‘Ford’ เผยยอดขายต.ค.65 ลดลง 10% หลังปัญหาขาดแคลนชิปกระทบซัพพลายเชน

เป็นที่ทราบกันดีว่านับตั้งแต่การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ไม่เว้นแม้กระทั่งอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ไม่ได้เผชิญเพียงแค่ยอดขายที่ลดลงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงกระบวนการผลิต ที่จำเป็นต้องมีชิ้นส่วนทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เพียงพอต่อการผลิต แต่กลับต้องเผชิญกับภาวะปัญหาขาดแคลนชิป ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังที่ยังคงแก้ไม่หายนับตั้งแต่ปี 2020

 

ย้อนกลับไปในช่วงการล็อกดาวน์ของ COVID-19 ในไตรมาสที่สองของปี 2020 เมื่อความต้องการเทคโนโลยีจากการที่ผู้คนต่างต้องเรียนและทำงานจากที่บ้านเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เป็นที่ต้องการมากขึ้น โดยเฉพาะ ‘เซมิคอนดักเตอร์’ หรือ ‘ชิป’ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ

 

โดยจากปัญหาขาดแคลนชิปนี้ พบว่ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคืออุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งปัญหาการขาดแคลนชิปทำให้การผลิตและการขายลดลง เนื่องจากในการผลิตรถยนต์หนึ่งคัน จำเป็นต้องใช้ชิปแทบจะทุกส่วน ตั้งแต่ระบบความบันเทิงไปจนถึงพวงมาลัยเพาเวอร์ สิ่งนี้จึงทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ต้องแข่งขันกันเพื่อชิงกำลังการผลิตเซมิคอนดักเตอร์จากโรงหล่อในเอเชีย

 

จากปัญหาดังกล่าว ไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงแค่ผู้ผลิตรายย่อยเท่านั้น เพราะแม้แต่ผู้ผลิตรายใหญ่อย่าง ‘Ford Motor’ เองก็ต้องเผชิญกับช่วงเวลายากลำบากนี้เช่นกัน โดยตัวแทนจาก ‘Ford’ ระบุว่า ยอดขายในสหรัฐฯ เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ลดลง 10% เนื่องจากต้องต่อสู้กับปัญหาซัพพลายเชน (Supply chain) ที่ทำให้การจัดส่งไปยังตัวแทนจำหน่ายล่าช้า

 

ทั้งนี้ ‘Ford’ รายงานยอดขายรถยนต์ใหม่ในเดือนตุลาคม 2565 อยู่ที่ 158,327 คัน ซึ่งลดลงจากยอดขายเกือบ 176,000 คันในเดือนตุลาคม 2564 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์

 

สำหรับยอดขายเดือนตุลาคม 2565 ของ ‘Ford’ ต่ำกว่าอุตสาหกรรมโดยรวม โดย ‘Edmunds’ รายงานยอดขายรถยนต์โดยรวมเพิ่มขึ้น 9.1% เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มียอดขายเกือบ 1.2 ล้านคัน

 

โดย ‘Ford’ ประสบปัญหาด้านซัพพลายเชนที่ไม่เหมือนใครเมื่อเร็ว ๆ นี้ รวมถึงการจัดหาป้ายวงรีสีน้ำเงินสำหรับรถกระบะและ SUV ที่ทำกำไรได้สูง ซึ่ง ‘Ford’ มีรถยนต์ประมาณ 40,000 คัน ที่รออะไหล่เพื่อดำเนินการให้เสร็จสิ้นในไตรมาสที่ 3/65 ทั้งนี้ ‘Ford’ คาดว่าจะแล้วเสร็จและจัดส่งยานพาหนะเหล่านั้นไปยังตัวแทนจำหน่ายได้ภายในสิ้นปีนี้

 

ด้าน ‘แอนดรูว์ ฟริก’ รองประธานฝ่ายขาย การจัดจำหน่าย และรถบรรทุกขอ’ ‘Ford’ กล่าวว่า ผู้ผลิตรถยนต์ยังคงมองเห็นความต้องการที่แข็งแกร่งสำหรับรถยนต์ของตน ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่สูงเป็นประวัติการณ์และความกลัวว่าเศรษฐกิจจะถดถอย

 

นอกจากนี้ ‘Ford’ ระบุว่า คำสั่งซื้อรถยนต์รุ่นปี 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 255,000 คัน โดยประมาณครึ่งหนึ่งเป็นยอดขายปลีกจากคำสั่งซื้อที่วางไว้ก่อนหน้านี้ตามข้อมูลของบริษัท

 

ทั้งนี้ ยอดขายรถปิคอัพ F-Series ที่ทำกำไรได้ของ ‘Ford’ ลดลง 17.4% เมื่อเดือนตุลาคม 2565 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2564 ส่งผลให้ยอดขายลดลงประมาณ 13% เมื่อเทียบเป็นรายปีในช่วงสองเดือนสุดท้ายของปี ขณะที่ ‘Ford’ จำหน่ายรถกระบะ F-150 Lightning ไฟฟ้าทั้งหมด 11,196 รุ่น จนถึงเดือนตุลาคม 2565 โดยรวมรถยนต์ 2,436 คัน

 

นอกจากนี้ ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดของ ‘Ford’ ในปี 2565 มียอดรวม 47,500 คัน จนถึงเดือนตุลาคม 2565 คิดเป็นประมาณ 3% ของยอดขายของผู้ผลิตรถยนต์ โดยยอดขายส่วนใหญ่เป็นรถครอสโอเวอร์ของมัสแตงมัค-อี ซึ่งเพิ่มขึ้น 44% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วเป็นมากกว่า 31,000 คัน ขณะที่ยอดขายรถยนต์ทุกรุ่นของฟอร์ดในปัจจุบัน รวมถึงแบรนด์ลินคอล์นสุดหรูของบริษัท อยู่ที่ 1.54 ล้านคันจนถึงเดือนตุลาคม 2565 ลดลง 2.2% จากปี 2564

 

อย่างไรก็ดี ยอดขายในเดือนตุลาคม 2565 ของ ‘Ford’ เกิดขึ้นหนึ่งสัปดาห์หลังจากที่บริษัทบันทึกขาดทุนสุทธิ 827 ล้านดอลลาร์ ในช่วงไตรมาสที่ 3/65 ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเลิกกิจการ ‘Argo AI’ หน่วยยานยนต์ไร้คนขับ

 

ทั้งนี้ ‘Ford’ ได้อัปเดตคำแนะนำเพื่อคาดการณ์รายรับที่ปรับแล้วทั้งปีก่อนดอกเบี้ยและภาษีประมาณ 11.5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดของรายรับที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม บริษัทได้เพิ่มการคาดการณ์กระแสเงินสดอิสระที่ปรับแล้วทั้งปีเป็นระหว่าง 9.5 พันล้านดอลลาร์ถึง 10 พันล้านดอลลาร์ โดยเพิ่มขึ้นจาก 5.5 พันล้านดอลลาร์เป็น 6.5 พันล้านดอลลาร์จากความแข็งแกร่งในการดำเนินงานด้านยานยนต์ของบริษัท

 

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

 

ที่มา : CNBC, JPMorgan

 

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #Ford #FordMotor