3 เหตุผลสุดโหด สู่ยุคที่ค่าไฟแพงที่สุด สงครามนี้ธุรกิจไหนเจ็บตัวหนัก?

หลังจากที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยข้อมูลว่าตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงการทบทวน และปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ในเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2565 โดยจะเพิ่มราว 90 – 100 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งหากเพิ่มตามเรทที่ตั้งเอาไว้จริง จะดันค่าไฟแตะหน่วยละ 5 บาท ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ค่าไฟฟ้าปรับสูงขึ้นไปแตะที่ระดับนี้ (จากปัจจุบันค่าไฟอยู่ทีประมาณ 4 บาทต่อหน่วย) จึงทำให้มีทั้งภาคครัวเรือน และธุรกิจที่ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ

แต่ก่อนจะไปถึงเหตุผลที่ทำให้ค่าไฟปรับขึ้นเรามาดูโครงสร้างของค่าไฟกันก่อน
ปกติแล้ว สูตรค่าไฟจะประกอบด้วย ค่าไฟฟ้าฐาน + ค่า Ft + ภาษีมูลค่าเพิ่ม

โดยค่าไฟฟ้าฐาน เป็นต้นทุน+รายจ่ายของการไฟฟ้า รวมทั้ง กฟผ.  กฟน. และกฟภ. โดยประกอบด้วย ต้นทุนทางการเงินที่การไฟฟ้าใช้ในการก่อสร้างขยายระบบผลิต รวมถึงระบบส่งและระบบจำหน่าย

ส่วนค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ Ft เป็นค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงที่แปรผันไปตามเวลาเพื่อให้สะท้อนต้นทุนผันแปรได้มากที่สุด (ปรับทุก 4 เดือน) ถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อเป็นกลไกกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ สะท้อนต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยต่างๆ เช่น ราคาค่าเชื้อเพลิง อัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ค่าซื้อไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ

มาถึงตรงนี้ หลายคนคงเริ่มมองเห็นสาเหตุแล้วว่า ทำไมเราจึงต้องปรับค่าไฟเพิ่มขึ้น
โดยเหตุผลที่ทำให้ค่าไฟปรับขึ้นเหมือนจรวดมีสาเหตุมาจาก 3 ปัจจัยหลักๆ ด้วยกัน

ปัจจัยแรก คือ ต้นทุนก๊าซ LNG และพลังงานฟอสซิลอย่างน้ำมัน และถ่านหิน ปรับตัวขึ้นตามตลาดโลก ทั้งนี้เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าแต่ละครั้ง จะต้องใช้แหล่งเชื้อเพลิงคือ ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) หรือเชื้อเพลิงฟอสซิล อย่างน้ำมันและถ่านหิน ดังนั้นเมื่อราคาเชื้อเพลิงสูงขึ้น เท่ากับต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของเราเพิ่มขึ้นตาม

ตอนนี้ ราคา LNG นำเข้าพุ่งสูงแตะ 30 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู จากไตรมาสที่แล้วอยู่ที่ราว 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู และแนวโน้มราคา LNG รวมถึงถ่านหิน และน้ำมันจะยังพุ่งต่อเนื่องเสียด้วย

ซึ่งสัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชนิดต่างๆ ในปี 2563 ที่ผ่านมาคือ
– ก๊าซธรรมชาติ สัดส่วน 56%
– ถ่านหิน/ลิกไนต์ สัดส่วน 15%
– นำเข้า สัดส่วน 14%
– พลังงานหมุนเวียน สัดส่วน 11%
– พลังงานน้ำ สัดส่วน 3%
– น้ำมัน สัดส่วน 0.5%

ปัจจัยที่ 2 มาจากโครงสร้างของประเทศไทยเอง นั่นคือ แหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ตอนนี้อยู่ระหว่างขาดช่วง เพื่อเปลี่ยนผู้รับสัมปทานแหล่งก๊าซเอราวัณ ซึ่งแหล่งก๊าซนี้ถือเป็นแหล่งก๊าซต้นทุนถูก ที่ป้อนก๊าซเข้าระบบได้ถึง 1,000 ล้านลูกบาศก์ลิตรต่อวัน

ซึ่งตอนนี้ผู้รับสัมปทานอย่าง ปตท.สผ. รับไม้ต่อสัมปทานจากเชฟรอน ยังไม่สามารถแจ้งปริมาณที่จะขยายกำลังการผลิตเพื่อชดเชยก๊าซที่ขาดหายไปได้อย่างชัดเจน ทำให้ไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าเพิ่มมากขึ้น

และเมื่อต้องนำเข้าก๊าซเพิ่มขึ้น ก็จะได้รับผลกระทบต่อมายังทอดที่ 3 นั่นคือ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่อง (ตอนนี้อยู่ที่ราวๆ 35 บาทต่อดอลลาร์) ซึ่งไทยเป็นผู้นำเข้าพลังงานทำให้เราต้องใช้เงินบาทมากขึ้นต่อการนำเข้า (ต้นทุนเพิ่มขึ้น) จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของไทยมีทิศทางขาขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แน่นอนว่า นอกจากน้ำมันแล้ว พลังงานไฟฟ้า ถือเป็นอีกหนึ่งต้นทุนที่สำคัญสำหรับการประกอบธุรกิจ ทั้งภาคการผลิต รวมถึงภาคบริการ โดยไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยโดยรวม
ราว 4% ของต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ

ดังนั้นต้องบอกว่า ทุกธุรกิจจะได้รับผลกระทบกับค่าไฟที่สูงขึ้น และจากปัจจัยที่กล่าวมาทำให้ถูกคาดการณ์ว่า ค่าไฟฟ้าจะยังแพงไปจนถึงปี 2566 หรือจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

และคำถามต่อไปคือ ธุรกิจไหนจะได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากกรณีนี้ และธุรกิจไหนจะได้รับประโยชน์บ้าง?

โดยปกติแล้วประเภทของ อัตราค่าไฟฟ้า ถูกแบ่งออกเป็น 8 ประเภท คือ บ้านอยู่อาศัย กิจการขนาดเล็ก กิจการขนาดกลาง กิจการขนาดใหญ่ กิจการเฉพาะอย่าง องค์กรที่ไม่แสวงหาก่าไร สูบน้ำเพื่อการเกษตร ไฟฟ้าชั่วคราว ซึ่งจะมีอัตราค่าไฟแตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ใช้ไฟฟ้ามากที่สุด ก็จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดอย่างแน่นอน เพราะภาคอุตสาหกรรมเป็นภาคที่มีการใช้ไฟฟ้ามากที่สุด สัดส่วนราว 44% ขณะที่ภาคครัวเรือน ใช้สัดส่วนราว 28% และภาคธุรกิจสัดส่วน 24%

โดย 9 อันดับแรกของกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้ไฟฟ้ามากที่สุดมีดังนี้
1. อาหาร
2. เหล็กและโลหะพื้นฐาน
3. อิเล็กทรอนิกส์
4. พลาสติก, ยานยนต์
5. ยางและผลิตภัณฑ์ยาง
6. สิ่งทอ
7. ซีเมนต์
8. การผลิตน้ำแข็ง
9. เคมีภัณฑ์

ส่วนกลุ่มธุรกิจที่ใช้ไฟฟ้ามากที่สุดมีดังนี้
1. อพาร์ทเมนต์
2. ห้างสรรพสินค้า
3. ขายปลีก
4. โรงพยาบาล
5. ขายส่ง
6. อสังหาริมทรัพย์
7. โรงแรม
8. ภัตตาคารและไนต์คลับ, สถาบันการเงิน, ก่อสร้าง

จะเห็นว่าอุตสาหกรรมอาหาร และธุรกิจอพาร์ทเมนต์ เป็น 2 ส่วนที่ใช้ไฟฟ้ามากที่สุด และจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก หากไม่ได้เตรียมตัวหรือแบ่งพอร์ตการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเอาไว้ ซึ่งแน่นอนว่าในภาวะค่าไฟฟ้าสูงธุรกิจที่จะได้รับปัจจัยบวกคือผู้ดำเนินธุรกิจพลังงานทดแทน

ประเด็นนี้ ‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ ประเมินว่า ปัจจัยดังกล่าวน่าจะมีส่วนหนุนให้ตลาดโซลาร์รูฟท็อปภาคธุรกิจในปี 2565 ขยายตัวสู่ระดับ 125.9 เมกะวัตต์ หรือเติบโตราว 54.2% จากปีก่อน และแนวโน้มยังคงมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, การไฟฟ้านครหลวง

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/?hl=en

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ค่าไฟ #ค่าไฟแพง #การไฟฟ้านครหลวง #การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค #ค่าไฟขึ้น