วิเคราะห์นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ที่จะมาพร้อมผลกระทบรุนแรงระดับประเทศ

ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมามีประเด็นที่ถูกเอามาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนัก หลังจากที่ ‘พรรคเพื่อไทย’ ได้ประกาศนโยบาย และแนวคิดการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวัน

โดยที่การประกาศเปรี้ยงในครั้งนี้จะถูกวิจารณ์ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะจริง ๆ แล้วการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำนั้น จะต้องถูกกำหนดจากความเสมอภาค เพื่อให้นายจ้างสามารถประกอบธุรกิจอยู่ได้ และลูกจ้างสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข อีกทั้งยังต้องช่วยเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศเพื่อให้เกิดการเติบโตของตัวเลขเศรษฐกิจ (GDP)

ดังนั้น การปรับค่าแรงขั้นต่ำจึงต้องพิจารณาด้วยหลายปัจจัย ทั้งดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิตราคาของสินค้าความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ สภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ในแต่ละท้องถิ่น และสภาพการณ์โดยทั่วไปของประเทศในขณะนั้น

และยังต้องผ่านการพิจารณากับ 3 ฝ่ายที่เป็นตัวแทน คือ

– ฝั่งฝ่ายนายจ้าง : ซึ่งจะพิจารณาความสามารถในการจ่าย เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ
– ฝ่ายลูกจ้าง : ซึ่งจะพิจารณาปัจจัยด้านค่าครองชีพ และค่าตอบแทนที่เหมาะสม เพื่อเพียงพอต่อการดำรงชีวิต

– ฝ่ายรัฐ : ซึ่งจะร่วมพิจารณา และกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำที่ทั้งฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้างอยู่รอดได้ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้น

ซึ่งสูตรการคำนวณการปรับค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละครั้ง คือ ค่าแรงขั้นต่ำ = ค่าแรงขั้นต่ำปัจจุบัน + (ค่าแรงขั้นต่ำปัจจุบัน X (อัตราเงินเฟ้อ + % GDP ที่ขึ้นระหว่างปี)

โดยก่อนหน้านี้ไทยได้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันที่ 1 ต.ค.2565 สูงสุดวันละ 354 บาท (ชลบุรี ระยอง ภูเก็ต) และมีค่าแรงเฉลี่ยอยู่ที่ 337 บาท สูงสุดวันละ 354 บาท (ชลบุรี ระยอง ภูเก็ต)

ดังนั้น เมื่อเราจะหาค่าว่า การปรับค่าแรงในปีต่อไปควรเป็นเท่าไหร่? ‘Business+’ ได้แทนค่าสมการดังกล่าวจากข้อมูล 337x (337×0.06) = 357.22 ดังนั้น ค่าที่เราคำนวณออกมาได้คือ 357.22 บาท ซึ่งค่าแรงที่ถูกคำนวณออกมาตามสมการนี้จะเห็นว่ายังห่างไกลกับ 600 อยู่มากเลยทีเดียว

นอกจากนี้ เมื่อเรามาวิเคราะห์ว่า ค่าแรง 600 บาท นี้หากนำไปเทียบกับประเทศในอาเซียนด้วยกันจะเป็นอย่างไร? ซึ่งจากข้อมูลเราจะเห็นได้ว่าค่าแรงจำนวนนี้สูงเกินค่าเฉลี่ยของอาเซียน และยิ่งสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศที่โครงสร้างพื้นฐานใกล้เคียงกับเรา

โดยค่าแรงของไทยในปัจจุบัน (337 บาท) อยู่ในลำดับที่ 5 ของอาเซียน แต่หากปรับขึ้นเป็น 600 บาท ค่าแรงของไทยจะขึ้นไปสู่ลำดับที่ 3 เป็นรองแค่เพียงสิงคโปร์ (ค่าแรงขั้นต่ำ 1.423 บาท) และ บรูไน (ค่าแรงขั้นต่ำ 664 บาท)

ซึ่งทั้ง 2 ประเทศนี้มีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งมาก ๆ และยังเป็นประเทศที่ให้สิทธิ์ประโยชน์อื่นๆ กับนักลงทุนเพื่อให้ต้นทุนส่วนอื่นต่ำมาก ๆ ทดแทนกับต้นทุนค่าแรงงานที่สูงได้ (สิงคโปร์มีโครงสร้างพื้นฐานที่โดดเด่นมากๆ จนเคยถูกจัดอันดับเป็นประเทศน่าลงทุนมากที่สุดในโลก ส่วนบรูไนมีทรัพยากรที่สำคัญมากๆ อย่างน้ำมัน)

แต่สำหรับประเทศไทยแล้วนั้น เป็นประเทศที่เทคโนโลยีการผลิตยังค่อนข้างต่ำ โครงสร้างพื้นฐานยังแพ้สิงคโปร์ ดังนั้น หากเราต้องการปรับให้ค่าแรงสูงก็ต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหรือมีสิทธิ์ประโยชน์อื่น ๆ ให้สมดุลกันผู้ผลิตจึงจะอยู่ได้

ดังนั้น ‘Business+’ มองว่า การเพิ่มค่าแรงเป็น 600 บาท นั้น อาจยังไม่สอดคล้องกับภาวะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ที่เผชิญกับเศรษฐกิจชะลอตัว และเกิดภาวะเงินเฟ้อ ถึงแม้จะบอกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนี้จะเกิดขึ้นภายในปี 2570 ซึ่งเหลือเวลาอีก 5 ปีก็ตาม แต่การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ต้องกินระยะเวลายาวนาน และใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ดังนั้น ระหว่างที่ไทยยังพัฒนาไปไม่ถึงจุดนั้น สิ่งที่จะกระทบก่อนเป็นอันดับแรกคือ ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงทำให้การขึ้นค่าแรงจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการ (โดยเฉพาะหากไม่มีนโยบายช่วยเหลือผู้ผลิตที่เหมาะสม)

ซึ่งค่าแรงเพิ่มขึ้นก็จะเริ่มกระทบกับกลุ่มธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้นเป็นอันดับแรก เช่น ภาคการเกษตร และภาคบริการ และเมื่อต้นทุนค่าแรงสูงขึ้นก็จะทำให้อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ลดจำนวนแรงงานลง หรือเกิดการชะลอการลงทุนในระยะสั้น นำไปสู่การเลิกจ้างงานคน

เพราะฉะนั้นการปรับขึ้นค่าแรงนั้น ควรมองที่ทฤษฏีค่าจ้างยุติะรรม (The Just Price Wage) ซึ่งต้องมีความยุติธรรมในแง่ของประโยชน์ต่างตอบแทน ที่หมายถึงประโยชน์ของนายจ้างและลูกจ้าง ที่ต้องสัมพันธุ์ระหว่างบุคคล และคำนึงถึงความยุติธรรมในประเด็นสังคม โดยสังคมต้องตอบแทนแรงงานให้สามารถครองชีพอยู่ได้ และค่าจ้างที่ดำรงชีพอยู่ได้นั้น ควรเป็นค่าจ้างที่ครอบครัวธรรมดาสามารถอยู่ได้ตามมาตรฐานการครองชีพขั้นต่ำจำนวนหนึ่งที่พอเพียง

นอกจากนี้ผลกระทบอีกด้านคือ เมื่อต้นทุนค่าแรงของไทยสูงกว่าเพื่อนบ้านก็จะยิ่งทำให้การลงทุนตรงจากต่างประเทศ (FDI) ยิ่งชะลอตัวลง และกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ถึงแม้ว่า หลายฝ่ายจะมองว่าการขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำอาจจะไม่ได้ส่งผลต่อแรงงานไทย มากนักเพราะภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้แรงงานจากต่างด้าว แต่หากค่าแรงของต่างด้าวสูงขึ้น ก็จะทำให้เกิดการเรียกร้องค่าแรงที่สูงขึ้นในที่สุด

และเมื่อวิเคราะห์จากสิ่งจูงใจที่เคยทำให้นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย คือค่าแรงถูก ทักษะฝีมือดี รวมไปถึงไทยมีสิทธิส่งเสริมการลงทุน (BOI) และสิ่งอำนวยความสะดวกมีครบ ขณะที่ไทยยังเป็นตลาดส่งออกชั้นหนึ่งของสหรัฐฯและยุโรป ซึ่งปัจจุบันคุณสมบัติเหล่านี้ได้ถูกเวียดนามแซงหน้าไปจนหมดแล้วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และการย้ายฐานการผลิตออกไปจากประเทศไทยของนักลงทุนญี่ปุ่นก็ได้ส่งผลกระทบถึงรายได้และอัตราเติบโตของเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

ประเด็นสุดท้ายนี้ ‘Business+’ มองว่า ประเทศไทยสามารถขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้เพื่อช่วยเหลือแรงงานในภาวะเงินเฟ้อ เพียงแต่ต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม นอกจากนี้ รัฐบาลต้องมีการออกมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากการปรับขึ้นค่่าแรงขั้นต่ำ ในส่วนค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการโดยเร็วที่สุด

และอีกประเด็นที่รัฐบาลหรือ พรรคการเมืองควรคำนึงถึงคือ นโยบายด้านนวัตกรรม และเพิ่มศักยภาพแรงงาน โดยต้องอัพเกรดแรงงานให้สามารถใช้เทคโนโลยีได้เป็นอย่างดี และลดการทำงานไร้ทักษะลง เพราะถ้าหากไทยยังมีแรงงานไร้ทักษะจำนวนมากและค่าแรงที่แพงกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ก็จะก่อให้เกิดการไหลออกของเม็ดเงินลงทุนอย่างแน่นอน

โดยในช่วงที่ผ่านมา เราได้เห็นผลกระทบนี้มาอย่างต่อเนื่อง หากดูข้อมูลในไตรมาส 2 ของปี 2022 พบว่า ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มี FDI มายังประเทศไทยมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ได้ถอนการลงทุนไปถึง 1,332.63 ดอลลาร์ และไปลงทุนที่ประเทศเวียดนามแทน

ที่มา : คณะกรรมการค่าจ้าง ,BOT

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์


ติดตาม Business+ ได้ที่ :
https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ค่าแรงขั้นต่ำ #พรรคเพื่อไทย #ค่าแรง600