ค่าเงินบาทผันผวนแค่ไหนในช่วงเวลา 1 เดือน พร้อมเปิดปัจจัยที่จะทำให้เงินบาทแข็งเร็วกว่าที่คาด!!

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาเกิดการเปลี่ยนแปลงในตลาดค่าเงินบาทอย่างรวดเร็ว เรียกได้ว่าการเคลื่อนไหวผันผวนเป็นอย่างมากเลยทีเดียว

หากมองการเคลื่อนไหวตั้งแต่เดือนต.ค.ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทอ่อนค่าไปแตะระดับสูงสุดที่ 38.47 บาท/ดอลลาร์ และกลับมาแข็งค่าที่สุดในช่วงเดือนพ.ย.ที่ 35.39 บาท/ดอลลาร์ คิดเป็นการผันผวน 8% ภายใน 1 เดือน ซึ่งการอ่อนค่าขึ้นไปแตะ 38 ถือเป็นการอ่อนค่าสูงสุดในรอบ 16 ปี

ซึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงก่อนหน้านี้ เป็นเพราะค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินในโลก (จากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ) และการขึ้นดอกเบี้ยที่รวดเร็วของสหรัฐฯ ได้ทำให้ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯ กว้างขึ้น ดังนั้น นักลงทุนจึงถอนเม็ดเงินออกไปลงทุนยังสหรัฐฯ หรือประเทศที่ให้อัตราผลตอบแทนจากดอกเบี้ยที่สูงกว่า และการถอนเงินออกไปลงทุนประเทศอื่นนี่แหละที่ทำให้ต่างชาติต้องแลกเงินบาทกลับเป็นเงินสกุลอื่น เมื่อความต้องการเงินบาทน้อยลง ค่าเงินก็อ่อนค่านั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นเดือนพ.ย.เป็นต้นมา ค่าเงินบาทเริ่มแข็งค่า หลังจากประเทศไทยได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามสหรัฐฯ ขณะที่ล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ออกมาสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ชะลอลง ซึ่งแผนการชะลอขึ้นดอกเบี้ยนั้นจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลง

ซึ่งมีผลต่อเนื่องมายัง การปรับตัวลงแรงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แต่ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) พุ่งขึ้นต่อเนื่อง (นั่นเป็นเพราะราคาทองคำจะเคลื่อนไหวสวนทางกับอัตราดอกเบี้ย) และเมื่อราคาทองพุ่งขึ้น ก็ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น เพราะว่าเงินบาทนั้น เคลื่อนไหวสอดคล้องกับราคาทองคำสูงถึง 85%

นอกจากนี้ เมื่อส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐฯ แคบลง เม็ดเงินลงทุนจึงเริ่มไหลกลับเข้าประเทศ ทำให้ต่างชาติซื้อเงินบาทไทยมากขึ้น ค่าเงินจึงแข็งขึ้นนั่นเอง

มาถึงตรงนี้ หลายคนคงสงสัยว่า แล้วค่าเงินบาทจะผันผวนไปอีกนานไหม? หรือจะแข็งค่าไปถึงเท่าไหร่? โดยที่นักวิเคราะห์ได้ทำการประเมินว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว

โดยนักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย มองว่า แนวโน้มค่าเงินบาทมีโอกาสจะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องมากกว่าที่ประเมินไว้ แต่บรรยากาศในตลาดการเงินที่เริ่มระมัดระวังตัวมากขึ้น อาจกดดันให้ นักลงทุนต่างชาติทยอยขายทำกำไรหุ้นและบอนด์ไทยได้บ้าง

นอกจากนี้ ควรระมัดระวังความผันผวนที่อาจเกิดขึ้น หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้มาก ซึ่งอาจกดดันให้ ค่าเงินหยวน (CNY) ของจีนพลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้บ้าง หลังจากที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วจากความหวังการผ่อนคลายมาตรการ Zero COVID ของทางการจีน โดยในกรณีที่เงินหยวนพลิกอ่อนค่าลงก็มีโอกาสที่จะกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้บ้าง (เงินบาทเคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินหยวนจีนในช่วงนี้ราว 71%)

จะเห็นได้ว่า แม้แต่นักวิเคราะห์เองยังมองว่าค่าเงินบาทไทยจะยังคงผันผวนไปอีกระยะ ซึ่งล้วนแต่เป็นกลไกทางตลาดการเงิน และนโยบายของประเทศใหญ่อย่างสหรัฐฯ ดังนั้นผู้ประกอบการควรป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินด้วยการวางแผนรับมือกับปัญหา ด้วยเครื่องมือทางการเงินต่าง ๆ เช่น การซื้อหรือขายเงินสกุลต่างประเทศล่วงหน้า (Forward Contract) การซื้อสิทธิ์ที่จะซื้อหรือขายเงินสกุลต่างประเทศล่วงหน้า (Option Contract) หรือ การแบ่งสัดส่วนการฝากเงินตราเป็นสกุลต่างประเทศเอาไว้ในประเทศไทย

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : บล.กรุงศรี ,th.investing.com

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ค่าเงินบาท #เงินบาทอ่อน #อัตราแลกเปลี่ยน #เงินบาทแข็งค่า #บาทแข็ง