ส่งออกไทยหดตัว 5 เดือนติด!! จับตา 2 ความเสี่ยงกดดันตลาดครึ่งปีหลัง

ภาวะการส่งออกสินค้าไทยเดือน ก.พ.66 มีมูลค่า 22,376.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 4.7% ซึ่งถือเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 โดยพบข้อมูลว่าสินค้าอุตสาหกรรมยังเป็นตัวกดดันมูลค่าการส่งออก (หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5)

แต่หากดูเฉพาะข้อมูลการส่งออกสินค้าในกลุ่มเกษตร และกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร จะเห็นว่ากลุ่มอุตสาหกรรมนี้กลับมาฟื้นตัว โดยสินค้าเกษตรกลับมาขยายตัวได้ในรอบ 5 เดือน ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน

จะเห็นได้ว่าภาพรวมตลาดส่งออกของไทยในเดือน ก.พ.66 มีความแตกต่างกันมาก โดยการส่งออกไปตลาดตะวันตก แย่ลงตามภาวะเศรษฐกิจและความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น แต่การส่งออกไปตลาดจีน และตลาดศักยภาพใหม่ของไทยปรับตัวดีขึ้น

ทีนี้มาดูในมุมมองของ SCB EIC กันบ้าง โดยทางนักวิเคราะห์มองว่า ภาคการส่งออกไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ มีแนวโน้มได้รับอานิสงส์มากขึ้น จากการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนของจีนหลังยกเลิกมาตรการ Zero-COVID ซึ่งน่าจะเริ่มส่งผ่านมายังอุปสงค์การนำเข้าสินค้ามากขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยเครื่องชี้วัดการค้าระหว่างประเทศของจีนที่อยู่ในทิศทางฟื้นตัว แม้ชะลอลงบ้างในช่วงต้นปีผลจากเทศกาลตรุษจีน

รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และเติบโตได้ดีกว่าที่เคยประเมินไว้ช่วงปลายปีก่อน ดังนั้น SCB EIC จึงคงประมาณการการเติบโตของมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในปี 66 ไว้ที่ 1.2%

อย่างไรก็ตามทาง SCB EIC มองว่าการส่งออกสินค้าของไทย มีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องจับตาเพิ่มเติม ได้แก่

  1. ปัญหาการขาดสภาพคล่องของสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และยุโรปที่หากลุกลาม อาจทำให้เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยสูงขึ้น
  2. ความมั่งคั่งของผู้บริโภค (Wealth Effect) มีแนวโน้มลดลงจากความผันผวนในตลาดการเงินที่มีอยู่สูง ซึ่งปัจจัยดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลให้อุปสงค์การนำเข้าสินค้าปรับลดลงตาม

ที่มา :IQ , SCB EIC

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
#Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus #ส่งออก #มูลค่าการค้า #นำเข้าไทย