Food delivery ในยุคหมดโควิด-19 ไปได้ไกลแค่ไหน? เปิด 3 ปัจจัยต้องจับตามอง ภายใต้การแข่งขันสูง

ธุรกิจ Food delivery เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เติบโตจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค การล็อกดาวน์ ไปจนถึงการทำงานที่บ้านในช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้ปริมาณการสั่งอาหารออนไลน์ของประเทศไทยในปี 2563 เติบโตแบบก้าวกระโดดไปกว่า 3 เท่าตัว

ถึงแม้หลังจากเปิดประเทศและเปิดกิจกรรมตามปกติในช่วงปลายปี 2564 อาจจะทำให้ปริมาณการสั่งอาหารบางส่วนลดลง แต่ทิศทางโดยรวมแล้ว โควิด-19 ได้เข้ามาทำให้พฤติกรรมการสั่งอาหารของคนเปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวร ดังนั้น นักวิเคราะห์หลายฝ่ายจึงยังมองว่าตลาด Food delivery ยังมีโอกาสเติบโตต่อ

ฝั่ง ‘EIC ไทยพาณิชย์’ ประเมินว่า มูลค่าตลาด Food delivery ของไทยในปี 2564 จะเติบโต 62% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน จนมีมูลค่า 1.05 แสนล้านบาท ขยายตัวต่อเนื่องแต่ในอัตราที่ชะลอลงจากปี 2563 ที่เติบโตก้าวกระโดดเกือบ 3 เท่าตัว จากการใช้งานที่ยังเพิ่มต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจัดโปรโมชันส่วนลดของแพลตฟอร์มเพื่อดึงดูดผู้ใช้บริการ และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการล็อกดาวน์และห้ามรับประทานอาหารภายในร้านในช่วงที่ผ่านมาช่วยเร่งให้มีผู้ใช้บริการเพิ่มสูงขึ้น

มาดูความเห็นด้านการแข่งขันที่รุนแรง จนทำให้ก่อนหน้านี้เกิดความกังวลในแง่ของผลประกอบการ เพราะบริษัท Food delivery ต้องแข่งขันแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดด้วยการทำโปรโมชั่นทางการตลาดอย่างดุเดือด ทำให้หลายรายประสบกับผลขาดทุนสุทธิ ถึงแม้จะกวาดรายได้จำนวนมากก็ตาม

โดย EIC มองว่าการแข่งขันในธุรกิจ Food delivery ยังมีแนวโน้มรุนแรงต่อเนื่องทั้งในด้านการจัดโปรโมชันส่วนลดแก่ทั้งผู้ใช้บริการและร้านอาหารจากการเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่, การขยายพื้นที่การให้บริการ และการเพิ่มรูปแบบการให้บริการในห่วงโซ่อุปทานอาหาร อีกทั้ง การขยายบริการไป ด้านอื่น ๆ นอกเหนือจาก Food delivery อย่างเช่น การซื้อสินค้า, การขนส่งสินค้า, การเงิน และการท่องเที่ยว จะทำให้การแข่งขันสู่การเป็น Super App จะเริ่มชัดเจนมากยิ่งขึ้นและทวีความรุนแรงกว่าเดิม

ขณะที่ยังให้ความเห็นในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าหลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลาย EIC คาดว่าธุรกิจ Food delivery ในไทยยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุน 3 ด้าน คือ

– การขยายตัวของฐานผู้ใช้บริการใหม่จากความต้องการความสะดวกสบายในการใช้บริการที่ยังมีต่อเนื่อง
– การเพิ่มขึ้นของการใช้บริการของฐานลูกค้าเดิมจากพฤติกรรมที่เคยชินมากขึ้น
– การขยายตลาดการให้บริการไปในธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานร้านอาหาร

ส่วนความเห็นของ ‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ มองว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 มาตรการจำกัดการให้บริการร้านอาหาร และนโยบายการให้พนักงานทำงานที่พัก พฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีความคุ้นชินกับการใช้แอพพลิเคชั่นจัดส่งอาหารไปยังที่พัก และมาตรการคนละครึ่งของภาครัฐ ทำให้มูลค่าตลาดของการสั่งอาหารไปส่งยังที่พักในปี 2564 เติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ถึงกว่า 46.4%

ขณะที่แนวโน้มในปี 2565 ยังเพิ่มขึ้นจากแรงหนุนด้านความต้องการของผู้ใช้บริการท่ามกลางการทำงานแบบ Hybrid Work กลยุทธ์การปรับตัวของผู้ประกอบการในการขยายฐานรายได้ในพื้นที่ใหม่ และฐานลูกค้าสะสมของผู้ใช้บริการทั้งฝั่งผู้บริโภคและร้านอาหารเร่งตัวขึ้นจากผลของโควิดที่ระบาดรุนแรง แต่การเพิ่มขึ้นน่าจะชะลอลงเมื่อเทียบกับปี 2564

ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อทิศทางตลาดฟู้ดดิลิเวอรี่ในปี 2565 คือ Hybrid Work และความคุ้นชิน ประกอบกับการกระตุ้นตลาดโดยใช้โปรโมชั่นของผู้ประกอบการจะทำให้ลูกค้าผู้ใช้บริการที่เคยใช้อยู่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยทำงาน Gen Y และกลุ่มวัยรุ่น Gen Z ยังคงใช้บริการต่อเนื่อง

ประเมิน มูลค่าตลาดการสั่งอาหารยังที่พักในปี 2565 (ฐานคำนวณใหม่ รวมร้านอาหาร เบเกอรี่และเครื่องดื่ม) จะมีมูลค่าประมาณ 7.9 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัว 4.5% ชะลอลงจากฐานที่เร่งตัวสูงในปี 2564

แต่ในกรณีที่โอมิครอนมีการระบาดรุนแรง ตลาดการจัดส่งอาหารไปยังที่พักน่าจะขยายตัวได้เพิ่มขึ้นกว่าคาด

จากมุมมองของนักวิเคราะห์ทั้ง 2 สถาบันทำให้เราเห็นว่าในแง่ของแนวโน้มตลาดโดยรวม และอุปสงค์ต่อ Food delivery ยังคงสูงต่อเนื่องไปจนถึงปี 2565 แต่อย่างไรก็ตาม การเติบโตของบริษัทเหล่านี้ ยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขหลายอย่างด้วยกัน ซึ่งมีทั้งปัจจัยภายนอกที่บริษัทควบคุมไม่ได้ อย่างการระบาดของโควิด-19 การเข้าสู่ตลาดของผู้เล่นหน้าใหม่

รวมถึงปัจจัยภายใน อย่างความจำเป็นในการจัดโปรโมชั่น หรือบริการเสริม เพราะสุดท้ายแล้ว การจัดโปรโมชั่นเพื่อแข่งขันจะกระทบต่อกำไรสุทธิของบริษัทเหล่านี้ให้ลดน้อยลงอย่างแน่นอน

สืบค้นข้อมูล เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ข้อมูล : EIC ไทยพาณิชย์,ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ฟู้ดเดลิเวอรี่ #foodDelivery