ธุรกิจฟาสต์ฟิต หรือศูนย์บริการรถยนต์แบบเร่งด่วนที่ให้บริการซ่อมบำรุงและตรวจเช็กรถยนต์แบบครบวงจรในไทยช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการแข่งขันกันค่อนข้างดุเดือดไม่แพ้กับธุรกิจอาหาร ทั้งค่ายรถยนต์ที่ตั้งศูนย์บริการขึ้นมาเองใหม่เพื่อกินรวบเซอร์วิสของลูกค้า หรือแม้กระทั่งบริษัทพลังงานที่เป็นเจ้าของปั๊มน้ำมันหลายเจ้าก็แตกแบรนด์ฟาสต์ฟิตออกมาเช่นกัน
ซึ่งถึงแม้มองภาพรวมยังถือว่าเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตที่ดีจากรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นและการใช้รถที่ยาวนานขึ้น ทำให้ความต้องการบริการซ่อมบำรุงรถยนต์แบบเร่งด่วนมีสูงขึ้น
แต่การที่ธุรกิจฟาสต์ฟิต ต้องอัดสงครามโปรโมชั่น เพื่อดึงดูดลูกค้า ทั้งแข่งขันกันที่รายการตรวจฟรียิ่งมากยิ่งดี และโปรโมชั่นลด 50% ซึ่งถึงแม้ว่าจะทำให้ชิงส่วนแบ่งการตลาดมาได้แต่ในระยะยาวก็อาจจะเจอกับกำไรสุทธิที่เหลือต่ำเตี้ยเรี่ยดิน
ทีนี้เรามาวิเคราะห์สถานการณ์ของแบรนด์ฟาสต์ฟิตอิสระที่เรารู้จักกันดีว่า แบรนด์ไหนยังมีการเติบโต ส่วนแบรนด์ไหนเริ่มแผ่ว โดยเรียงลำดับจากแบรนด์ที่มีรายได้สูงที่สุดลงไปดังนี้
ในส่วนของ บีควิก รายได้และกำไรสุทธิเติบโตต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2564 โดยกำไรสุทธิปี 2565 แตะระดับพันล้านบาทเป็นปีแรกขณะที่รายได้พุ่งทะลุ 1 หมื่นล้านบาทได้ในปีล่าสุด ซึ่งโมเดลธุรกิจของบีควิก นั้น บริหารเอง 100% ไม่มีการขายแฟรนไชส์ ทำให้สามารถควบคุมต้นทุน ค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี โดยมีอัตรากำไรสุทธิ 11.20% ถือว่าสูงที่สุดในกลุ่ม
ขณะที่ในปี 2566 บีควิก ได้เจาะกลุ่มลูกค้าเป็นคนรุ่นใหม่ ด้วยการดึง พีพี-บิวกิ้น เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ และยังคงคอนเซปต์ด้วยการใช้ ‘Music Marketing’ ทำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว และยังเป็นการปรับภาพลักษณ์สู่แบรนด์ที่ทันสมัยขึ้นอีกด้วย
มาต่อกันที่แบรนด์ที่มีสาขามากที่สุดในประเทศไทย นั่นก็คือ ค็อกพิท (Cockpit) ซึ่งมีสาขามากถึง 276 สาขา ด้วยโมเดลการทำธุรกิจด้วยการขายแฟรนไชส์ ในส่วนของรายได้และกำไรสุทธิปี 2567 ลดลงจากปีที่แล้ว โดยรายได้ลดลงจากหมื่นล้านบาทเป็นครั้งแรกในรอบ 19 ปี (นับตั้งแต่ปี 2548) ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทเคยอู่ฟู้ถึงขั้นที่รายได้เคยทำจุดสูงสุดที่ 19,489 ล้านบาท ในปี 2555 เลยทีเดียว
แต่ถ้าหากมองกันที่ความสามารถในการทำกำไรสุทธิแล้ว ถือว่าต่ำกว่า บีควิก อย่างมาก ด้วยอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ราวๆ 1.63% ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการทำการตลาด อย่างช่วงการเปิดสาขาใหม่ก็จะมีการออกโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นลูกค้าในช่วงเปิดตัวศูนย์บริการ
ออโต้แบคส์ (Autobacs) ซึ่งอยู่ภายใต้เครือบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือปั๊มน้ำมัน PT ถือเป็นม้ามืดในแง่ของรายได้ ที่ขึ้นมาสู่ระดับพันล้านเป็นครั้งแรกในปี 2567 ที่ 1,152 ล้านบาท แต่ก็อาจจะแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายในการทำการตลาด ทำให้กำไรสุทธิลดลงมา 2 ปีติดต่อกันเหลือ 5.95 ล้านบาทในปี 2567 จากปี 2565 อยู่ราวๆ 8.8 ล้านบาท ส่วนอัตรากำไรสุทธินั้นต่ำเพียงแค่ 0.52% เท่านั้น
ถึงแม้ภาพรวมแล้วธุรกิจนี้จะยังเติบโตได้ต่อเนื่องจากพฤติกรรมของคนที่ใช้รถยาวนานขึ้นในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี หนี้ครัวเรือนสูง แต่ก็ยังมีความท้าทายจากการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ทำให้เจ้าของธุรกิจฟาสต์ฟิตในไทยต้องเร่งปรับตัวตาม ไม่อย่างนั้นก็จะไม่สามารถชิงส่วนแบ่งการตลาดมาได้ ซึ่งสิ่งสำคัญสิ่งแรก คือ พนักงานต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มจากรถยนต์แบบสันดาป ซึ่งก็จะมีค่าใช้จ่ายในแง่ของการฝึกอบรม หรือการจัดคอร์สเพื่อพัฒนาทักษะให้กับช่าง ซึ่งจะกลายเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในงบการเงิน
แต่ศูนย์บริการที่มีสัญลักษณ์ EV Ready สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ก็ถือว่ามีการการันตีว่ามีช่างที่ผ่านการอบรมเฉพาะด้าน มีความพร้อมในการให้บริการรถยนต์ไฟฟ้าอย่างมืออาชีพทำให้เกิดความไว้วางใจมากกว่า ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา หลายแบรนด์ได้ออกสัญลักษณ์ EV READY อย่าง ค็อกพิท เปิดตัวช่วงปี 2567 ส่วน ‘ไทร์พลัส’ เปิดตัวสัญลักษณ์เมื่อเดือนเมษายน 2568
ที่มา : Corpus X , เว็บไซต์บริษัท