“ความงาม” เป็นเรื่องปัจเจกที่แต่ละคนอาจมีความชอบและมุมมองที่แตกต่างกัน แต่ในแง่การทำธุรกิจ เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องหาทิศทางและคาดการณ์พฤติกรรมของผู้บริโภคให้ได้ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ตามอิทธิพลโซเชียลที่กระตุ้นความคิด ความชอบ รวมถึงความเชื่อของผู้คน โดยไม่ยึดติดกับคำว่า Beauty Standard เดิม ๆ นี่จึงเป็นโจทย์หนึ่งที่ท้าทายของธุรกิจความงาม ที่ต้องเรียนรู้พฤติกรรมของผู้บริโภค และเข้าใจถึงการเปลี่ยนไปของกระแสความงามที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากงานวิจัย “NEXT by Galderma” ซึ่งทางแบรนด์ Galderma ร่วมมือกับ WGSN ผู้นำด้านการคาดการณ์แนวโน้มชั้นนำของโลก นำเสนอ 3 ปัจจัยที่กำลังเปลี่ยนโฉมวงการความงาม และคาดการณ์ 6 เทรนด์ความงามแห่งอนาคต ที่จะมาเปลี่ยนโฉมธุรกิจอุตสาหกรรมความงาม ดังนี้
3 ปัจจัยเปลี่ยนโฉมวงการความงาม
1. การเข้าถึงความงามได้ง่ายขึ้น (Increasing Accessibility)
โลกทุกวันนี้การเข้าถึงความงามไม่ใช่เรื่องไกลตัวหรือเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ไม่ใช่สิ่งที่ทำกันเฉพาะคนมีฐานะ นักแสดง หรือบรรดาคนที่ใช้ภาพลักษณ์ในการทำงานเท่านั้น แต่ในคนชนชั้นกลางทั่ว ๆ ไป ก็เข้าถึงบริการเสริมความงามต่าง ๆ ได้มากขึ้น ในราคาที่จับต้องได้ มีศูนย์ให้บริการหลายแห่งทั่วประเทศ และยังเปิดกว้างสำหรับคนไม่ว่าเพศ วัย หรืออาชีพใด ก็สามารถทำได้บนมาตรฐานความปลอดภัยและจริยธรรมของสังคม
2. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ก้าวไกล (Advancements in Science and Technology)
ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ทำให้การปรับลุคให้ตัวเองดูดีนั้นเป็นเรื่องง่ายขึ้น ด้วยประสิทธิภาพที่มากขึ้น ในราคาที่เข้าถึงคนทั่วไปได้มากขึ้น และยังตอบโจทย์ความกังวลของผู้ใช้บริการมากขึ้น
3. พลังของโลกโซเชียล (Social Community)
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า โลกโซเชียลมีพลังอย่างมากกับสังคมโลก หลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นไปในปัจจุบันรวมถึงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ก็ได้รับอิทธิพลจากโลกโซเชียลทั้งสิ้น ในด้านความงามก็เช่นกัน ผู้คนมีค่านิยม ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับความงาม จากอิทธิพลของโซเชียลมาเป็นตัวแปรสำคัญ นอกจากนี้โซเชียลยังเป็นพื้นที่ในการแชร์ข้อมูลที่รวดเร็วและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
6 เทรนด์ความงามแห่งอนาคต
1. Proactive Beauty : การป้องกันหรือชะลอปัญหา
ในอดีต ‘การรักษา’ อาจเป็นทางออกที่ผู้คนนึกถึง เมื่อเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจในรูปร่างหน้าตาของตัวเอง แต่ทุกวันนี้ผู้คนสามารถเข้าถึงความรู้เกี่ยวกับสุขภาพและความงามมากขึ้น อีกทั้งยังมีตัวเลือกมากมายที่สามารถตอบโจทย์ได้มากกว่าแค่การรักษาในสิ่งที่บกพร่อง
ปัจจุบันมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีมากมายที่สามารถป้องกันและชะลอปัญหาได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำทรีตเมนต์ หรือหัตถการต่าง ๆ ที่ไม่ต้องเจ็บตัวมาก แต่ทำอย่างสม่ำเสมอเพื่อคงสภาพผิวให้ดูดีอยู่เสมอ จึงเป็นเหตุผลที่ผู้บริโภคเลือกที่จะหันมาดูแลและปกป้องผิวตั้งแต่เนิ่น ๆ แทนที่จะปล่อยให้ผิวจะเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา เพราะแน่นอนว่าการป้องกัน ย่อมง่ายและมีประสิทธิภาพมากกว่าการรักษา
2. Mindful Aesthetics : เรียบง่าย ยั่งยืน น้อยแต่มาก
ในยุคนี้ สิ่งหนึ่งที่ผู้คนให้ความสนใจไม่แพ้เรื่องความงาม ก็คือธรรมชาติ เพราะผู้คนตระหนักรู้ดีว่า ความยั่งยืนเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย ความรุ่งเรืองของนวัตกรรมและอารยธรรมมนุษย์ควรต้องสมดุลควบคู่กันไปกับธรรมชาติ การมีผลิตภัณฑ์หรือเทคโนโลยีใด ๆ เกิดขึ้นในอนาคต จึงต้องพิจารณาเรื่องผบกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เกิดน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไป ไม่ว่าเป็นการใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติ ปราศจากสารแต่งเติม หรือกระบวนการที่ไม่สร้างมลพิษต่อโลกมากจนเกินไป เทรนด์การรักษ์โลกนี้ได้ขยายไปถึงเวชศาสตร์ความงาม ที่จะมาสร้างความสบายใจให้กับผู้บริโภคได้ว่า การดูแลความงามของตน ไม่ได้เป็นการทำลายโลกมากจนเกินไป
3. Fast Aesthetics : เทรนด์ความงามตามกระแส
แม้ว่าความงามตามกระแสจะเป็นสิ่งที่มาไวไปไว แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ได้รับอิทธิพลจากกระแสอันรวดเร็วนี้ ไม่ว่าจะมาจากนักแสดง ไอดอล อินฟลูเอนเซอร์ หรือเป็นความชื่นชอบส่วนตัว เช่น ริมฝีปากสไตล์รัสเซีย (Russian Lips) หรือดวงตาแบบ Fox Eyes รวมถึงแฟชั่นการแต่งกายและเครื่องสำอางต่าง ๆ ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาหนึ่ง และเมื่อผ่านไป มักจะค่อย ๆ ได้รับความนิยมลดลง ในขณะเดียวกันก็เกิดกระแสใหม่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง การทำหัตถการจำพวกการฉีดฟิลเลอร์ โบท็อกซ์ หรือการปรับแต่งความงามอื่น ๆ ที่ทำได้รวดเร็วและอยู่เพียงชั่วคราว จึงเป็นที่นิยมตามไปด้วย เพราะหากกระแสนั้นหมดไปและเปลี่ยนแปลงเป็นแบบอื่น ก็ไม่ดูล้าสมัย
4. Beauty Fandom : ความงามแบบเฉพาะกลุ่ม
ความงาม เป็นสิ่งที่ยากจะอธิบายออกมาเป็นลักษณะตายตัว ค่านิยมด้านความงามก็มีทั้งกระแสหลัก และกระแสรอง หรือแม้กระทั่งความชื่นชอบในกลุ่มที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาก เช่น การปรับลุคตามแฟชั่น Barbiecore หรือ Fairycore การศัลยกรรมใบหูให้ดูเหมือนเอลฟ์ (Fairy Ear Surgery) ซึ่งมักจะเป็นรสนิยมที่ได้รับอิทธิพลจากไอดอล อินฟลูเอนเซอร์ ภาพยนตร์ การ์ตูน หรืออนิเมะ แต่การให้บริการของแพทย์ด้านความงามตามเทรนด์นี้ ถือเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนและยังเป็นที่ถกเถียงกันในแง่จริยธรรมและขอบเขตความเหมาะสม
5. Expressionality : ความงามอันเป็นอัตลักษณ์
จากผลวิจัย พบว่า 8 ใน 10 ของคนเจน Z และมิลเลนเนียล เชื่อว่า นิยามของความงามที่สำคัญที่สุดคือ ‘การเป็นตัวของตัวเอง’ การแสดงอัตลักษณ์และตัวตนของตัวเองอย่างอิสระ โดยไม่มีกรอบตามสังคมครอบไว้ เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมความมั่นใจได้ ไม่ว่าจะมีรสนิยมความชอบการแต่งกาย แต่งหน้า หรือความงามรูปแบบใด กระทั่งเส้นแบ่งเรื่องเพศ ที่ปัจจุบันถูกมองเป็นเรื่องปกติ ผิดกับในอดีตที่หากมีรูปลักษณ์ไม่ตรงกับเพศสภาพจะถูกมองว่าแปลก กลุ่มเป้าหมายในธุรกิจความงามต่าง ๆ จึงอาจมีความหลากหลายขึ้น เพราะจะเพศชายหรือหญิง หรือเพศใด ๆ ก็สามารถดูแลตัวเองให้ดูดีได้เช่นกัน
6. Cancelling Age : ดูดีสมวัย
ความคาดหวังต่อการเข้ารับหัตถการดูแลรักษาผิวของคนในยุคนี้ คือการคงสภาพผิวไว้ให้ดูดีตามช่วงวัย มากกว่าจะเป็นการคาดหวังว่าจะดูเด็กลงได้ ส่วนหนึ่งก็ด้วยว่าคนมีความรู้และเข้าถึงการทำหัตถการเสริมความงามมากขึ้น จึงนิยมเริ่มดูแลตัวเองตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยเน้นการดูแลจากภายใน เช่นการทำหัตถการที่กระตุ้นการสร้างเส้นใยคอลลาเจน ที่แม้ว่าจะไม่เห็นผลชัดเจนในทันที แต่จะมีประสิทธิภาพได้ในระยะยาว
เขียนและเรียบเรียง : กองบรรณาธิการ
ที่มา : กัลเดอร์มา (ประเทศไทย)
ติดตาม Business+ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/
Youtube : https://www.youtube.com/@thebusinessplus7829
#TheBusinessPlus #Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus #Business