FoodTruck

‘ฟู้ดทรัค’ ธุรกิจที่น่าลงทุนในตอนนี้ ?

หากพูดถึงการประกอบอาชีพการค้าขายในรูปแบบการเป็นเจ้านายตัวเอง ในอดีตจะเป็นการค้าหาบเร่ และก็มีวิวัฒนาการการค้าเรื่อยมา ปัจจุบันการเปิดร้านขายของ ขายอาหาร ไม่ได้มีเพียงแค่เปิดตามอาคาร บ้านเรือน เท่านั้น แต่มีการเปิดขายแบบขับเคลื่อนบนท้องถนนวิ่งไปตามหมู่บ้าน หรือ ที่เราคุ้นชื่อกันก็คือ ‘รถกับข้าว’ ที่มาในรูปแบบการขายบนรถกระบะ และมีสินค้าแทบทุกอย่างที่สามารถขนขึ้นรถได้

นอกเหนือจากรถกับข้าวแล้ว ยังมีรถขายอาหารที่ฉีกแนวจากรถกับข้าวโดยมีต้นกำเนิดมาจากรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีชื่อเรียกว่า  ฟู้ดทรัค’ (Food Truck) เป็นรถที่มีห้องครัวเคลื่อนที่ โดยฟู้ดทรัคเป็นเทรนด์การทำธุรกิจที่ได้รับการตอบรับดีในประเทศไทย ด้วยเป็นธุรกิจที่นักลงทุนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ อีกทั้งยังสามารถปักหลักหรือไปออกงานอีเว้นต์ต่าง ๆ ก็สะดวกสบาย

สำหรับธุรกิจฟู้ดทรัคอาจจะต้องมีเงินทุนตั้งต้นประมาณ 450,000-500,000 บาท ซึ่งฟู้ดทรัคในไทยมีหลายประเภท โดยปกติเราจะแบ่งแบบรถฟู้ดทรัคตามลักษณะ คือ ฟู้ดทรัคแบบมีเครื่องยนต์ (Food Truck) กับแบบไม่มีเครื่องยนต์ ซึ่งจะเรียกว่าตู้พ่วง หรือ ฟู้ดคาร์ท (Food Cart) โดยฟู้ดทรัคทั้ง 2 แบบนั้นต่างก็เป็นที่นิยมในไทย

ทั้งนี้จากการสำรวจอ้างอิงข้อมูลของ TBIC Food Truck Thailand พบว่า ในปี 2566 การขยายของธุรกิจฟู้ดทรัคจะกลับมาเติบโต 10 – 15% โดยประมาณการรถฟู้ดทรัคในประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็น 3,300 คัน (ปี 2564 มีรถฟู้ดทรัคในไทยประมาณ 2,800 คัน ปี 2565 มีประมาณ 3,000 คัน) คาดช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างเงินหมุนเวียนจากการขายอาหาร/เครื่องดื่มภายในประเทศ ไม่ต่ำกว่า 3,600 ล้านบาท

สำหรับฟู้ดทรัคในไทยมีสัดส่วนแบ่งตามประเภทรถ ได้ดังนี้ รถกระบะ 86%, รถคลาสสิค 6%, รถเทรลเลอร์ 4%, รถสามล้อ  2% และ รถอื่น ๆ 2% โดยมีสัดส่วนของประเภทสินค้า ดังนี้ เครื่องดื่ม 25%, อาหารอินเตอร์ 23%, อาหารไทย 22%, อาหารว่าง 15% และ ของหวาน 15%

อย่างไรก็ตามแม้แนวโน้มธุรกิจฟู้ดทรัคจะมีการเติบโต แต่ ‘Business+’ จะพามาดูอีกมุมหนึ่งของธุรกิจ ซึ่งการที่จะเติบโตได้ก็ต้องพึ่งหลายปัจจัย ก่อนหน้านี้ธุรกิจฟู้ดทรัคได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ผู้ประกอบการบางรายถึงขั้นปิดกิจการ เนื่องจากพื้นที่ขายที่ผู้คนออกมาซื้อสินค้าเกือบทุกพื้นที่ไม่เปิดให้บริการ

อีกทั้งยังมีการปิดประเทศทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางมาท่องเที่ยวได้เช่นเดิม รายได้หมุนเวียนในประเทศขาดหายไป เศรษฐกิจซบเซา ประชาชนขาดรายได้ ซึ่งเมื่อไม่มีรายได้ก็ไม่สามารถที่จะซื้อสินค้าเกินงบประมาณรายจ่ายได้ โดยราคาอาหารฟู้ดทรัคก็ไม่ได้ถูกจัดว่าอยู่ในราคาย่อมเยา อีกทั้งยังอยู่ในภาชนะขนาดเล็กซึ่งอาจจะไม่เพียงพอต่อการบริโภคหนึ่งมื้อด้วยซ้ำไป

ปัจจุบันแม้โรคระบาด COVID-19 จะเริ่มคลี่คลาย แต่ก็ยังต้องประสบปัญหากับเรื่องต้นทุนวัตถุดิบ และราคาพลังงาน  โดยสถานการณ์ที่ทำให้ต้นทุนพุ่งสูงล่าสุด คือ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ทั่วทั้งโลกต้องเผชิญกับราคาพลังงานที่ปรับตัวสูง ขาดแคลนวัตถุดิบ

ซึ่งสองสิ่งนี้ถือเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวของทุกคน เมื่อของทุกอย่างแพงการดำรงชีพก็จะติดขัดมากขึ้น และรายที่จะได้รับผลกระทบเต็ม ๆ คือ ผู้ประกอบการ ซึ่งธุรกิจฟู้ดทรัค ต้องใช้ทั้งวัตถุดิบที่สดใหม่ แถมยังต้องใช้พลังงานจากน้ำมันในการขับเคลื่อน

โดยจากการสำรวจราคาพลังงาน ก๊าซหุงต้ม เดือนธันวาคม 2564 เทียบกับ เดือนธันวาคม 2565 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นตลอดเวลา อาทิ ในเดือนธันวาคม 2564 ราคาน้ำมันเบนซิน 95 อยู่ที่ 38.05 บาท แต่ในธันวาคม 2565 ปรับสูงขึ้นอยู่ที่ 41.98 บาท หากคิดเป็นต้นทุนจะเพิ่มขึ้นถึง 3.93 บาท

ขณะที่ก๊าซหุงต้มขนาด 15 กิโลกรัม เดือนธันวาคม 2564 ราคาอยู่ที่ 338.25 บาท แต่ในธันวาคม 2565 ปรับขึ้นอยู่ที่ 426.67 บาท ซึ่งหากคำนวณเป็นต้นทุนจะเพิ่มขึ้นถึง 88.42 บาท

ทั้งนี้ฟู้ดทรัคอาจจะเติบโตจริงแต่ก็ต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่บอกไปข้างต้น ซึ่งการลงทุนธุรกิจไม่เพียงแต่ต้องดูแนวโน้มการเติบโตธุรกิจ แต่ต้องดูถึงสภาพแวดล้อม ต้นทุน และต้องมีการรับข่าวสารจากหลากหลายมุมมองเป็นองค์ประกอบควบคู่ไปด้วย

.

ที่มา : thansettakij, Sagroup, truck, ธปท.

.

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ

.

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

.

#Businessplus #TheBusinessplus #นิตยสารBusinessplus #FoodTruck #ฟู้ดทรัค #ธุรกิจฟู้ดทรัค