ส่งออก

ส่งออกไทยไปต่อได้แค่ไหน? เช็ค 2 ปัจจัยหลักที่จะส่งผลกระทบในปี 2024

ในปี 2023 ภาคการส่งออกของไทยยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้ความต้องการสินค้าในหลายอุตสาหกรรมลดลง นอกจากนี้การขึ้นอัตราดอกเบี้ยในหลายๆประเทศยังส่งผลกระทบต่อต้นทุนภาคธุรกิจการส่งออก จึงทำให้ภาพรวม 11 เดือนแรกของปี 2566 มีมูลค่า 9,013,184 ล้านบาท หดตัว 1.8% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 9,341,112 ล้านบาท หดตัว 4.3% นั่นทำให้ไทยขาดดุลการค้า 327,928 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ‘Business+’ มองว่า การส่งออกในปี 2024 จะมีการฟื้นตัวที่ดีขึ้น ทั้งจากสินค้าส่งออกของไทยที่มีศักยภาพและได้รับการส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ของโลกยังคงได้รับการสนับสนุนด้วยข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) จึงทำให้มีความได้เปรียบในเชิงแข่งขันสูง นอกจากนี้ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่องก็ยังคงหนุนให้มูลค่าการส่งออกของไทยปรับตัวดีขึ้น แต่จะเป็นการฟื้นตัวที่ไม่โดดเด่นมากนัก เพราะยังมีอีก 2 ปัจจัยหลักที่จะกระทบต่อภาคส่งออก นั่นคือ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักอย่างจีน และสหรัฐฯที่ยังไม่ดีเท่าที่คาดการณ์ รวมไปถึงปัญหาภัยแล้งที่จะกระทบต่อคุณภาพ และปริมาณของสินค้าเกษตรของไทยที่จะส่งออกได้น้อยลง

ซึ่ง ‘กระทรวงพาณิชย์’ ประเมินว่า มูลค่าการส่งออกทั้งปี 2566 จะกลับมาอยู่ในระดับที่ดีกว่าช่วงภาวะปกติก่อนเกิด COVID-19 ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวในปีนี้ และประเมินการส่งออกปี 2567 ว่าจะปรับตัวดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หลังจากที่เงินเฟ้อชะลอลงกลับสู่เป้าหมาย ทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มจะยุติลง ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว ทำให้ความเชื่อมั่นในการบริโภคและการลงทุนที่กลับมา โดยกระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการทำงานเพื่อผลักดันการเติบโตของมูลค่าการส่งออกในปี 2567 ไว้ที่ 1.99% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 10 ล้านล้านบาท

สอดคล้องกับ ‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ ที่มองว่าแนวโน้มการส่งออกปี 2567 วจะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยอาจขยายตัวได้ราว 2% แต่ก็ยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงเชิงลบ จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวได้อย่างเปราะบาง ท่ามกลางปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังกดดันอุปสงค์ในประเทศอยู่ ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และยูโรโซน มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบมากขึ้นจากสภาวะการเงินที่ตึงตัว แม้มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะชะลอตัวแทนการถดถอยทางเศรษฐกิจ (soft landing) ขณะที่เศรษฐกิจยูโรโซนก็อาจทยอยฟื้นตัว โดยกลับมาขยายตัวได้จากผลของปัจจัยฐานที่ต่ำในปีนี้ และแรงกดดันเงินเฟ้อเริ่มคลี่คลาย

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยท้าทายอื่น ๆ ที่อาจเข้ามากดดันการส่งออกไทยในปีหน้า อย่างเช่น ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ความผันผวนของค่าเงินจากการปรับทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลัก รวมถึงภัยแล้ง

ทั้งนี้หากเจาะเข้าไปถึงการส่งออกของไทยในปี 2024 มองว่าจะได้รับแรงหนุนให้กลับมาขยายตัวได้ สอดคล้องกับทิศทางการค้าโลกตามวัฏจักรของอุปสงค์ของสินค้าต่าง ๆ และฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า โดยการส่งออกไทยในปี 2567 คาดว่าจะได้รับปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ได้แก่

  1. สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ฟื้นตัวตามรอบวัฏจักร หลังการส่งออกชะลอลงจากช่วง COVID-19 ที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้นตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง ประกอบกับสินค้าที่มีความสอดคล้องกับกระแสยับยั้งโลกรวน มีความโดดเด่นมากขึ้น เช่น โซลาเซลล์ รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
  2. สินค้าเกษตรยังมีความต้องการอยู่ อาทิ การส่งออกผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียนไปยังจีน อีกทั้งราคาสินค้าเกษตรหลายรายการ เช่น ข้าว น้ำตาล เป็นต้น อาจยังมีแนวโน้มยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ขณะที่ยังมีความเสี่ยงด้านอุปทานจากสภาพอากาศที่อาจแปรปรวน
  3. สถานการณ์ด้านสินค้าคงคลังปรับตัวดีขึ้น หลังในช่วงปี 2566 มีการเร่งระบายสินค้าคงคลัง เนื่องจากอุปสงค์สินค้าที่ชะลอตัวจึงส่งผลกระทบต่อยอดคำสั่งซื้อ และการผลิตภาคอุตสาหกรรม

สุดท้ายนี้ ‘Business+’ มองว่า แม้การส่งออกไทยจะยังมีปัจจัยหนุนอยู่หลายด้าน แต่ถ้าหากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญอย่าง จีน หรือ สหรัฐฯ ยังคงชะลอตัว ก็อาจจะทำให้การส่งออกฟื้นตัวได้ไม่ถึงเป้าหมายที่นักวิเคราะห์คาดการณ์เอาไว้ ซึ่งหากประเมินจากสถานการณ์เศรษฐกิจ และการค้าโลกแล้ว ก็ยังถือว่ามีความกดดันสูง โดยองค์การการค้าโลก (WTO) มองว่าการค้าโลกจะขยายตัวแต่ยังอยู่ในกรอบที่จำกัดราว 3.3% ในปี 2567 ขณะที่ภาพรวมทั้งปี 2566 จะหดตัวที่ 0.8%

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : dtn , ศูนย์วิจัยกสิกรไทย , กระทรวงพาณิชย์

ติดตาม Business+ ได้ในช่องทางอื่นๆ ที่ Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#TheBusinessPlus #Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus #Business #ส่งออก #นำเข้า #มูลค่าการค้า #การส่งออก #คู่ค้า #ส่งออกไทย