีกฏเข้ามาควบคุมหากใช้อำนาจเหนือตลาด (เช่น ตั้งราคาไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค) และกฏหมายนี้เราก็ไม่ได้ใช้อย่างเข้มงวดเท่าที่ควร เห็นได้จากข้อมูลว่านับตั้งแต่มีกฎหมายด้านการต้านการค้าผูกขาดในปี 2542 ยังไม่เคยมีธุรกิจใดถูกดำเนินคดีด้านการค้าผูกขาดเลยสักราย ถึงแม้ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาจะเกิดการควบรวมกันของบริษัทรายใหญ่ หรือ เกิดการประท้วงบริษัทรายใหญ่ที่มีการกินรวบทั้งห่วงโซ่อุปทานไปแล้วก็ตาม

ซึ่งแตกต่างยุโรปที่มีการควบคุมเรื่องนี้อย่างเข้มงวด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการค้ามากที่สุด ยกตัวอย่างบริษัทโคคาโคลามีส่วนแบ่งในตลาดเครื่องดื่ม Soft drink มากถึง 50% ก็ได้ถูกคณะกรรมาธิการยุโรปสั่งให้โคคาโคลาต้องแบ่งพื้นที่การขายในตู้แช่ของโคคาโคลาให้แก่บริษัทคู่แข่งอื่น ๆ น้อย 20%


แล้วการกินรวบธุรกิจ และครองส่วนแบ่งทางการตลาดสูง ๆ ในประเทศไทย ทำให้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มอำนาจซื้อให้คนเกิดประสิทธิภาพน้อยกว่าประเทศอื่นอย่างไร?

ทาง ‘Business+’ จะยกตัวอย่างให้เห็นภาพอย่างง่าย ๆ  เช่น บริษัทแห่งหนึ่งมีธุรกิจครบวงจรทั้งฟาร์มเลี้ยงไข่ และไก่ เป็นของตัวเอง ซึ่งก็มีการขายสินค้าขั้นต้นที่เป็นวัตถุดิบให้กับพ่อค้าคนกลาง แต่นอกจากขายพ่อค้าคนกลางแล้ว บริษัทแห่งนี้ยังมีธุรกิจแปรรูปอาหารในแบรนด์ของตัวเองที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงอยู่แล้ว ซึ่งเท่ากับว่า ไม่ว่าคนจนจะนำเงินที่ได้รับจากรัฐบาลไปซื้อสินค้าช่องทางไหน สุดท้ายแล้วเงินเหล่านี้ก็จะเข้าเป็นรายได้ของบริษัทแห่งนี้ทั้งหมด

และเมื่อประเทศของเรามีธุรกิจประเภทนี้จำนวนมาก ก็จะทำให้ประสิทธิภาพของนโยบาย หรือ ผลของตัวคูณทำงานได้ไม่เต็มที่ เพราะเม็ดเงินที่รัฐบาลอัดฉีดก็จะหมุนเวียนเพียงไม่กี่รอบเท่านั้น คือ เริ่มจากรัฐบาล ไปยังคนที่ได้รับเงิน และไปจบที่บริษัทรายใหญ่ที่เป็นเจ้าตลาด

นอกจากนี้อีกหนึ่งประเด็นคือ ถึงแม้รัฐบาลจะกำหนดให้สามารถใช้บัตรนี้ได้เฉพาะร้านธงฟ้าเท่านั้น แต่ก็ยังพบว่า บัตรนี้ยังเอื้อประโยชน์ ให้กับกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ที่ส่งผ่านสินค้าไปยังตัวแทนผู้จำหน่ายในรูปร้านธงฟ้าประชารัฐ (เพราะจริงๆ บ้านเรามีโรงผลิตสินค้ารายใหญ่ไม่กี่รายอยู่ดี)

 

หนี้สาธารณะของไทยจะสูงขึ้นหรือไม่?
ทีนี้มามองผลกระทบในแง่ของภาระค่าใช้จ่ายของประเทศกันบ้าง นอกจากนโยบายนี้กระตุ้นเศรษฐกิจได้ระยะสั้นๆ แล้วยังมีผลพวงเรื่องของหนี้สินที่มาจากการที่รัฐบาลใช้เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยหนี้สินสาธารณะของไทยที่จะเพิ่มสูงขึ้นหากรัฐบาลไปกู้เงินเพิ่ม โดยปัจจุบันหนี้สาธารณะของไทยสูงกว่า 60% ต่อ GDP เทียบกับก่อนเกิด COVID-19 หนี้สินสาธารณะของไทยอยู่ที่ 41.2% ต่อ GDP เท่านั้น (และเพดานหนี้สาธารณะของไทยควรไม่เกิน 70% ต่อ GDP)

ซึ่งหนี้สาธารณะที่สูงทำให้ความน่าเชื่อถือของประเทศต่ำลง และทำให้เครดิตการกู้เงินน้อยลงไปตาม ซึ่งเครดิตที่ต่ำลงก็จะทำให้เรากู้เงินมาเพื่อลงทุนด้านอื่น ๆ ที่เป็นการลงทุนและสร้างเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภคต่างๆ ได้น้อยลง นอกจากนี้หากถูกลดระดับความน่าเชื่อถือลงตามการจัดอันดับของสถาบันการเงินต่าง ๆ ก็จะทำให้นักลงทุนจากต่างประเทศ ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนบ้านเราน้อยลง ส่งผลต่อเม็ดเงินลงทุนโดยตรง (FDI)

หากเราคำนวณเม็ดเงินที่รัฐบาลต้องใช้จากข้อมูลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐปัจจุบัน (ณ วันที่ 1 มกราคม 2566) มีจำนวน 13.22 ล้านราย ในกรณีที่เพิ่มเงินเป็น 700 บาทต่อเดือนตามนโยบายของบิ๊กป้อม ก็จะเท่ากับว่า รัฐบาลจะต้องใช้เงินทั้งหมดถึง 111,400 ล้านบาท (จากปัจจุบันที่ใช้งบประมาณเฉลี่ยปีละราว 50,000 ล้านบาท)

บิ๊กป้อม

และหากเพิ่มตามนโบบายบิ๊กตู่ คือ 1,000 บาท ก็จะเท่ากับว่า รัฐบาลจะต้องใช้เงินทั้งหมดถึง 158,640 ล้านบาท ถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับเดิมที่เคยเป็น 200 และ300 ซึ่งผ่านมา 6 ปีงบประมาณ ‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ ใช้เงินไป 2.57 แสนล้านบาท เท่ากับว่า ถ้าพรรคการเมืองใดก็ตามใน 2 พรรคนี้ชนะการเลือกตั้ง และทำนโยบายนี้จริง ก็จะใช้วงเงินสูงมาก (ปีเดียวใช้เกิน 1 แสนล้านบาท)

ในมุมมองของนักวิเคราะห์แล้ว นโยบายนี้ถูกมองว่าไม่มีประสิทธิภาพ และเป็นเพียงนโยบายประชานิยม เพราะว่า บัตรคนจน ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือคนจนได้จริงตามที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ ซึ่งนโยบายนี้ได้รับการตรวจสอบจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในปี 2563 ว่า ทำให้สูญเสียงบประมาณแผ่นดินจำนวนมากโดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง และยังถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็น “นโยบายประชานิยม” ที่รัฐบาลยุค คสช. ต้องการดึงคะแนนความนิยมจากประชาชนเท่านั้น

ขณะที่ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เคยให้ความเห็นไว้ว่าไทยยังมีปัญหาการเข้าไม่ถึงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของคนจนอยู่สูงมาก จากข้อมูลพบว่ามีคนจนตัวจริงแต่ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมากถึง 51%

ในมุมมองของ ‘Business+’ แล้ว นโยบายเพิ่มอำนาจซื้อให้กับประชาชนนั้น สามารถใช้ได้ในระยะเวลาที่เกิดวิกฤตจริง ๆ เท่านั้น และยังต้องควบคุมจำนวนเงินที่แจกให้เหมาะสม รวมไปถึงต้องควบคุมระบบการเข้าถึง ที่ต้องเป็นคนจนที่แท้จริงเท่านั้น นอกจากนี้ยังต้องควบคุมหรือสร้างเงื่อนไขการใช้จ่ายของประชาชนให้ดี นอกจากจะต้องใช้จ่ายร้านค้าที่รัฐกำหนดแล้ว รัฐยังต้องควบคุมสินค้าที่เข้าร่วมโครงการโดยไม่เป็นการเอื้อประโยชน์เฉพาะนายทุนใหญ่เท่านั้น แต่ต้องช่วยเหลือให้เม็ดเงินนี้ถูกกระจายไปยังผู้ประกอบการรายเล็กด้วย ถึงจะเกิดประโยชน์ต่อตัวเลขเศรษฐกิจ และช่วยเหลือคนในประเทศได้จริง นอกจากนี้ท้ายที่สุดแล้ว รัฐบาลจำเป็นต้องใช้นโยบายเหล่านี้ควบคู่ไปกับนโยบายที่สามารถรายได้แก่คนจนอย่างถาวร เช่น ขึ้นค่าแรง เพิ่มทักษะ ความสามารถของแรงงาน เพราะรายได้ถาวรจะสามารถสร้างดีมานด์แท้จริงให้กับระบบเศรษฐกิจได้ยั่งยืนกว่ารายได้แบบชั่วคราว

หากใครอยากอ่านรายละเอียดของนโยบายเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ สามารถไปตามอ่านกันได้ที่ https://www.thebusinessplus.com/600/