Fast Fashion

Fast Fashion ส่อแววร่วง มิลเลนเนียลหันมาอุดหนุนของมือสอง

เมื่อไม่นานมานี้ วงการแฟชั่นกำลังส่อแววเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ จากสาเหตุการเติบโตของชาวมิลเลนเนียล (Millennial) ที่เริ่มเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในเรื่องของการอุปโภคบริโภคมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยคราวนี้ธุรกิจที่อาจเจอมรสุมนั่นคือ ธุรกิจ Fast Fashion


วงการ Fast Fashion เติบโตก้าวกระโดดด้วยแนวคิดที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอย่างรวดเร็วฉับไว นำมาซึ่งมูลค่าตลาดที่ขยายขึ้นเป็น 35,000 ล้านดอลลาร์ ในปีที่ผ่านมา และเชื่อว่ามูลค่าจะเพิ่มขึ้นไปถึง 44,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2571 แต่ใครจะรู้ว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ธุรกิจนี้อาจถูก Disrup ครั้งใหญ่จากชาวมิลเลนเนียล (Millennial) เจเนอเรชั่นที่เกิดในปี 1980-2003 ช่วงอายุทั้งแต่ 18-37 ปี เป็นช่วงอายุที่มีจำนวนประชากรทั่วโลกมากกว่า 7 พันล้านคน ที่เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในทุกธุรกิจมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยว่ากันว่า เทรนด์นี้อาจเป็นมรสุมที่โค่นให้ Fast Fashion ดับวูบในเวลาเพียงหนึ่งทศวรรษ

 

Fast Fashion

Fast Fashion

การปรับเร่งกระบวนการผลิต ให้สินค้าเสื้อผ้าเครื่องประดับที่ลูกค้าเห็นบนแคทวอล์กไปถึงมือของลูกค้าได้เร็วที่สุด คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ  

ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์ Zara และ H&M ซึ่งเป็นแบรนด์ Fast Fashion ระดับแถวหน้าประกาศว่า เสื้อผ้าที่เห็นบนแคทวอล์กจะสามารถเปิดขายทั้งหน้าร้านและออนไลน์ได้ในเวลาเพียง 15 วัน หรือสั้นกว่านั้น

แต่ในขณะเดียวกันธุรกิจนี้ก็ถือเป็นหนึ่งในต้นเหตุของการทำลายสิ่งแวดล้อมเช่นกัน โดยมีรายงานว่า อุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าเป็น 1 ใน 6 ของอุตสาหกรรมที่สร้างมลพิษต่อโลกมากที่สุด

เว็บไซต์ sustaining community รายงานเมื่อต้นปีที่ผ่านมาว่า ธุรกิจ Fast Fashion ทำให้เกิดขยะจำนวนมาก เนื่องจากผู้ประกอบการใช้ระบบการตลาดและโฆษณาเร่งให้มีการบริโภคเครื่องนุ่งห่มเกินจำเป็น ซึ่งทำให้เกิดมลพิษจากกระบวนการผลิตและขยะจำนวนมาก

 

จากการศึกษาของบริษัท McKinsey พบว่า ระหว่างปี 2000-2014 ผู้บริโภคแต่ละคนซื้อเครื่องนุ่งห่มเพิ่มขึ้น 60% ขณะที่การศึกษาของ Ellen MacArthur Foundation พบว่า ในช่วง 15 ปีแรกของทศวรรษนี้ จำนวนครั้งของการใส่เสื้อผ้าของลูกค้าแต่ละคนลดลง 60%

 

“อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มส่วนใหญ่ใช้เส้นใยสังเคราะห์โพลีเอสเตอร์ และมีการใช้น้ำมันเกือบ 70 ล้านบาร์เรลต่อปีเพื่อผลิตโพลีเอสเตอร์ ทำให้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน นอกจากนี้ เมื่อมีการซักล้างเสื้อผ้าที่ผลิตจากโพลีเอสเตอร์ ก็จะทำให้ไมโครไฟเบอร์หลุดเข้าสู่ระบบน้ำเสีย ไหลลงสู่แม่น้ำลำคลอง และสุดท้ายลงสู่ทะเล จนกลายเป็นขยะเม็ดพลาสติกจิ๋วที่เป็นอาหารของสิ่งมีชีวิตในทะเล และกลับมาเป็นปัญหาสุขภาพให้กับมนุษย์” เนื้อหาใน sustaining community ระบุไว้

 

ยังมีรายงานจากกลุ่มเอ็นจีโอต่าง ๆ โจมตีว่า Fast Fashion เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาทางด้านสังคมระดับโลก เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ทำกำไรมหาศาลจากแรงงานประเทศยากจนที่ได้รับค่าแรงถูก ๆ ในการตัดเย็บเสื้อผ้า และมีชีวิตที่ยากลำบาก โดยกรณีที่ยกตัวอย่างบ่อยครั้งคือ การถล่มของโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในบังคลาเทศ เมื่อปี 2013 ที่มีคนงานตัดเย็บเสื้อผ้าเสียชีวิตไป 1,134 คน

 

กระแสวิพากษ์วิจารณ์ Fast Fashion ทำให้คนรุ่นใหม่ซึ่งมีแนวโน้มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่อต้านสินค้าที่สร้างมลพิษ การเอารัดเอาเปรียบแรงงาน และการทำให้โลกร้อน โดยชาวมิลเลนเนียลต่างมองหาโซลูชันใหม่ในแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน จนทำให้ธุรกิจขายเสื้อผ้ามือสอง และธุรกิจให้เช่าเติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของ Fast Fashion

 

เว็บไซต์ Green Story ที่สนับสนุนการตลาดสินค้ารักษ์โลก ชี้แจงเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า แนวโน้มการเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจหมุนเวียนจะมีส่วนในการแก้ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกรผลิตสิ่งทอเป็นอย่างมาก อีกทั้งการนำของที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ สามารถช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่จะเกิดขึ้นจากการผลิตสิ่งทอต่าง ๆ ได้ถึง 82%

 

จากจุดนี้ ทำให้ตลาดเสื้อผ้ารีเซลล์ในสหรัฐอเมริกาขยายตัวอย่างก้าวกระโดดถึง 21 เท่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อ้างอิงจากบทวิเคราะห์ของ GlobalData ที่ใช้ข้อมูลรายงานการค้ารีเซลล์ของ thredUp ผู้ค้าและแลกเปลี่ยนสินค้าเสื้อผ้ามีแบรนด์มือสองออนไลน์ใหญ่ที่สุดในโลก

 

(ที่มา : https://fortune.com)

ตลาดเสื้อผ้ามือสองในปีที่แล้ว มีมูลค่า 24,000 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะขยายขึ้นกว่าเท่าตัวใน 6 ปีข้างหน้าไปที่ 51,000 ล้านดอลลาร์ และจะใหญ่กว่ามูลค่าตลาด Fast Fashion ในเวลาเพียง 10 ปี โดยมีแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ให้บริการซื้อขายแลกเปลี่ยนเสื้อผ้ามือสองอีกหลายรายที่จองคิวขายในตลาดนี้ ซึ่งกลุ่มคนที่ให้ความสนใจกับตลาดเสื้อผ้ามือสองก็คือชาวมิลเลนเนียล ที่ในอนาคตอันใกล้นี้จะเข้ามาเป็นกำลังซื้อหลักของธุรกิจต่าง ๆ โดยแนวโน้มในการอุปโภคบริโภคของกลุ่มนี้ จะเน้นไปที่สินค้าและการบริการที่สร้างภาระให้กับโลกน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

 

สามารถติดตามบทความและข่าวสารอื่น ๆ ที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ Business+ 

Millennial